ที่มาของชื่อพายุ และการมาของชื่อ “มู่หลาน”


โดย PPTV Online

เผยแพร่




เปิดที่มาของชื่อพายุ ไขข้อสงสัยทำไมถึงต้องเรียกแตกต่างกัน และความเป็นมาของชื่อ “พายุมู่หลาน” ที่กำลังส่งผลกระทบต่อสภาพภูมิอากาศของไทยจนถึง 13 ส.ค.นี้

หลายครั้งที่เกิดภัยธรรมชาติอย่าง พายุ เรามักได้ยินการพยากรณ์อากาศจากกรมอุตุนิยมวิทยา จากการรายงานข่าวและมีการเอ่ยชื่อของพายุเหล่านั้น ซึ่งหลากหลายและแตกต่างกัน บางชื่อก็เป็นชื่อจากภาษาต่างประเทศ บางชื่อก็มีความเป็นไทย ทำให้เกิดความสงสัยว่าทำไมพายุถึงต้องมีชื่อ แล้วชื่อพายุมีหลักการตั้งกันยังไง

จุดเริ่มต้นของชื่อพายุเกิดขึ้นช่วง “ปลายศตวรรษที่ 19 ต่อต้นศตวรรษที่ 20”  จากคลีเมนต์ แรกกี  นักพยากรณ์อากาศชาวออสเตรเลีย ที่มีความคิดในการตั้งชื่อพายุ 

สภาพอากาศวันนี้! กรมอุตุฯ เตือน “พายุมู่หลาน” ฉ.8 ฝนตกหนัก 25 จังหวัด

“บิ๊กป๊อก” สั่งการผู้ว่าฯ ทั่วประเทศ เตรียมพร้อมรับมือพายุมู่หลาน

โดยใช้ชื่อคนทั่วไป แต่จะมี 2 แบบ คือ ใช้ชื่อสตรี เพื่อให้ดูอ่อนโยน และแบบที่ 2 คือชื่อนักการเมืองเพื่อเปรียบเปรยว่า "นักการเมืองคือผู้นำความหายนะมาให้"

แต่พอมา “ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2” กองทัพสหรัฐอเมริกาเริ่มนำชื่อภรรยาและคู่รักของตนมาใช้เป็นชื่อพายุ จากนั้นในปี พ.ศ. 2493 เริ่มตกลงกันว่าจะตั้งชื่อพายุหมุนเขตร้อนไล่ตามตัวอักษร A-Z เป็นชื่อสตรีบ้าง สุภาพบุรุษบ้างสลับกันไป

จนกระทั่งการตั้งชื่อพายุเริ่มแพร่กระจายไปยังภูมิภาคอื่นๆ ในปี พ.ศ. 2543 ประเทศต่างๆเข้าเป็นสมาชิกของคณะกรรมการพายุไต้ฝุ่นขององค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (World Meteorological Organizations Typhoon Committee) เพื่อจัดระบบการตั้งชื่อพายุหมุนเขตร้อนในแถบนี้ใหม่ โดยแต่ละประเทศ (หรือดินแดน) ได้ส่งชื่อพายุในภาษาของตนมาให้ประเทศละ 10 ชื่อ รวม 140 ชื่อ ซึ่งพายุลูกนั้นความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางพายุต้อง “มากกว่า 34 น็อต หรือ 63 กม./ชม. "ถึงจะมีชื่อเป็นตัวเอง”

สำหรับประเทศไทย อยู่ในโซนมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันตกตอนบนและทะเลจีนใต้ ร่วมกับสมาชิกประเทศอื่นๆ คือ กัมพูชา, จีน, เกาหลีเหนือ-ใต้, ฮ่องกง, ญี่ปุ่น, ลาว, มาเก๊า, มาเลเซีย ไมโครนีเซีย (รัฐอิสระอยู่บริเวณมหาสมุทรแปซิฟิกเหนือหมู่เกาะอินโดนีเซีย) ฟิลิปปินส์, สหรัฐฯ และเวียดนาม รวม 14 ประเทศ

โดยชื่อพายุจะแบ่งเป็น 5 กลุ่ม กลุ่มละ 28 ชื่อ แต่ละชื่อเรียงตามชื่อประเทศของลำดับตัวอักษรภาษาอังกฤษ เริ่มจากกัมพูชา เรื่อยไปจนถึงเวียดนามอันดับสุดท้าย

“ไทยเราอยู่อันดับที่ 12 เมื่อใช้หมด 1 กลุ่ม ก็จะขึ้นชื่อแรกในกลุ่มที่ 2 เรียงกันเรื่อยไปจนครบทุกกลุ่ม แล้วจึงกลับมาใช้ชื่อแรกของกลุ่มที่ 1 ใหม่อีกครั้ง”

ซึ่งทางกรมอุตุนิยมวิทยาได้ตั้ง คณะกรรมการพิจารณารายชื่อ และความหมายของชื่อขึ้นเพื่อเป็นตัวแทนเสนอชื่อพายุในภาษาไทยในประชุมของ ศูนย์เตือนภัยพายุไต้ฝุ่นร่วม หรือ เจทีดับบลิวซี (Joint Typhoon Warning Center (JTWC) ซึ่งตั้งอยู่ที่เกาะกวม ในมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันตก ซึ่งชื่อ “มู่หลาน” ในครั้งนี้ ก็ได้รับการพิจารณาจากทั้ง 14 ประเทศสมาชิกด้วย

โดย "มู่หลาน" มีความหมายเป็นชื่อดอกไม้ชนิดหนึ่งในตระกูลแม็กโนเลีย จากสาธารณรัฐประชาชนจีน

ตอนนี้พายุมู่หลานกำลังจะจากเราไปแล้ว เนื่องจากอ่อนกำลังลงเป็นหย่อมความกดอากาศ แต่ก็ไม่รู้ว่าลูกต่อไปเจ้าพายุจะมีชื่อว่าอย่างไร แต่ก็ภาวนาขอให้เป็นาพายุที่สร้างความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนน้อยที่สุดแล้วกัน

ภาพ เอเอฟพี

ข้อมูล : กรมอุตุนิยมวิทยา

 

TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ