“น้ำตกวังตะไคร้ – น้ำตกนางรอง” ธรรมชาติที่สวยงาม แฝงความอันตรายที่ซ่อนอยู่


โดย PPTV Online

เผยแพร่




‘น้ำตกวังตะไคร้’ และ ‘น้ำตกนางรอง’ สถานท่องเที่ยวขึ้นชื่อในอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ จ.นครนายก ที่มีนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่เลือกที่จะไปเล่นน้ำดื่มด่ำกับธรรมชาติ และแม้จะเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สวยงาม แต่เมื่อฤดูฝนมาถึง ก็จะเกิดน้ำป่าหลากเป็นประจำทุกปี ซึ่งเป็นภัยอันตรายที่ใครก็คาดไม่ถึง

โดยหนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญและขึ้นชื่อของ จังหวัดนครนายก นั่นคือ น้ำตกวังตะไคร้ และน้ำตกนางรอง ทั้งสองแห่งนี้ตั้งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ มีผืนป่าสีเขียวธรรมชาติขนาดใหญ่ อุมดมสมบูรณ์ไปด้วยต้นไม้หลายชนิด กินพื้นที่อาณาเขตถึง 4 จังหวัดของไทย ยิ่งช่วงเข้าสู่ฤดูฝนแล้ว น้ำตกก็จะยิ่งดูสวยงามมากว่าปกติ และด้วยความที่อยู่ห่างจากกรุงเทพมหานครไม่มากนัก ทำให้กลายเป็นจุดที่นักท่องเที่ยวมักจะมาชื่นชมความงามของธรรมชาติเป็นจำนวนมาก

น้ำตกวังตะไคร้ หรือที่รู้จักในชื่อ วังตะไคร้ ตั้งอยู่บนถนนสายนครนายก-นางรอง ตำบลสาริกา อำเภอเมือง จังหวัดนครนายก อยู่ห่างจากกรุงเทพมหานคร ประมาณ 120 กิโลเมตร ก่อนถึงน้ำตกนางรอง 2 กิโลเมตร โดยจะมีลำธาร 2 สาย ไหลผ่านพื้นบริเวณนี้ คือ ลำธารสายใหญ่ที่เรียกว่า คลองตะเคียน มีต้นน้ำมาจากน้ำตกแม่ปล้องไหลผ่านตอนกลางของวังตะไคร้ และลำธารจาก คลองมะเดื่อ มีต้นน้ำมาจากน้ำตกเหวกฐิน โดยลำธารทั้งสองสายได้ไหลมาบรรจบกันที่วังตะไคร้ก่อนไหลลงสู่แม่น้ำนครนายก ต่อมาทำให้เกิดกีฬาทางน้ำยอดนิยม นั่นคือ กีฬาล่องแก่งด้วยยางรถยนต์  

โดย จุมภฏ - พันธุ์ทิพย์ อุทยาน หรือ วังตะไคร้ เกิดขึ้นด้วยปณิธานการเป็นผู้ให้ของ ม.ร.ว.พันธุ์ทิพย์ บริพัตร “จุมภฏ - พันธุ์ทิพย์ อุทยาน” มาจากชื่อเจ้าของเดิมคือ พลตรี พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุมภฏพงษ์บริพัตร กรมหมื่นนครสวรรค์ศักดิพินิต หรือ เสด็จในกรม (พระราชนัดดาในรัชกาลที่ 5) และชายา คือ ม.ร.ว.พันธุ์ทิพย์ บริพัตร สำหรับ วังตะไคร้ เป็นชื่อเดิมที่ชาวบ้านบริเวณดังกล่าวเรียกกันมา เนื่องจากลำห้วยบริเวณนั้นเป็นวังน้ำกว้างมีต้นตะไคร้หางนาค หรือ ต้นตะไคร้น้ำ ขึ้นเต็มริมฝั่งห้วย ซึ่งต้นตะไคร้หางนาคมีลักษณะก้านดำ เหนียวมาก และมีดอกสีชมพูเล็ก ๆ รับประทานไม่ได้

น้ำตกนางรอง ตั้งอยู่ที่ ตำบลหินตั้ง อำเภอเมือง จังหวัดนครนายก ลักษณะเด่น คือ เป็นน้ำตกขนาดกลางที่สวยงามไหลลงมาตามโขดหินขนาดใหญ่ ลดหลั่นกันเป็นชั้น ๆ ตามชั้นหินธรรมชาติที่ไม่สูงมากนัก มีทางยาวประมาณ 100 เมตร แต่ละชั้นมีอ่างน้ำขนาดใหญ่และเล็กรองรับน้ำที่ไหลลงมาจากด้านบน เหมาะสำหรับในการลงเล่นน้ำ เนื่องจากน้ำไหลเป็นทาวยาว นักท่องเที่ยวสามารถเลือกลงเล่นได้หลายจุด สภาพแวดล้อมรอบข้างบริเวณมีลักษณะร่มรื่น และมีต้นน้ำอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ที่ครอบคลุมพื้นที่ถึง 4 จังหวัดของไทย จึงเป็นอีกหนึ่งน้ำตกที่สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวให้แวะมาเที่ยวชมได้เป็นจำนวนมากเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ น้ำตกวังตะไคร้ และน้ำตกนางรอง จะเป็นสถานที่ท่องเที่ยวธรรมชาติที่สวยงามขึ้นชื่ออันดับต้น ๆ ของประเทศไทย แต่ความสวยงามก็มักจะแฝงไปด้วยความอันตรายเสมอ เพราะเมื่อเข้าสู่ฤดูฝน น้ำตกเหล่านี้มักจะเกิดน้ำป่าหลากเป็นประจำทุกปี และคร่าชีวิตนักท่องเที่ยวไปหลายราย โดยล่าสุดเมื่อวานนี้ (13 ส.ค.61) เกิดเหตุน้ำป่าจากอุทยานแห่งชาติ ไหลบ่าลงมาที่น้ำตกนางรอง และน้ำตกวังตะไคร้ ทำให้ปริมาณน้ำเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และกระแสน้ำรุนแรงอย่างมาก ส่งผลกระทบรีสอร์ท และที่พักที่อยู่ติดริมน้ำถูกน้ำท่วมหลายแห่ง ด้านผู้อำนวยการส่วนอุทยานแห่งชาติสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ระบุว่า สาเหตุเนื่องมาจากมีปริมาณน้ำฝนสะสมบนเขาใหญ่ตั้งแต่ช่วงเขาเขียวถึงผาตะแบกอยู่ที่ 140-150 มิลลิเมตร ซึ่งถือว่ามีปริมาณฝนตกที่หนักมาก ทำให้เกิดน้ำป่าไหลหลากฉับพลัน และคาดการณ์ปริมาณน้ำในครั้งนี้จะมากที่สุดในรอบ 10 ปี เลยทีเดียว

อ่านข่าว

สำหรับวิธีการเดินทางท่องเที่ยวน้ำตกให้ปลอดภัย ทาง สำนักอุทยานแห่งชาติ ได้กำหนดข้อควรระวังไว้ดังนี้

1. เนื่องจากช่วงของการเดินทางเที่ยวน้ำตกนั้นมักอยู่ในฤดูฝน ควรจะตรวจตราระวังในเรื่องระดับน้ำ และน้ำป่า หากสังเกตว่าธารน้ำตกมีน้ำเต็มเปี่ยม ไหลแรง การเดินข้ามลำธารหรือลงเล่นน้ำควรต้องเพิ่มความระมัดระวัง หรือพยายามหลีกเลี่ยง

2. หากมีฝนตกหนักบริเวณนั้นหรือในผืนป่าต้นน้ำเป็นเวลานาน ๆ และน้ำมีการเปลี่ยนจากใสไปเป็นสีขุ่นมีตะกอน ควรขึ้นจากสายน้ำและขึ้นมาอยู่ในบริเวณที่ปลอดภัย

3. การเดินป่า หรือเลาะริมธาร หากจำเป็นต้องตัดข้ามไปมาบ่อยครั้ง ก็ควรยอมเปียกด้วยการเดินลุยน้ำ เพราะการโดดข้ามไปตามก้อนหินอาจเสี่ยงต่อการลื่นล้มและได้รับบาดเจ็บ

ส่วนข้อควรปฏิบัติและไม่ควรปฏิบัติขณะเที่ยวน้ำตก ได้แก่ ไม่ควรดื่มแอลกอฮอล์ในการเที่ยวน้ำตก เพราะนอกจากจะทำให้เกิดการมึนเมา เสี่ยงตอการจมน้ำหรือพลัดตกจากผาน้ำตกแล้ว เศษแก้วขวดที่แตกยังเป็นอันตรายต่อผิอื่นและธรรมชาติอีกด้วย, ควรเคารพสิทธิ์ผู้อื่นที่เดินทางเข้าไปสัมผัสธรรมชาติร่วมกัน, ไม่ทิ้งขยะในทุกพื้นที่ ยกเว้นถาชนะที่จัดไว้ให้เท่านั้น, ช่วยกันเก็บขยะออกจากพื้นที่เพื่อให้แหล่งธรรมชาติงดงามน่าชมตลอดไป, ควรปฏิบัติตามกฎระเบียบของสถานที่นั้นๆ เช่น กฎระเบียบของอุทยานแห่งชาติ หรือกฎข้อบังคับของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า, ควรให้การเดินทางเข้าไปสัมผัสธรรมชาติของท่านเป็นการเรียนรู้ที่คุ้มค่าที่สุด

วิธีการสังเกตน้ำป่าหลาก คือ มีฝนตกหนักในผืนป่าต้นน้ำเป็นเวลานาน, น้ำเปลี่ยนจากสีใสเป็นสีขุ่นมัวมีตะกอน, ปริมาณน้ำตกเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว, บริเวณพื้นที่รอบ ๆ มีเสียงดังผิดปกติ เช่น เสียงน้ำไหล, อุณหภูมิของน้ำเปลี่ยนไปจากปกติ, มีเศษไม้ กิ่งไม้ และเศษดิน ไหลมาตามน้ำ สุดท้ายสังเกตพฤติกรรมสัตว์ป่า หากเกิดอันตรายสัตว์ป่ามักจะแตกตื่น และหนีออกจากป่าผิดสังเกต

ติดตามข่าววันนี้ได้ที่นี่ >> //www.pptvhd36.com/special/ข่าววันนี้

ข้อมูลจาก : wangtakrai, สำนักอุทยานแห่งชาติ, กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช, nakhonnayok และchillpainai

ขอบคุณรูปภาพ : การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย

TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ