สถิติคนไทยว่างงาน มี.ค.’61 แตะ 4.4 แสนคน ส่วนใหญ่ “ลาออก”


โดย PPTV Online

เผยแพร่




แม้วันที่ 1 พ.ค.ของทุกปีจะเป็น “วันแรงงานแห่งชาติ” และเป็นวันหยุดงานของใครหลายๆ คน ทว่าในวันนี้ก็ยังมีประชาชนอีกจำนวนไม่น้อยที่อยู่ในภาวะ “ว่างงาน”

จากข้อมูลการสำรวจภาวะการทำงานของประชากร เดือนมีนาคม 2561 ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พบว่า เดือนมีนาคม พ.ศ. 2561 มีจำนวนผู้ที่อยู่ในกำลังแรงงานทั้งสิ้น 38.11 ล้านคน ซึ่งประกอบด้วย ผู้มีงานทำ 37.34 ล้านคน ผู้ว่างงาน 4.4 แสนคน และผู้รอฤดูกาล 3.29 แสนคน

ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบสถานการณ์แรงงานกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2560 พบว่า จำนวนผู้มีงานทำลดลง 1.2 แสนคน (จาก 37.46 ล้านคน เป็น 37.34 ล้านคน) ผู้ว่างงานลดลง 5.6 หมื่นคน (จาก 4.96 แสนคน เป็น 4.4 แสนคน)

ในจำนวนผู้ว่างงาน 4.4 แสนคน พบว่า เพศชายมีอัตราว่างงานร้อยละ 1.4 และเพศหญิงมีอัตราว่างงานร้อยละ 0.9 และพบว่า ในจำนวนนี้เป็นผู้ว่างงานที่ไม่เคยทำงานมาก่อน 2.13 แสนคน และเป็นผู้ว่างงานที่เคยทำงาน 2.27 แสนคน ซึ่งส่วนใหญ่มาจากภาคบริการและการค้า 1.28 แสนคน ภาคการผลิต 8.37 หมื่นคน และภาคเกษตรกรรม 1.53 หมื่นคน

ส่วนเหตุผลของการออกจากงาน หรือหยุดทำงานครั้งสุดท้าย พบว่า เหตุผลส่วนใหญ่ คือ ลาออก 1.29 แสนคน , หมดสัญญาจ้าง 2.29 หมื่นคน , นายจ้างเลิก/หยุด/ปิดกิจการ 1.93 หมื่นคน และเลิก/หยุด/ปิดการ 1.88 หมื่นคน

หากพิจารณาเป็นรายภาค พบว่า ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีผู้ว่างงาน 1.32 แสนคน , ภาคกลาง 1.02 แสนคน, ภาคใต้ 9.16 หมื่นคน , ภาคเหนือ 5.27 หมื่นคน และกรุงเทพฯ 6.09 หมื่นคน

โดยผู้ที่ว่างงานส่วนใหญ่เรียนจบในระดับอุดมศึกษา 1.57 แสนคน มัธยมศึกษาตอนปลายและมัธยมศึกษาตอนต้น 9 หมื่นคน ประถมศึกษา 8.1 หมื่นคน และไม่มีการศึกษาและต่ำกว่าประถม 1.8 หมื่นคน

สำหรับผู้ที่มีงานทำ 37.34 ล้านคน จำแนกตามการทำงานในอุตสาหกรรม ดังนี้ ภาคเกษตรกรรม 11.84 ล้านคน , การขายส่ง 6.11 ล้านคน , การผลิต 6.41 ล้านคน , ที่พักแรม 2.64 ล้านคน, ก่อสร้าง 2.19 ล้านคน, บริหารราชการ 1.51 ล้านคน, การขนส่ง 1.42 ล้านคน, การศึกษา 1.16 ล้านคน, บริการอื่นๆ 0.61 ล้านคน , กิจกรรมทางการเงิน 0.46 ล้านคน , อสังหาริมทรัพย์ 0.18 ล้านคน และอื่นๆ 1.88 ล้านคน

พบแรงงานไทยเป็นหนี้เพิ่ม “กลุ่ม Gen-Y” ก่อหนี้สูงสุด

เมื่อวันที่ 26 เม.ย.61ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลการสำรวจกลุ่มแรงงานไทยทั่วประเทศ 1,194 คนมีทั้งแรงานที่ไม่มีวุฒิการศึกษาไปจนถึงวุฒิสูงกว่าปริญญาตรี พบว่า กว่าร้อยละ 80 ยังเป็นกลุ่มคนที่มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนต่ำกว่า 15,000 บาท ขณะที่การเก็บเงินออมเฉลี่ยพบว่ากว่าครึ่งไม่มีเงินเก็บ และเก็บได้น้อยลงจากเดิม

ทั้งนี้ แรงงานส่วนใหญ่มีรายได้ไม่เพียงพอกับรายจ่าย ส่งผลให้เกิดหนี้ทั้งในและนอกระบบ มากถึงร้อยละ 96 โดยส่วนใหญ่นำมาใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน ซื้อรถ ,ใช้สำหรับลงทุน ,ซื้อที่อยู่อาศัย ,ใช้คืนเงินกู้ และใช้จ่ายอื่นๆ ตามลำดับ

ส่วนข้อมูลเครดิตแห่งชาติ หรือเครดิตบูโร เปิดเผยข้อมูลการเป็นหนี้ในระบบสินเชื่อและบัตรเครดิต พบว่า กลุ่มเจนวาย (Gen Y) หรือคนที่เกิดช่วงปี 2523 – 2543 อายุระหว่าง 20-38 ปี เป็นกลุ่มที่ก่อหนี้สูงที่สุดเนื่องจากอยู่ในช่วงวัยทำงานและกำลังสร้างตัว และตั้งแต่ปี 2560 พบทำสินเชื่อบุคคลจำนวน 3.2 ล้านบัญชี สินเชื่อบัตรเครดิต 1.7 ล้านบัญชี สินเชื่อรถยนต์ 1.3 ล้านบัญชี สินเชื่อบ้าน 3.5 แสนบัญชี และพบว่ามีหนี้ที่ค้างชำระกว่า 2.9 แสนล้านบาท

ขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบบางส่วนจาก สำนักงานสถิติแห่งชาติ

TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ