ทีมหมูป่า 13 ชีวิตติดถ้ำหลวง กับผลกระทบสภาพจิตใจ


โดย PPTV Online

เผยแพร่




สำนักข่าวบีบีซี รายงานว่า ในขณะที่เด็กๆ ที่ติดอยู่ภายในถ้ำหลวง จ.เชียงราย ต่างได้รับอาหารและการปฐมพยาบาลเบื้องต้นแล้ว หลังจากทีมกู้ภัยเข้าไปพบ สิ่งหนึ่งที่ต้องคำนึงถึงและสำคัญไม่แพ้กันคือ เหตุการณ์ดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจของพวกเขาอย่างไรบ้าง

วันนี้ (5 ก.ค.61) นพ.อันเดรีย ดาเนเซ จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น ประจำคลินิกด้านภาวะกระทบกระเทือนทางจิตใจและความกังวล ของศูนย์ดูแลด้านสุขภาพจิตเด็กและเยาวชน ประเทศอังกฤษ ระบุว่า ในระยะสั้น เด็ก ๆ หลายคนที่ประสบกับเหตุการณ์ที่กระทบต่อจิตใจเช่นนี้ อาจมีความรู้สึกกลัว หวาดระแวง ตกใจง่าย หรืออารมณ์แปรปรวน แต่การที่เด็ก ๆ เป็นสมาชิกทีมฟุตบอลเดียวกัน เป็นเกราะคุ้มกันอย่างดีให้กับสภาพจิตใจของพวกเขา ซึ่งสอดคล้องกับ นายโดเนลสัน อาร์ ฟอร์ไซท์ อาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยริชมอนด์ในรัฐเวอร์จิเนีย ที่ระบุว่า จากกรณีที่เคยเกิดขึ้น กลุ่มที่ประสบภัยจะรวมตัวกันและจัดสรรทรัพยากรที่มีอยู่รวมกันทั้งหมดเพื่อความอยู่รอด ทำให้มีโอกาสรอดชีวิตมากกว่า โดยพื้นเพของเด็ก ๆ ที่อยู่ในทีมฟุตบอลเดียวกัน อาจช่วยให้พวกเขายังคงเป็นหนึ่งเดียวกันได้ แม้จะมีปัญหาเกิดขึ้นก็ตาม

สำหรับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นที่ถ้ำหลวงนั้น แตกต่างจากเหตุการณ์ก่อนหน้านี้ เช่น เหตุคนงานติดอยู่ในเหมืองประเทศชิลี เมื่อปี 2010  เพราะแม้ว่าคนงานเหมืองชิลีจะติดอยู่ใต้ดินเกือบ 70 วัน แต่ก็เป็นผู้ใหญ่ ขณะที่กรณีนี้ ผู้ประสบเหตุเป็นเด็กเกือบทั้งหมด นพ.ดาเนเซ ย้ำว่า สิ่งสำคัญที่ผู้ใหญ่ควรทำเพื่อช่วยให้เด็ก ๆ รับมือกับสถานการณ์ในตอนนี้ ก็คือการสื่อสารที่ชัดเจนและจริงใจ เด็ก ๆ ควรรู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นต่อไปบ้าง รวมถึงได้ระบายความรู้สึกของตัวเองออกมา  และถ้าหากพวกเขาได้พูดคุยกับครอบครัว ก็จะยิ่งช่วยทำให้ขวัญและกำลังใจดีขึ้น ซึ่งตอนนี้ทีมกู้ภัยเองก็อยู่ระหว่างติดตั้งสายโทรศัพท์ภายในถ้ำ

ขณะเดียวกัน การที่ต้องอยู่ในความมืดมาตลอด ทำให้นาฬิกาชีวภาพในร่างกายไม่สอดประสานกับเวลาในโลกภายนอก ซึ่งนายรัสเซล ฟอสเตอร์ นักประสาทวิทยาด้าน นาฬิกาชีวภาพ ประจำมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด กล่าวว่า การที่นาฬิกาชีวภาพรวนนั้นไม่เพียงแต่ส่งผลกระทบต่อพฤติกรรมการนอนหลับเท่านั้น แต่ยังส่งผลถึงอารมณ์ การทำงานของระบบทางเดินอาหาร และส่วนอื่น ๆ ของร่างกายอีกมากมาย

อย่างไรก็ตาม นายฟอสเตอร์ เชื่อว่าทีมกู้ภัยน่าจะพยายามติดตั้งไฟภายในถ้ำเพื่อจำลองกลางวันและกลางคืน อย่างที่เคยทำในกรณีของคนงานเหมืองชิลี ส่วนผลกระทบในระยะยาว นายซานโดร กาเลีย อาจารย์ประจำคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยบอสตัน บอกว่าเด็กๆ ที่เผชิญเหตุกระทบกระเทือนจิตใจในระดับนี้ มีความเสี่ยงสูงที่จะมีอาการผิดปกติทางอารมณ์ในระยะกลางและระยะยาว เช่น อาการซึมเศร้า วิตกกังวล และภาวะเครียดหลังจากเหตุการณ์สะเทือนใจ  ซึ่งไม่ได้หมายความว่าจะเกิดขึ้นกับทุกคน แต่อาจมีโอกาสเกิดขึ้นได้ 1 ใน 3 หรือครึ่งหนึ่ง  และอาการผิดปกติทางอารมณ์นี้สามารถรักษาได้ หากได้รับความช่วยเหลืออย่างถูกต้อง แต่ปัจจัยหนึ่งที่สำคัญที่สุดที่จะช่วยฟื้นฟูสภาพจิตใจในระยะยาว ก็คือ ความสัมพันธ์ระหว่างเด็ก ๆ ภายในกลุ่ม และการปฏิสัมพันธ์กับโลกภายนอก

PR - ตารางคะแนน-2_B PR - ตารางคะแนน-2_B
TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ