วันนี้ (10 ก.ค.61) นพ.สุระ เจตน์วาที แพทย์เวชศาสตร์การบิน ผู้เชี่ยวชาญด้านการกู้ชีพ และการลำเลียงผู้ป่วยทางอากาศ ระบุว่า เมื่อหลายวันก่อนที่ผู้ว่าราชการพะเยาแถลงว่าออกซิเจน อากาศภายในถ้ำหลวง ประมาณเหลือ 15 % ความจริงในอากาศปกติที่คนเราหายใจอยู่มีประมาณ 21 % จะเริ่มเข้าขั้นวิกฤตที่ 19.5 % ซึ่งไม่ค่อยเหมาะสมกับการใช้ชีวิต และพอถึง 16 % จะมีผลต่อสรีระวิทยาร่างกายชัดเจนขึ้น เช่น หัวใจเต้นเร็ว และต่ำกว่า 15 % หัวใจจะเต้นผิดจังหวะ จากนั้นเมื่อเหลือ 12 % ถ้าเป็นนักผจญเพลิงจะบอกว่าหากเข้าไปแล้วเจอออกซิเจน 12 % ต้องออกมาภายใน 5 นาที เพราะฉะนั้นจึงเป็นเหตุผลหนึ่งที่ผู้ว่าฯตัดสินใจรีบนำทีมหมูป่าอะคาเดมี่ออกมา นอกจากนี้ภายในถ้ำหากมีคาร์บอนไดออกไซด์สะสมเยอะเกิน 3 % จะเริ่มมีผลต่อสรีระวิทยาร่างกาย เพราะต้องใช้พลังงานเยอะขึ้น
นอกจากนี้เวลาอยู่ที่ในถ้ำนาน ๆ สิ่งที่ต้องระวังคือ อุณภูมิ เพราะล่าสุดจากที่ได้รับรายงานของโรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ พบว่าเด็ก ๆ มีอุณหภูมิร่างกายต่ำทุกคน เนื่องจากระหว่างออกมาต้องเจอน้ำในถ้ำ ที่มีอุณหภูมิประมาณ 20-25 องศาเซลเซียส ซึ่งจะส่งเสริมให้เกิดการบาดเจ็บจากการดำน้ำ
นายสิริชัย เกตุแก้ว ประธานชมรมนักดำน้ำกรุงเทพ กล่าวว่า ถังอากาศปกติ จะมีประมาณออกซิเจน 21% ไนโตรเจน 79% แต่นักดำถ้ำต้องเรียนรู้การใช้อากาศที่ผสมออกซิเจนมากกว่า 21 % หรือบางครั้งหากเพิ่มสัดส่วนออกซิเจนไม่พอ อาจต้องมีก๊าซบางอย่างเพิ่มขึ้น เช่น ก๊าซฮีเลียมผสม ดังนั้นคนที่ชำนาญดำน้ำถ้ำจะเก่งเรื่องพวกนี้มาก เพราะคำนวณทุกสิ่งทุกอย่างได้ดี ทั้งนี้คิดว่าระหว่างการลำเลียงเด็กออกมานั้น เด็กอาจใช้ถังอากาศใบเดียวกับหน่วยซีล หรือคนดูแล เพราะไม่ต้องการให้เด็กแบกถัง โดยถังอากาศ 1 ใบ ที่ใช้สองคน การบริโภคอากาศก็ต้องมากขึ้นอยู่แล้ว ดังนั้น ถังอากาศที่แขวนเตรียมไว้ทุกระยะ ๆ จึงเป็นถังที่พร้อมเปลี่ยนได้ทันทีในระหว่างการดำน้ำออกมาจากถ้ำ ส่วนจำนวนถังอากาศที่ต้องใช้นั้น จะขึ้นอยู่กับการบริโภคอากาศ หากเด็กมีอาการตื่นเต้นก็จะมีการบริโภคอากาศที่มากขึ้น และปัญหาที่สำคัญ คือ เรื่องของการคั่งค้างคาร์บอนไดออกไซด์ในปอด ซึ่งมีโอกาสจะทำให้มีอาการเวียนศีรษะ และหน้ามืด