หนุ่มนักดำน้ำอึ้ง! พบฉลามหายาก 2 ชนิดในแพปลาที่ภูเก็ต


โดย PPTV Online

เผยแพร่




หนุ่มนักดำน้ำโพสต์ภาพฉลามหายาก 2 ชนิด ถูกเรือประมงจับขึ้นส่งแพปลาที่ภูเก็ต ตัดพ้อดำน้ำแทบตายไม่เจอมาเจอในแพปลา

วันนี้ (16 ส.ค. 60) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สมาชิกเฟซบุ๊กชื่อ “Saranu Pinjaroen” ซึ่งเป็นนักดำน้ำ โพสต์ภาพฉลามไม่ทราบชนิดจำนวนนับสิบตัวที่กองเรียงรายอยู่บนพื้นในแพปลา ใกล้ๆกับท่าเรือแห่งหนึ่งในจังหวัดภูเก็ต พร้อมระบุข้อความว่า “Very sad. พอได้เห็นก็รู้สึกเศร้า” จากนั้นมีผู้ใช้สื่อออนไลน์เข้ามาสอบถามแสดงความเห็นเป็นจำนวนมาก โดย ส่วนใหญ่แสดงความกังวลว่าฉลามหายากจะหมดไปจากทะเลไทย ขณะที่บางส่วนระบุว่าฉลามเหล่านี้ถูกจับขึ้นมาเพราะเงินค่าตอบแทนที่สูง

สำหรับฉลามที่ปรากฎในภาพดังกล่าว เมื่อสังเกตอย่างละเอียดพบว่า มีลักษณะคล้ายกับฉลามเสือ (Tiger shark) ซึ่งเป็นฉลามที่พบไม่มากในประเทศไทย และอีกชนิดเป็นฉลามหูดำ หรือฉลามครีบดำ (Blacktip Reef Shark) ซึ่งพบได้บ่อยในแนวปะการังของทะเลอ่าวไทยและอันดามันแต่ก็มีจำนวนน้อยลง

ทั้งนี้ ปลาฉลามเสือ มีลักษณรูปร่างอ้วนป้อม ปากกว้าง ปลายปากสั้นและทู่ ลำตัวเรียวไปทางปลายหาง คอดหางมีสันชัดเจน ครีบหางเรียวและมีปลายแหลม มีฟันใหญ่เป็นรูปสามเหลี่ยม มีขอบหยักเป็นจักคล้ายฟันเลื่อย พื้นลำตัวและครีบสีน้ำตาลหม่น มีลายพาดขวางตลอดข้างหลังและหางคล้ายลายของเสือโคร่ง จึงเป็นที่มาของชื่อเรียก ซึ่งลายนี้อาจแตกเป็นจุดกระจายอยู่ทั่วไปหรือจางหมดไปเมื่อโตขึ้น ส่วนท้องมีสีจาง

ปลาฉลามเสือ เมื่อโตเต็มที่จะมีขนาดประมาณ 5 เมตร แต่ตัวที่ใหญ่ที่สุดที่เคยพบคือ 7 เมตร น้ำหนักหนักที่สุดคือ 807.4 กิโลกรัม พบได้ในน่านน้ำเขตอบอุ่นทั่วโลก มีพฤติกรรมชอบหากินตามแนวปะการังหรือบริเวณใกล้ชายฝั่ง หรือบริเวณปากแม่น้ำ โดยอาศัยตั้งแต่ระดับผิวน้ำจนถึงความลึก 140 เมตร ปกติมักอยู่ลำพังเพียงตัวเดียวและหากินในเวลากลางคืน ว่ายน้ำได้คล่องแคล่วว่องไวมาก มีอาณาเขตในการหากินกว้าง 100 ตารางกิโลเมตร โดยที่อาหารได้แก่ ปลาและสัตว์น้ำชนิดต่างๆ เช่น เต่าทะเล รวมทั้งสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมในทะเล เช่น แมวน้ำ หรือ สิงโตทะเลด้วย ปลาฉลามเสือได้ชื่อว่าเป็นปลาที่กินไม่เลือกเหมือนเช่นปลาฉลามขาว เพราะมักเจอสิ่งที่ไม่ใช่อาหารในกระเพาะเสมอๆ เช่น ยางรถยนต์, กระป๋องน้ำ, เศษไม้ หรือ พลาสติก ซึ่งล้วนแต่เป็นขยะที่มนุษย์โยนทิ้งลงทะเลทั้งสิ้น

ทั้งนี้ ปลาฉลามเสือ นับได้ว่าเป็นปลาฉลามอีกชนิดหนึ่งที่มีอันตรายต่อมนุษย์ เพราะมีนิสัยดุร้ายและมีพฤติกรรมการกินที่ไม่เลือก ในพื้นที่ทะเลของไทยนับได้ว่าเป็นปลาฉลามที่อาจทำร้ายมนุษย์หรือนักดำน้ำได้ เช่นเดียวกับปลาฉลามหัวบาตร และ ปลาฉลามครีบดำ โดยสถานที่ๆ มีรายงานปลาฉลามเสือทำร้ายนักดำน้ำหรือนักโต้คลื่นมากที่สุด คือ ฮาวาย

อย่างไรก็ตามสำหรับในปัจจุบันยังไม่มีกฏหมายคุ้มครองฉลามที่ชัดเจน มีเพียงฉลามวาฬชนิดเดียว ที่มีชื่ออยู่ในบัญชีแนบท้ายกฎกระทรวง กำหนดให้เป็นสัตว์ป่าบางชนิดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง พ.ศ.2546 ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 ประกอบด้วยสัตว์ป่าจำพวกสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม 201 ชนิด นก 952 ชนิด สัตว์เลื้อยคลาน 91 ชนิด สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก 12 ชนิด แมลง 20 ชนิด ปลา 14 ชนิด และสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังอื่นๆ 12 ชนิด

TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ