คนกรุงเทพฯ พากันใส่หน้ากากอนามัยป้องกันฝุ่นละออง


โดย PPTV Online

เผยแพร่




หลังจากโลกออนไลน์แชร์ข่าว ที่รายงานว่ากรุงเทพมหานครมีฝุ่นละอองคล้ายกับหมอกอยู่เป็นจำนวนมากทั่วทุกพื้นที่ ด้านกรมควบคุมมลพิษ เผย กทม.เกิดสภาพอากาศนิ่ง และชั้นอากาศผกผันใกล้พื้นดิน ทำให้มลพิษทางอากาศเกิดการสะสมตัวในปริมาณมาก ผลการตรวจวัดฝุ่นละออง PM 2.5 ใน กทม.เกินค่ามาตรฐานในทุกพื้นที่ ล่าสุดวันนี้ประชาชนจำนวนมากเริ่มนำหน้ากากอนามัยออกมาสวมใส่ เพื่อป้องกันฝุ่นละออง

วันนี้ (25 ม.ค.61) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้สภาพอากาศสดใสกว่าเมื่อวาน (24 ม.ค.61) ซึ่งคาดว่าเกิดจากเมื่อคืนที่ผ่านมามีฝนตกหลายพื้นที่ในกรุงเทพมหานคร โดยผู้สื่อข่าวได้ลงพื้นที่สำรวจบริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ พบว่า มีประชาชนจำนวนมากเริ่มนำหน้ากากอนามัยออกมาสวมใส่ เพื่อป้องกันฝุ่นละออง หลังจากที่เมื่อวานนี้โลกออนไลน์มีการแชร์ข่าวรายงานว่า ทั่วกรุงเทพมหานคร มีหมอกที่เกิดจากฝุ่นละอองขนาดเล็กลอยกระจายอยู่ทั่วพื้นที่

โดยหญิงสาวรายหนึ่ง เปิดเผยว่า สาเหตุที่สวมใส่หน้ากากอนามัย เพื่อป้องกันฝุ่งละออง เนื่องจากกลัวสภาพอากาศไม่ดีเหมือนเมื่อวานนี้ จึงต้องป้องกันไว้ก่อน แต่วันนี้มีสภาพดีขึ้น ไม่เหมือนเมื่อวานที่หายใจแล้วรู้สึกว่ามีฝุ่นละอองเข้าไปในโพรงจมูก ส่วนหญิงสาวอีกราย ระบุว่า ตนใส่หน้ากากอนามัยเป็นประจำทุกวัน แต่หลายวันที่ผ่านมารู้สึกมีอาการไอ และเจ็บคอ แบบไม่ทราบสาเหตุ และมีความกังวล เพราะไม่ทราบสาเหตุที่แท้จริง

ทั้งนี้ประชาชนส่วนใหญ่ เริ่มสวมใส่หน้ากากอนามัยมาตั้งแต่ช่วงเช้าที่ผ่านมา เพื่อป้องกันฝุ่นละอองเข้าสู่ร่างกาย โดยหน้ากากอนามัยป้องกันฝุ่นละอองนั้น มีขายตามร้านขายยาทั่วไป

ขณะที่ นางสุณี ปิยะพันธุ์พงศ์ อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ ระบุว่า สถานการณ์มลพิษทางอากาศ กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ใ วันที่ (24 ม.ค.61)ผลการตรวจวัดฝุ่นละออง PM 2.5 เกินค่ามาตรฐานในทุกพื้นที่ (ค่ามาตรฐาน 50 มคก/ลบม.) ในเขตกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล ณ เวลา 12.00 ณ อยู่ในช่วง 54 – 85 มคก./ลบ.ม. สูงสุดที่ริมถนนอินทรพิทักษ์ เขตธนบุรี สมุทรปราการ 59 – 71 มคก./ลบ.ม. และสมุทรสาคร 114 มคก./ลบ.ม. สำหรับผลการตรวจวัดฝุ่นละออง PM10 ยังไม่เกินค่ามาตรฐาน (ค่ามาตรฐาน 120 มคก/ ลบม.) ซึ่งมีแหล่งกำเนิดมลพิษทางอากาศหลักของกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ได้แก่ การจราจร รองลงมาคืออุตสาหกรรม และการเผาในที่โล่ง ประกอบกับเกิดสภาพอากาศนิ่ง ลมสงบ และชั้นอากาศผกผันใกล้พื้นดิน ทำให้มลพิษทางอากาศเกิดการสะสมตัวในปริมาณมาก ปรากฏการณ์นี้จะพบเป็นบางวันในช่วงฤดูหนาว ถึงต้นฤดูร้อน ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ระดับ PM 2.5 สูงขึ้นผิดปกติในช่วงนี้

นอกจากนี้ อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ  ชี้แจงว่า จากข่าวที่แชร์ในเว็บเพจต่างๆ ซึ่งเป็นรูปจากเว็บไซต์ //aqicn.org/ ให้ข้อมูลคลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริง เว็บไซต์ดังกล่าวใช้ค่าเฉลี่ย 1 ชั่วโมง เทียบกับดัชนีคุณภาพอากาศของ U.S. EPA ซึ่งต้องใช้ค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมงในการเทียบ จึงทำให้การรายงานดัชนีคุณภาพอากาศของเว็บไซต์ดังกล่าวอยู่ในช่วงสีแดง (มีผลกระทบต่อสุขภาพ) พร้อมระบุข้อเท็จจริงว่า หากใช้ค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมง จะอยู่ในเกณฑ์สีส้ม (เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ)

อย่างไรก็ตามผู้ที่มีโรคประจำตัว ระบบทางหายใจหรือโรคหัวใจและหลอดเลือด ควรหลีกเลี่ยงกิจกรรมภายนอกอาคาร และขอความร่วมมือเจ้าของยานพาหนะดูแล รักษาเครื่องยนต์ให้อยู่ในสภาพดีและไม่ปล่อยควันดำ และถ้าเป็นได้ลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล หันไปใช้ระบบขนส่งมวลชนก็จะช่วยสถานการณ์และลดระดับความรุนแรงของสถานการณ์ได้

 

 

TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ