วันนี้ (1 ส.ค.60) มวลชนจำนวนมากเดินทางมาให้กำลังใจน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี บริเวณศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองวันนี้ หากสังเกตด้วยสายตาผู้สื่อข่าวรายงานว่ามีมากกว่าทุกครั้งที่ผ่านมานอกจากมวลชนแล้ว ยังมีกลุ่มนักการเมืองพรรคเพื่อไทย และแกนนำกลุ่มนปช. ที่เดินทางมาให้กำลังใจนางสาวยิ่งลักษณ์ด้วย เช่น นายวัฒนา เมืองสุข นายการุณ โหสกุล นางสาวขัตติยา สวัสดิผล จ.ส.ต.ประสิทธิ์ ไชยศรีษะ นายวีระกานต์ มุสิกพงศ์ นางธิดา ถาวรเศรษฐ นายณัฐวุฒิ ใสเกื้อ และ นางมณฑาทิพย์ โกวิทเจริญกุล พี่สาวของนางสาวยิ่งลักษณ์ วันนี้ก็เดินทางมาให้กำลังใจน้องสาวด้วย และอีกหนึ่งคนสำคัญที่วันนี้เดินทางไปที่ศาลด้วย คือ นางสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ซึ่งครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกที่เดินทางมาให้กำลังใจ น.ส.ยิ่งลักษณ์ระหว่างขั้นตอนของกระบวนการยุติธรรมในคดีนี้
สำหรับการดูแลความเรียบร้อยครั้งนี้ตำรวจยืนยันว่าเข้มงวดตามปกติ โดยใช้กำลังจากกองบังคับการตำรวจนครบาล 2 สถานีตำรวจนครบาลทุ่งสองห้อง ตำรวจชุดควบคุมฝูงชน รวมทั้งหมด 2 กองร้อย และมีตำรวจหญิง หรือ กองร้อยน้ำหวาน อีก 40 นาย คอยดูแลความเรียบร้อยในระยะประชิด
ก่อนเข้าไปแถลงปิดคดีภายในศาล สีหน้า ท่าทางของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ไม่แสดงความกังวลให้ได้เห็น แต่นั่นกลับตรงกันข้ามกับบรรยากาศภายในห้องแถลงปิดคดี เพราะในช่วงท้ายของการอ่านคำแถลง น.ส.ยิ่งลักษณ์มีเสียงสั่นเครือ และ ร้องไห้ต่อหน้า 9 องค์คณะผู้พิพากษา อีกหนึ่งสิ่งที่น่าสนใจในคำแถลงปิดคดี คือ วิวาทะที่น.ส.ยิ่งลักษณ์ใช้มีหลายคำที่พาดพิงถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เช่น การระบุว่าไม่สามารถใช้อำนาจสั่งยับยั้งโครงการได้ตามอำเภอใจ เพราะเป็นงานของฝ่ายปฎิบัติการ เรื่องนี้นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันน่าจะเข้าใจถึงข้อจำกัดนี้ดี แต่ในรัฐบาลปัจจุบันมีการออกมาตรา44เพื่อใช้สั่งการ ซึ่งรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งทำไม่ได้ และการตัดพ้อว่า คงไม่มีใครต้องรับชะตากรรมที่หนักหนาและไม่เป็นธรรมมากเท่านี้อีกแล้ว หรือ การพูดกับองค์คณะผู้พิพากษา ว่า ตนเองเป็นเหยื่อของเกมการเมืองที่ลึกซึ้ง จึงคาดหวังให้ศาลพิจารณาคดีตามข้อเท็จจริงในขณะที่ยังปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรีอยู่ ไม่ใช่การนำสภาวะแวดล้อมของปัจจุบันมาตัดสินการดำเนินกาของดิฉันในอดีต
ขณะที่ที่ชัดเจนที่สุด คือ การวิงวอนขอให้ศาลพิจารณาพิพากษาคดีนี้ตามข้อเท็จจริง ข้อกฎหมายและพยานหลักฐานที่เข้าสู่สำนวนโดยชอบและโดยสุจริต ไม่รับฟังการชี้นำจากฝ่ายใด ๆ แม้แต่หัวหน้า คสช. ผู้กุมชะตาและอำนาจรัฐ
ส่วน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี โต้ตอบเรื่องการถูกพาดพิงว่าชี้นำการตัดสินของศาล โดยยืนยันว่าอำนาจการตัดสินเป็นของศาลโดนสมบูรณ์ไม่สามารถชี้นำได้
สำหรับเนื้อหาคำแถลงปิดคดีด้วยวาจาที่ถูกหยิบยกขึ้นชี้แจงเป็นครั้งสุดท้ายก่อนการพิพากษาคดี มีทั้งหมด 6 ประเด็นสำคัญ ประกอบด้วย การยืนยันว่ากระบวนการพิจารณาคดีไม่เป็นธรรม และไม่ชอบด้วยกฎหมายตั้งแต่ในขั้นตอนแรก นางสาวยิ่งลักษณ์ ระบุว่า ป.ป.ช. ใช้เวลาเพียง 79 วัน ในการพิจารณาและชี้มูลความผิดโดยมีหลักฐานเป็นเอกสาร 329 แผ่น แต่หลังจากอัยการนำเรื่องฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง กลับพบว่าอัยการยื่นขอเพิ่มเอกสารนอกสำนวนอีกกว่า 60,000 แผ่น โดยอ้างว่า การสรุปผลการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิด เพื่อใช้เอกสารเป็นหลักฐานทำล่วงหน้าไว้หลายเดือน โดยที่การสอบข้อเท็จจริงยังไม่เสร็จสิ้น ประเด็นที่ 2 นางสาวยิ่งลักษณ์กล่าวอ้างว่า โครงการรับจำนำข้าวเป็นนโยบายสาธารณะที่เป็นประโยชน์และดำเนินการตามกฎหมาย กระตุ้นเศรษฐกิจทำให้มีเม็ดเงินที่หมุนเวียนอย่างต่อเนื่อง และเพิ่มรายได้ของชาวนากว่า 15 ล้านคน ขึ้นไปเทียบเคียงกับแรงงานขั้นต่ำ 300 บาท ต่อวัน
ส่วนข้อกล่าวหาที่ถูกมองว่าเพิกเฉย ละเลย และไม่ระงับยับยั้งโครงการรับจำนำข้าว น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชี้แจงว่า ไม่เป็นความจริง เพราะ ได้แต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ หรือ กขช. และคณะอนุกรรมการต่าง ๆ ในการร่วมกันพิจารณากำหนดมาตรการ หลักเกณฑ์ วิธีปฏิบัติ รวมถึงได้กำหนดขั้นตอนถ่วงดุลการทำงาน และการไม่ระงับโครงการดังกล่าว เป็นเพราะมั่นใจว่าโครงการนี้จะสร้างประโยชน์ต่อประชาชน ประเด็นนี้นางสาวยิ่งลักษณ์ ระบุว่า รัฐบาลไม่ได้มุ่งแสวงหาผลกำไร แต่ดำเนินโครงการเพื่อประโยชน์ของประชาชนตามที่กำหนดไว้ในแผนการบริหารราชการแผ่นดิน
ส่วนประเด็นที่ 5 การถูกกล่าวหาว่าละเว้นการปฎิบัติหน้าที่โดยมิชอบ หลังจากที่ ป.ป.ช.และสตง.ทำหนังสือท้วงติงมายังรัฐบาลเกี่ยวกับโครงการรับจำนำข้าว ซึ่ง น.ส.ยิ่งลักษณ์ย้ำว่าหลังได้รับหนังสือท้วงติง ได้มีมติแต่งตั้ง ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานคณะกรรมการอำนวยการตรวจสอบเพื่อป้องกันการทุจริต ในการรับจำนำข้าว ซึ่งเป็นหนึ่งในมาตรการตรวจสอบ และสาเหตุที่ไม่สามารถยุติโครงการได้ เพราะ 2 หน่วยงานดังกล่าวไม่มีหน้าที่ตามกฎหมายที่จะสั่งให้ฝ่ายบริหารยุติโครงการที่ได้แถลงนโยบายกับรัฐสภาไว้
ประเด็นสุดท้าย การปล่อยให้เกิดการทุจริตในการระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ หรือ จีทูจี น.ส.ยิ่งลักษณ์ อ้างว่า การระบายข้าวดำเนินการตามยุทธศาสตร์การระบายข้าวในสต็อกของรัฐบาลซึ่งทุกรัฐบาลดำเนินการไม่ต่างกัน และยังถือเป็นงานของระดับปฎิบัติการ ไม่ใช่งานของฝ่ายนโยบาย
การที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์เข้าฟังการไต่สวนของโจทก์และจำเลยในทุกนัดตลอด 1 ปี 6 เดือนที่ผ่านมา เป็นสิ่งที่ยืนยันชัดเจนว่าเธอเชื่อมั่นในความบริสุทธิ์ของตนเอง ขณะที่พล.อ.ประยุทธ์ ก็มั่นใจเช่นเดียวกันว่า การพิจารณาคดีจะไม่เกิดความรุนแรง เพราะเชื่อว่าประชาชนไม่อยากกลับไปอยู่ท่ามกลางความรุนแรงอีก
ลงทะเบียนดูบอลออนไลน์ฟรี PPTV HD 36