วันนี้ (3 ก.ค.61) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ปฏิบัติการค้นหา 13 ชีวิตติดถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน เห็นได้ว่าทีมค้นหาทุกหน่วยงานใช้ความรู้การสำรวจจากนายเวิร์น อันส์เวิร์ด และ และแผนที่ของนายมาร์ติน เอลลิส ผู้เคยสำรวจถ้ำหลวง เป็นหลัก
นายชลธร ชำนาญคิด ผู้อำนวยการอนุรักษ์ทรัพยากร กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช อดีตนักสำรวจถ้ำรุ่นแรกของไทย ระบุว่า ประเทศไทยได้มีการสำรวจถ้ำไว้เช่นกัน โดยเริ่มมาตั้งแต่ปี 2537 ที่นายจอห์น สปีส์ นักสำรวจถ้ำชาวออสเตรเลีย เข้ามาจุดประกาย จนเกิดคณะทำงานจัดการถ้ำและภูมิประเทศเขาหินปูน แต่หยุดการทำงานไปประมาณปี 2550 โดยการสำรวจครั้งนั้นมีการทำสัญลักษณ์ถ้ำไว้ 3 ประเภทคือ โชว์เคฟ show cave หรือ ถ้ำที่คนทั่วไปเที่ยวได้ , Adventure cave หรือ ถ้ำสำหรับนักผจญภัย ต้องโรยตัว และ wild cave หรือถ้ำต้องอนุรักษ์ ปิดห้ามคนเข้า ซึ่งบางถ้ำมีทั้ง 3 ประเภทรวมกันแบ่งระยะตามความลึก เช่น ถ้ำหลวง แต่การสำรวจถ้ำไทยที่ทำกันสมัยนั้น มักสำรวจแค่ 1-2 กิโลเมตร เพราะเป็นระยะของโชว์เคฟ สามารถเปิดการท่องเที่ยวให้คนทั่วไปได้ แผนที่จึงไม่ครบสมบูรณ์
สาเหตุที่แบ่งถ้ำเป็น 3 ประเภท นายชลธร ระบุว่า ถ้ำหินปูนส่วนมากในไทย หรืออาจจะทั้งหมด ยังไม่เป็นถ้ำตาย คือยังมีน้ำไหลผ่านช่วงหน้าฝน เพราะธรรมชาติการเกิดถ้ำมาจากน้ำกัดเซาะ หากบนถ้ำยังมีป่าที่สมบูรณ์ และส่วนมากเดือนพฤษภาคม ถึง เดือนกันยายน ถ้ำที่อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติ เขตวนอุทยานอุทยานแห่งชาติจะปิดไม่ให้คนเที่ยว เพราะน้ำกำลังท่วม
ส่วนแผนที่ของนายมาร์ติน ที่มีความละเอียดกว่าของไทย เพราะทั่วโลกจะมี 2 สมาคมใหญ่ในการสำรวจถ้ำ คือของอังกฤษ กับ ออสเตรเลีย ซึ่งออกวารสารถ้ำทั่วโลกมาแล้วหลายเล่ม ไทยเองก็ใช้วารสารของ 2 สมาคม นี้เป็นข้อมูล เพราะคณะทำงานสำรวจถ้ำไทยหยุดทำงานไปกว่า 10 ปีแล้ว ซึ่งนายชลธรเชื่อว่ายังมีอีกกว่า 1,000 ถ้ำในไทย ที่ยังไม่ได้สำรวจ
ขณะที่นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช เปิดเผย ว่า กำลังพิจารณาปิดถ้ำชั่วคราวและถาวร 10 ถ้ำ คือ ถ้ำขุนสถาน จ.น่าน ถ้ำเขาสก จ.สุราษฎร์ธานี ถ้ำดอยภูคา จ.น่าน ถ้ำผาแดง จ.เชียงใหม่ ถ้ำแม่เมย จ.ตาก ถ้ำลำคลองงู อุทยานแห่งชาติลำคลองงู จ.กาญจนบุรี ถ้ำหาดเจ้าไหม จ.ตรัง โดย 7 ถ้ำนี้ปิดถึงกันยายน ส่วนปิดถ้ำไม่มีกำหนด คือ ถ้ำย่อยในอุทยานแห่งชาติลำคลองงู 3 แห่ง ถ้ำใหญ่ ถ้ำน้ำตก และถ้ำเวิลด์คัพ