เสนอ “เปลี่ยนตัวชี้วัดคุณภาพนักเรียน ไม่ใช้แค่คะแนนสอบ” ข้อเสนอปฏิรูปการศึกษา
เผยแพร่
ปรับปรุงล่าสุด
ซีรีส์การศึกษา “แพ้คัดออก” วันนี้ เป็นเรื่องราวของเด็กคนหนึ่ง ที่เกือบจะคัดตัวของเขาเอง ออกจากระบบการศึกษาไปแล้ว ถึงขั้นพยายามทำให้ตัวเองโดนไล่ออกจากโรงเรียน เพราะไม่เก่งทางวิชาการ เรียนได้เกรดต่ำ จนวันหนึ่งคำพูดของเขาที่สะท้อนว่า ไม่ควรวัดคุณภาพเด็กจากเกรดเท่านั้น ถูกแชร์ออกไปอย่างแพร่หลาย และไปสอดคล้องกับ ข้อเสนอเรื่องการปฏิรูปการศึกษา ของนักวิชาการศึกษากลุ่มหนึ่ง

รชต จันทร์ดี หรือ ปัญ เป็นแค่นักเรียนธรรมดาคนหนึ่งก่อนหน้านี้ แต่คำพูดของเขากลับถูกแชร์ออกไปอย่างแพร่หลาย หลังแสดงความเห็นว่าโรงเรียนให้ค่าเฉพาะกับเด็กที่ผลการเรียนดี และไม่ใส่ใจเด็กที่ได้เกรดต่ำแบบเขา ทั้งที่มีความสามารถด้านอื่นเช่นกัน
ปัญ ยอมรับว่า ชีวิตวัยเรียน 12 ปี ทำให้เขารู้สึกหมดหวัง เพราะหากวัดจากผลการเรียนตามหลักเกณฑ์ทั่วไป เขาได้เกรดต่ำมาตลอด แม้ว่าจะไปเรียนพิเศษเพิ่ม จนถึงขั้นเคยพยายามทำให้ตัวเองโดนไล่ออก
แม้จะเรียนจบชั้นมัธยมศึกษา ก้าวเข้าสู่มหาวิทยาลัยแล้ว แต่ “ปัญ” ยังเดินหน้าเคลื่อนไหว สะท้อนปัญหาที่เกิดขึ้น เพราะในมุมมองของเด็กที่ไม่เก่งทางวิชาการแบบเขา ทำให้เขาเชื่อว่า เด็กควรได้รับโอกาสเลือกแนวทางการเรียนอย่างอิสระ เพราะแต่ละคนมีความสามารถไม่เหมือนกัน เขาจึงไม่เชื่อระบบที่วัดความสำเร็จผ่านตัวชี้วัดเดียวกัน
“ระบบการศึกษาไทย” ถูกปฏิรูปแทบทุกครั้งที่เปลี่ยนแปลงรัฐบาล แต่ก็ยังไม่พบจุดที่ยอมรับร่วมกันได้ว่าดีที่สุด นักวิชาการด้านการศึกษาหลายภาคส่วน พยายามเสนอแนวทางภายใต้แนวคิด “ไม่ใช้คะแนนสอบเป็นตัวชี้วัดเพียงอย่างเดียว” ให้กระทรวงศึกษาธิการผสมผสานการเรียนการสอนใหม่ คือ เน้นภาคปฏิบัติ ฝึกคิด ฝึกทำ ฝึกการอยู่ร่วมในสังคม ควบคู่ไปกับการเรียนวิชาการ
เราไม่ได้เพิ่งทำ เราทำมา 10 ปี ยิ่งทำยิ่งแย่ คุณวัดจากอะไร ถ้าคะแนนสอบไม่ใช่ แต่วัดจากสังคม เด็กคิดเป็นไหม ฉลาดขึ้นไหม กล้าแสดงความเห็นไหม เด็กยอมรับความคิดแตกต่างไหม คุกมีเยาวชนเพิ่มขึ้นน้อยลง เด็กติดยาเสพติดเยอะป่าว นี่คือผลลัพธ์การศึกษาที่เราไม่ได้วัด เราพูดถึงการเติบโต พูดถึงเงิน ว่าเขามีเงินเดือนไหม มันไม่ใช่การศึกษา การศึกษาคือการพัฒนามนุษย์ให้ดีกว่าเดิม
“ถ้าวิธีการเรียนการสอน ยังคงเป็นแบบนั้นอยู่ เรารู้อยู่เต็มอก ว่าเรียนแบบท่องจำมันเข้าสมองจริงๆแค่ 5 เปอร์เซ็น มันน้อยมากกลับตาลปัตรเลยนะ ถ้าเขาลงพื้นที่ปฏิบัติงาน สานเนื้อหาวิชา หรือว่าให้เขาสามารถ เรียนที่จะซึมซับทดลอง ปฏิบัติงานลงทีมกันจริงๆ”
ข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน หรือ สพฐ. พบว่า ปี2560 มีนักเรียนชั้นประถมศึกษา ถึง มัธยมศึกษาตอนปลาย หายออกจากระบบเกือบ 2 ล้านคน แม้จะสรุปไม่ได้ว่าเกิดจากสาเหตุใดมากที่สุด แต่ สพฐ. ยอมรับว่า เด็กที่หายไปมีทั้งแบบสมัครใจ และถูกคัดออกแบบไม่เต็มใจ
ณิชาภัทร อินทรกล่อม รายงาน
อัปเดตข่าวล่าสุดก่อนใคร Add friend ได้ที่ @PPTVOnline
ติดตามข่าววันนี้ได้ที่นี่ >> www.pptvhd36.com/tags/ข่าววันนี้