ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคประจำเดือนเมษายน 2561 พบว่า ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 อยู่ที่ระดับ 80.9 ซึ่งเป็นระดับที่สูงที่สุดในรอบ 40 เดือน นับตั้งแต่เดือนมกราคม 2558 เนื่องจากมีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำตั้งแต่ต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา ส่งผลให้กำลังซื้อและภาวะเศรษฐกิจเริ่มปรับตัวดีขึ้น ประกอบกับการส่งออกและการท่องเที่ยว ที่ปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ดัชนียังคงอยู่ในระดับต่ำกว่าระดับ 100 เนื่องจากผู้บริโภค ยังมีความกังวลเกี่ยวกับราคาสินค้าเกษตร ที่ยังทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ ทำให้กำลังซื้อในหลายจังหวัดทั่วประเทศยังไม่ฟื้นตัว รวมทั้งยังมีความกังวลต่อผลกระทบจากเงินบาทแข็งค่า
นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ประเมินว่า ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคหลังจากนี้น่าจะค่อยๆ ปรับตัวดีขึ้นเนื่องจากยังไม่มีปัจจัยลบเข้ามาเพิ่มเติม โดยเฉพาะปัจจัยจากภายนอกทั้งจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน รวมถึงปัญหาการเมืองระหว่างประเทศ ส่วนปัจจัยจากราคาสินค้าเกษตรที่ยังตกต่ำ เชื่อว่าจะทยอยปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง รวมทั้งยังมีเม็ดเงินจากการปรับขึ้นค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำ และเงินจากบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่เพิ่มขึ้นเป็น 300-500 บาท ที่เติมลงไปในเศรษฐกิจฐานรากมากขึ้น การเบิกจ่ายงบกลางปี และโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ จะทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวดีขึ้นชัดเจนในช่วงครึ่งปีหลังโดยคาดว่าในปีนี้ เศรษฐกิจไทย จะขยายตัวได้เกิน 4% เป็นครั้งแรกในรอบ 5 ปี โดยประเมินว่าเศรษฐกิจปีนี้ จะขยายตัวอยู่ในกรอบ 4.2-4.6%