ประธานอนุ กก.อนุสัญญาบาเซล ย้ำภาครัฐ ต้องใช้ “ยาแรง” กับกลุ่มทิ้งขยะพิษ
เผยแพร่
ปรับปรุงล่าสุด
กลายเป็นปัญหาใหญ่ระดับชาติไปแล้ว เมื่อตำรวจตรวจสอบพบการลักลอบประกอบการและทิ้งซากขยะอิเล็กทรอนิกส์จำนวนมากในหลายพื้นที่ โดยพบว่า ส่วนใหญ่ถูกนำเข้ามาจากต่างประเทศ ทั้งที่ประเทศไทยเป็นภาคีของอนุสัญญาบาเซล ที่ห้ามการขนย้ายข้ามแดนของเสียอันตราย หากประเทศปลายทางไม่ยินยอม วันนี้ ประธานอนุกรรมการอนุสัญญาบาเซล เปิดเผยกับ PPTV ว่า แท้จริงแล้ว ตัวเลขการนำเข้าของเสียอันตรายของไทย มีน้อยมาก แต่มีความพยายามของผู้ประกอบการเลี่ยงไปขอนำเข้าเครื่องใช้มือสอง แต่มีขยะอิเล็กทรอนิกส์แฝงมาจำนวนมาก จึงขอให้ภาครัฐให้มา

ขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่พบในโรงงานคัดแยกขยะ ประเภท 105 และโรงงานรีไซเคิล ประเภท 106 ที่ อ.แปลงยาว และ อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา ในปริมาณมาก ทำให้พบว่า มีกลุ่มทุนจากต่างชาติ ทั้ง จีน ไต้หวัน และฮ่องกง เข้ามาเปิดกิจการเกี่ยวกับขยะอิเล็กทรอนิกส์ในไทย และไม่ส่ง “กากของเสีย” ไปกำจัดอย่างถูกวิธี เพื่อลดต้นทุน แต่ก็มีคำถามว่า กลุ่มผู้ประกอบการเหล่านี้นำขยะอิเล็กทรอนิกส์เข้ามาได้อย่างไร ในเมื่อไทยเป็นสมาชิกของอนุสัญญาบาเซล ที่ห้ามการขนย้ายของเสียอันตรายข้ามพรมแดน หากประเทศปลายทางไม่ยินยอม
นายประเสริฐ ตปนียางกูร ประธานอนุกรรมการอนุสัญญาบาเซล เปิดเผยว่า อนุสัญญาบาเซล มีเจตนารมณ์เพื่อไม่ให้ประเทศกำลังพัฒนาถูกกลั่นแกล้งจากประเทศพัฒนาแล้ว ด้วยการนำของเสียอันตรายมาทิ้ง จึงสร้างกติกาว่า หากจะเคลื่อนย้ายของเสียอันตรายเข้าประเทศใด ต้องได้รับคำยินยอมจากประเทศปลายทางก่อน โดยประเทศปลายทางก็ต้องดูศักยภาพการกำจัดภายในประเทศด้วย
เมื่อย้อนไปดูตัวเลขอย่างเป็นทางการ การอนุญาตนำเข้าเฉพาะขยะอิเล็กทรอนิกส์ในปี 2557-2559 ที่กรมโรงงานอุตสาหกรรม แจ้งกับ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จะเห็นว่า มีตัวเลขต่ำมาก คือ นำเข้า 907 ตัน ในปี 2557 นำเข้า 1626 ตัน ในปี 2558 และนำเข้า 1003 ตัน ในปี 2559 ส่วนปี 2560 ต้องรอสรุปผลในวันที่ 31 ธันวาคม 2561
นายประเสริฐ เห็นว่า ตัวเลขอย่างเป็นทางการไม่สอดคล้องกับภาพที่ปรากฎ แต่ก็ยังไสรุปไม่ได้เต็มที่ เพาะอาจเพิ่มขึ้นมากในปี 2560 ซึ่งยังไม่มีผลสรุปออกมาก็ได้ แต่ก็ชี้ให้เห็นว่า การอนุญาตนำเข้าที่แจ้งไว้ น้อยกว่าขยะอิเล็กทรอนิกส์ ที่เห็นกันอยู่ตามโรงงานต่างๆ ที่เกิดปัญหา จึงขอให้ภาครัฐ หันไปจับตาดู การขออนุญาตนำเข้ากลุ่ม “เครื่องใช้ไฟฟ้ามือสอง” ที่อ้างว่า เป็นของยังใช้ได้ จึงไม่เข้าข่ายเป็น “ของเสีย” ตามอนุสัญญาบาเซล แต่แฝงนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์เข้ามาด้วย ทั้งในรูปแบบการสำแดงเท็จ และปะปนมา
ส่วนการแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วน นายประเสิรฐ ให้ความเห็นว่า ปัญหาหลักเกิดจากผู้ประกอบการที่พยายามจะลดต้นทุนค่ากำจัด เพราะมีตัวเลขการส่งกากของเสียอันตรายไปกำจัดอย่างถูกวิธี ในโรงงานประเภท 101 น้อยมาก แต่เอากากของเสียมาทิ้งในสิ่งแวดล้อมแทน ทั้งที่ต้นทุนการส่งเข้าโรงาน 101 ในประเทศไทย ถูกกว่าในหลายประเทศ และมีศักยภาพกำจัดได้มาก จึงขอให้รัฐ ใช้มาตรการรุนแรงกับผู้ประกอบการเหล่านี้ ทั้งการ ปิดโรงงาน เพิกถอนใบอนุญาต ดำเนินคดีขั้นเด็ดขาด และหากเป็นผู้ประกอบการต่างชาติก็ต้องประกาศเป็นบุคคลต้องห้ามเข้าประเทศไทย และระหว่างนี้ เสนอให้รัฐบังคับใช้กฎหมาย ตรวจสอบให้ผู้ประกอบการที่มีขยะอิเล็กทรอนิกส์ในครอบครอง ส่งไปกำจัดอย่างถูกต้องทันที
อัปเดตข่าวล่าสุดก่อนใคร Add friend ได้ที่ @PPTVOnline
ติดตามข่าววันนี้ได้ที่นี่ >> www.pptvhd36.com/tags/ข่าววันนี้