หลังจากเมื่อวานนี้ (2 ก.ค.61) เวลา 22.30 น. นายณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย แถลงพบนักฟุตบอลและโค้ช ทีมฟุตบอลหมูป่าอะคาเดมี่ รวม 13 ชีวิต ที่ติดอยู่ในถ้ำหลวง-ขุนเขานางนอน จ.เชียงราย โดยจุดที่พบทั้ง 13 คน เรียกว่าเนินนมสาว เลยหาดพัทยาไปราว 300-400 เมตร และทุกคนปลอดภัยทำให้เสียงเฮดังลั่นหลังแถลงข่าวจบ และทุกคนที่รับรู้ข่าว ( ข่าวดี!! ผู้ว่าฯเชียงราย แจ้งเจอ13ชีวิตติดถ้ำหลวงทุกคนปลอดภัย )
สำหรับขั้นตอนหลังเจอ 13 ชีวิต “ทีมหมูป่าอะคาเดมี่” แล้ว มีดังนี้
หลังจากที่หน่วยซีลได้พบทั้ง 13 ชีวิตที่ติดอยู่ในถ้ำหลวง โดยหลังจากนี้ สิ่งที่ต้องเดินหน้าต่อไป คือ การนำตัวทั้ง 13 คนออกจากถ้ำหลวง โดยนาวาเอกอนันต์ สุราวรรณ์ ผู้บังคับกรมรบพิเศษ 1 ที่อยู่ภายในโถง 3 ได้วางแผนการนำทั้ง 13 คนออกจากถ้ำหลวง โดยแบ่งเป็น 3 เฟส
เฟส 1 ส่งนักดำน้ำ 4 นาย พร้อมอุปกรณ์ดำรงชีพ พาวเวอร์เจล เข้าทำการช่วยเหลือ และพักอาศัยเป็นเพื่อน พร้อมกับสำรวจโครงสร้างภายในให้อยู่ได้โดยปลอดภัย
เฟส 2 ส่งนักดำน้ำ พร้อมแพทย์ เข้าทำการช่วยเหลือ และปรับสภาพอากาศเข้าไปภายใน ให้สามารถดำรงชีพได้อย่างสะดวกสบาย
เฟส 3 เตรียมส่งอาหาร เพิ่มเติม ให้อยู่ได้ 4 เดือน เป็นอย่างน้อย ควบคู่กับการสอนดำน้ำให้ ทั้ง 13 คน พร้อมกับยังคงดำรงการระบายน้ำ ตลอดเวลา
ทั้งนี้ การพา 13 ชีวิตออกจากถ้ำจะมีหน่วยซีลประกอบอย่างน้อยเด็ก 1 คนต่อหน่วยซีล 1 คน
ขณะที่โรงพยาบาลแพทย์สนาม ได้เตรียมขั้นตอน ช่วยเหลือทั้ง 13 ชีวิตแล้ว โดยแบ่งออกเป็น 8 ขั้นตอน
1.หน่วยเตรียมขนส่ง จะต้องนำผู้ประสบภัยให้อยู่บนบอร์ดลำเลียง และประเมินการตอบสนองของผู้ป่วยเบื้องต้น ก่อนนำผู้ป่วยลำเลียงออกจากปากถ้ำ ก่อนขึ้นบันไดมาที่รถพยาบาล
2. หากทีมพบเจอผู้ประสบภัยแล้ว จะมีการประเมินอาการว่า อยู่ในระดับไหน ถ้าหากอยู่ในระดับที่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ ก็จะนำออกมาบริเวณหน้าถ้ำ และขึ้นรถพยาบาลทันที แต่หากผู้ประสบภัยอยู่ในอาการวิกฤต ทางทีมแพทย์จะปฐมพยาบาลเบื้องต้นภายในถ้ำเลย หากอาการดีขึ้น ถึงจะนำออกมาขึ้นรถพยาบาลทันที
3.หน่วยลำเลียงผู้ป่วยขึ้นรถพยาบาลไปยังโรงพยาบาลสนาม (ลักษณะเป็นห้องผ่าตัดแบบเร่งด่วน) ซึ่งตั้งอยู่บริเวณใกล้ปากทางเข้าถ้ำ
4.หน่วย Triage and Resuscitation หรือ หน่วยแพทย์ที่วิเคราะห์อาการตามความรุนแรง ความจริงถ้าจะมีการทำการคัดแยกอาการของผู้ประสบภัยตามความรุนแรง และความเร่งด่วนของผู้ประสบภัยให้การรักษาการตัดสินใจวิธีการในการส่งต่อโดยคำนึงถึงความเร่งด่วน หากผู้ป่วยที่มีอาการเร่งด่วนอาจจะต้องรักษาที่โรงพยาบาลสนาม
5.หน่วยขนส่งผู้ป่วยไปยังท่าอากาศยาน หากทีมแพทย์วิเคราะห์อาการแล้ว พบว่าสามารถไปรักษาที่โรงพยาบาลเชียงรายได้ ก็จะรีบลำเลียงผู้ป่วยขึ้นรถพยาบาลไปลานบินจักกะผัก
6. หน่วยดูแลผู้ป่วย ขณะส่งทางอากาศ ทางทีมแพทย์ Sky Doctor 2 ท่าน จะปฐมพยาบาลผู้ป่วยบนเฮลิคอปเตอร์ โดยทีมแพทย์จากโรงพยาบาลตำรวจและทหาร จะรับผิดชอบในการเป็นแพทย์ดูแล ขณะขนส่งทางอากาศ
7. หน่วยดูแลผู้ประสบภัยที่ลานบินเป้าหมาย จะมีทีมแพทย์ดูแลผู้ประสบภัยจากสนามเก่าไปยังโรงพยาบาลเชียงราย
8. หน่วยดูแลผู้ประสบภัยที่โรงพยาบาลเชียงรายราชประชานุเคราะห์ เมื่อได้มีการประเมินผู้ป่วยเบื้องต้นที่โรงพยาบาลสนามแล้ว ไม่มีการสื่อสารมาแจ้งให้ทีมแพทย์ที่โรงพยาบาลรายเพื่อเตรียมการรักษา ทั้งนี้ขั้นตอนของการปฐมพยาบาล จะทำภายใน 30 นาที