วันนี้ (15 ม.ค.61) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังตำรวจเชิญตัว น.ส.ณิชา เกียรติธนะไพบูลย์ เข้าสอบปากคำเพิ่มเติมที่สน.ห้วยขวางยาวนานถึง 12 ชั่วโมง ก่อนเดินทางกลับออกมาเมื่อเวลา 03.00 น. วันนี้ โดยปฏิเสธที่จะให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน กล่าวเพียงสั้นๆ ว่า เดินทางมาให้ปากคำเพื่อให้เป็นประโยชน์ต่อรูปคดีมากที่สุด โดย พ.ต.อ.กัมพล รัตนประทีป ผู้กำกับการสถานีตำรวจนครบาลห้วยขวาง เปิดเผยว่า คำให้การของน.ส.ณิชา เป็นประโยชน์ต่อรูปคดีอย่างมาก ส่วยรายละเอียดของจุดสำคัญยังไม่ขอเปิดเผย ระบุได้แต่เพียงว่า เกี่ยวข้องกับประเด็นที่สังคมกำลังพูดถึงเวลานี้ คือ ข้อสงสัยเรื่องเงินในบัญชีของน.ส.ณิชา 6 ล้านบาท และข้อมูลที่เคยสนทนากันระหว่าง น.ส.ณิชา กับ น.ส.ปวีณา สิงหวิบูลย์ ผู้ต้องหาที่สารภาพว่า เป็นผู้รับจ้างนำบัตรประชาชนของ น.ส.ณิชา ไปเปิดบัญชี และ พฤติกรรมการทำบัตรประชาชนหายหลายครั้ง ซึ่งหากไม่นับการทำบัตรประชาชนครั้งแรก ตำรวจพบว่า น.ส.ณิชา มีประวัติการทำบัตรประชาชนใหม่ 3 ครั้ง คือ ปี 2557 จำนวน 1 ครั้ง และ ปี2560 จำนวน 2 ครั้ง
โดยการเรียก น.ส.ณิชา เข้าให้ปากคำเพิ่มเติมเกิดขึ้นหลังจากตำรวจได้ตัว น.ส.ปวีณา และได้ซัดทอดไปถึง นายไซมอน อีโก้ ชาวแคเมอรูน และ นางสาวพรหมพร พงษ์เจริญคุณากร ว่าเป็นผู้ว่าจ้าง ด้านตำรวจตรวจสอบภาพวงจรปิด พบว่า นายไซมอน กดเงินจากตู้เอทีเอ็มธนาคารแห่งหนึ่ง และแกะรอยไปจับกุมได้ที่คอนโดมิเนียมย่านพระราม 9 ภายในห้องพบเสื้อผ้าชุดเดียวกันกับภาพวงจรปิด พร้อมบัตรเอทีเอ็ม สมุดบัญชี จึงเก็บไว้เป็นหลักฐาน ก่อนนำตัวไปควบคุมที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง
ทั้งนี้ส่วนพฤติกรรมของนายไซมอน วันนี้ พ.ต.อ. กฤษณะ พัฒนะเจริญ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ระบุว่า ไม่ใช่แก๊งคอลเซ็นเตอร์ แต่มีรูปแบบการหลอกลวงคล้ายกับแก๊งโรมแมนซ์สแกรม หรือ กลุ่มที่นิยมตีสนิทพูดคุยกับเหยื่อให้วางใจแล้วโอนเงินให้ แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่สามารถ สรุปได้ว่า น.ส.ณิชา รู้เห็นกับขบวนการหรือไม่ เพราะตำรวจอยู่ระหว่างขยายผล
นอกจากนี้ผู้สื่อข่าวพีพีทีวี ได้สอบถามเพิ่มเติมกับ พ.ต.ท.วัชรพันธ์ ศิริพากย์ รองผู้กำกับการ2 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ซึ่งทราบข้อมูลว่า แก๊งค์โรแมนซ์สแกม ประเทศไนจีเรียเรียกว่า ไนจีเรียน 419 กระทำความผิดเกี่ยวกับกฏหมายฉ้อโกง กลุ่มนี้ส่วนใหญ่เป็นชาวผิวดำไนจีเรียแฝงตัวเข้ามาในประเทศไทย พฤติกรรมการหลอกจะเริ่มจากปลอมเฟซบุ๊ก ใช้รูปชาวยุโรปผิวขาว อ้างการงานหน้าที่ดี ก่อนจะทักไปจีบผู้หญิงไทย อ้างว่าจะขอใช้ชีวิตด้วยกัน เมื่อเหยื่อหลงเชื่อก็จะใช้วิธีหลอกว่าส่งเงินให้ผ่านทางชิปปิ้ง แต่อ้างว่าติดเรื่องภาษีที่ด่านศุลกากร และขอให้เหยื่อโอนเงินค่าภาษีให้ และเมื่อได้รับเงินก็จะปิดเฟซบุ๊กหนี ซึ่งเหยื่อส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง อายุราว 45 ถึงวัยเกษียน และสถานะภาพโสด โดยวิธีสังเกตุแก๊งค์เหล่านี้ คือ ถ้าใครกำลังคุยเฟซบุ๊ก หรือเว็บไซต์หาคู่คุยกับชาวต่างชาติอ้างเป็นชาวยุโรป ฐานะร่ำรวย ถ้าให้โอนเงินให้ ด้วยเหตุอะไรก็แล้วแต่ ขอให้รู้ตัวว่ากำลังโดนหลอก
ขณะที่ความคืบหน้าในการตรวจสอบธนาคาร 7 แห่ง ของสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน หรือ ปปง. ล่าสุดได้ตรวจสอบเสร็จแล้ว โดยธนาคารขอรวบรวมเอกสารเพื่อชี้แจงในรายละเอียดของประเด็นที่ว่า ธนาคารตรวจสอบตัวตนก่อนเปิดบัญชี และตรวจสอบความเคลื่อนไหวผิดปกติในบัญชีของลูกค้าหรือไม่