รูปพรรณสูงใหญ่ มีอวัยวะ 9 ส่วน คือ ขา 4 ขา งา 2 งา งวง หาง และอวัยวะเพศยาวสัมผัสพื้น เป็นลักษณะของ “ดามพหัตถี” หนึ่งในช้างสิบตระกูลที่จะนำไปประดับในสระอโนดาตด้านทิศเหนือ ฐานของพระเมรุมาศ ในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
วิทยาลัยเพาะช่าง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ ออกแบบช้างทั้งหมด 30 ตัว เป็นช้างสิบตระกูล 20 ตัว อีก 10 ตัว เป็นสัตว์ผสม ได้แก่ กุญชรวารี หรือวารีกุญชร คือช้างผสมปลา กรินทร์ปักษา คือช้างผสมนก และสิงหกุญชร คือช้างผสมสิงห์ ทุกตัวจะถูกนำมาจัดประดับในน้ำและโขดหินรวมกันเป็นโขลงช้างที่อยู่อาศัยแบบครอบครัว มีอิริยาบถที่หลากหลายผสมผสานกันตามหลักษณะภูมิทัศน์ของป่าหิมพานต์
ประสิทธิ์ เอมทิม หัวหน้าสาขาประติมากรรมไทย วิทยาลัยเพาะช่าง มทร.รัตนโกสินทร์ บอกว่า เวลาเราออกแบบเราค่อนข้างจะใช้อากัปกิริยาที่หลากหลาย ก็จะมีการยืน นั่ง นอน ขณะลุก บางกิริยาไม่ได้เห็นอยูบ่อยๆ ว่าช้างจะทำกิริยานี้ เพราะฉะนั้นการศึกษาในอากัปกิริยาที่เราไม่ได้เห็นบ่อยนักก็จะต้องใช้เอกสาร ตำราที่เป็นลักษณะการไปดูงานของจริง หรือไปดูจากตำราที่เราได้เตรียมไว้ ค่อนข้างจะหลากหลายในเรื่องของกายวิภาค
สำหรับการจัดสร้างใช้โฟมที่มีความหนาแน่นสูงขึ้นโครงต้นแบบ นำดินน้ำมันมาปั้นแต่งเก็บรายละเอียด ทำพิมพ์ยางซิลิโคน หล่อเป็นไฟเบอร์กล๊าส ก่อนจะลงสีด้วยสีอะคริลิค ออกมาเป็นช้างที่มีรูปแบบสร้างสรรค์ตามอุดมคติของประติมากร ขณะเดียวกันก็สื่อความหมายถึงในหลวงรัชกาลที่ 9
หัวหน้าสาขาประติมากรรมไทย บอกเพิ่มว่า ช้างที่อาศัยอยู่บริเวณสระอโนดาตเป็นช้างในหมวด “พรหมพงศ์” ซึ่งเราก็เชื่อมโยงกันว่าในหลวงรัชกาลที่ 9 ปกครองประชาชนโดยใช้พรหมวิหาร 4 เข้ามาปกครองประชาชนให้น้อมนำสู่ประชาชน เพราะฉะนั้นตรงนี้เป็นสิ่งสำคัญที่เรานำหลักธรรมข้อนี้เข้ามาเชื่อมโยงต่อพระองค์ท่าน สองก็คือช้างแต่ละตัวเราพยายามปั้นให้รูปแบบลักษณะดูมีกำลังแต่ในลักษณะเดียวกันก็ดูมีความอ่อนโยนในแต่ละตัวด้วยเช่นกัน ทำให้เราสะท้อนภาพพระองค์ท่านที่มีต่อประชาชน
นอกจากช้าง สัตว์ประจำทิศอีก 3 ชนิด คือ ม้า โค และสิงห์ ยังถูกออกแบบให้เป็นสัตว์หิมพานต์ประดับที่ฐานทุกด้านของพระเมรุมาศซึ่งประณีตงดงามไม่แพ้กัน
จิตริน ชาญกว้าง ถ่ายภาพ
กชวรรณ ปักครึก รายงาน