หากพูดถึงโรคหลอดเลือดสมอง โรคเส้นเลือดสมองตีบ หรือ Stroke หลายคนอาจจะไม่รู้จักรายละเอียดของโรคนี้ แต่หากพูดถึงอาการอัมพาต คงดูเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวและคุ้นหูมากขึ้น แม้อาการอัมพาตจะเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ แต่สาเหตุสำคัญที่ส่งผลให้จำนวนผู้ป่วยอัมพาตทั่วโลกเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในปัจจุบันคือ การที่สมองขาดเลือดไปเลี้ยง เนื่องจากเกิดการอุดตันของเส้นเลือดที่เป็นทางเดินของเลือดไปเลี้ยงสมองส่วนต่าง ๆ ส่งผลให้เกิดอาการอัมพาตในระยะต่าง ๆ ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรค อาการทั่วไปที่พบคือผู้ป่วยอาจเริ่มจากแขนขาอ่อนแรง หรือชาบริเวณใบหน้าซีกใดซีกหนึ่ง, ตาข้างใดข้างหนึ่งพร่ามัวหรือมองไม่เห็น, มีปัญหาด้านการพูดหรือการเข้าใจบทสนทนา และปวดศีรษะเฉียบพลันแบบไม่มีสาเหตุ รวมถึงอาการวิงเวียนหรือวูบแบบเฉียบพลัน
แต่ทั้งนี้ อาการสมองขาดเลือด ยังสามารถแบ่งรายละเอียดของอาการตามความรุนแรงแบ่งได้เป็น 3 ระดับ คือ 1.อาการน้อย คือ กลุ่มของผู้ที่มีหลอดเลือดสมองแตก หรือตีบตันเป็นหลอดเลือดขนาดเล็ก ยังไม่เกิดการทำลายของเซลล์สมองในบริเวณนั้น สมองขาดเลือดในช่วงระยะเวลาสั้น ๆ ทำให้เกิดอาการซึ่งอาจเป็นวินาที นาที หรือชั่วโมง แต่ไม่เกิน 24 ชั่วโมง ลักษณะอาการประกอบด้วย กล้ามเนื้ออ่อนแรงจะเป็นที่แขนอย่างเดียว ขาอย่างเดียว หน้าและแขน การเคลื่อนไหวช้าลง ที่ใบหน้าจะเห็นมุมปากตก อมน้ำไว้ในปากไม่ได้ ความจำเสื่อมชั่วขณะ คิดอะไรไม่ออก และพูดไม่ชัด
อาการปานกลาง (อัมพฤกษ์) กลุ่มนี้เซลล์สมองถูกทำลายไปแล้วบางส่วน แต่ไม่ทั้งหมด ภายหลังการรักษาแล้ว อาการอาจดีขึ้นเรื่อย ๆ ภายใน 3-6 เดือน อาการมักจะเกิดขึ้นทันทีทันใด นอกจากกล้ามเนื้ออ่อนแรงแล้ว ผู้ป่วยจะสูญเสียการทรงตัวบางขณะ มีอาการตามัวครึ่งตา หรือมืดไปข้างหนึ่ง สูญเสียความทรงจำ และความสามารถในด้านการคิดคำนวณ การตัดสินใจ และมักมีอาการทางอารมณ์ร่วมด้วย เช่น ซึมเศร้า หรือหงุดหงิดมากกว่าปกติ
อาการรุนแรง (อัมพาต) กลุ่มนี้เซลล์สมองถูกทำลายโดยถาวร จะเกิดการอ่อนแรงของแขนและขา ขยับแขนหรือขาเองไม่ได้ สูญเสียการทรงตัว พูดไม่ได้ หรือเปล่งเสียงออกมาจากลำคอไม่ได้ กล้ามเนื้อหน้าทำงานไม่เท่ากัน หนังตาตก กลอกตาไม่ได้ กลืนอาหารลำบาก ปฏิกิริยาตอบสนองช้า และสูญเสียความทรงจำ
โดยปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคสมองขาดเลือด โรคเส้นเลือดในสมองตีบ โรคเส้นเลือดในสมองแตก มีอยู่ 7 ความเสี่ยงหลัก คือ 1.ความดันโลหิต ผู้ที่มีความดันโลหิตสูงกว่า 140-80 มิลลิเมตรปรอท จากค่าปกติ 140-80 มิลลิเมตรปรอท จะทำให้สมองทำงานผิดปกติ หรือเกิดการแตกหรือตีบของหลอดเลือดสมอง, 2.โรคเบาหวาน ทำให้เกิดภาวะเส้นเลือดตีบแข็ง ทำให้เส้นเลือดที่ไปเลี้ยงสมองอุดตัน เกิดเป็นอัมพาต หากตรวจพบระดับน้ำตาลในเลือดก่อนรับประทานอาหารเช้ามากกว่า 110 มิลลิกรัม/เดซิลิตร มากกว่า 2 ครั้ง อาจสันนิษฐานได้ว่าเป็นโรคเบาหวาน, 3.ไขมันในเลือดสูง ทำให้เกิดการอุดตันของหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงสมอง ส่งผลให้เป็นอัมพาตในเวลาต่อมา, 4.สูบบุหรี่ ยิ่งสูบมากยิ่งเสี่ยงมาก เนื่องจากสารในบุหรี่หลายตัวเป็นตัวเร่งให้เกิดการระคายเคืองของผนังหลอดเลือดจนเกิดการตีบตันขึ้นได้, 5.ไม่ออกกำลังกาย ขาดการออกกำลังกายส่งผลเสียต่อสุขภาพร่างกาย, 6.ความเครียด ทำให้เกิดหลอดเลือดสมองแตก หรือตีบตันเฉียบพลัน และ 7.โรคอ้วน มีน้ำหนักเกินเกณฑ์มาตรฐาน
ขอบคุณภาพ และข้อมูล : ศูนย์สมองและระบบประสาทกรุงเทพ รพ.กรุงเทพ
ติดตามข่าววันนี้ได้ที่นี่ >> //www.pptvhd36.com/special/ข่าววันนี้