กระตุ้นเศรษฐกิจ คือ คำชี้แจงที่รัฐบาลทุกยุคสมัยเลือกใช้ เมื่อต้องการออกนโยบาย ลด แลก แจก แถม ยิ่งช่วงก่อนเข้าสู่โหมดการเลือกตั้ง นโยบายลักษณะนี้ มักปรากฎมีออกมาเป็นระยะๆ ด้วยเม็ดเงินงบประมาณมหาศาล จนถูกตั้งคำถามว่า รัฐบาลใช้งบประมาณรัฐ เพื่อหวังซื้อใจคนที่ได้รับประโยชน์โดยตรง ตัดสินใจเลือกพรรคการเมืองที่มีแนวทางสนับสนุนรัฐบาล
คำถามนี้ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นกับสมัยรัฐบาลปัจจุบัน ย้อนกลับไป สมัยรัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ช่วงรอยต่อระหว่างปี 2553 และ 2554 ซึ่งเป็นช่วงก่อนการเลือกตั้ง รัฐบาลออกนโยบาย ปฏิบัติการ "ประชาวิวัฒน์” ชูสโลแกน "คิดนอกกฎ บริการนอกกรอบ" แต่เพราะนโยบายกำหนดเพื่อคนบางกลุ่มของสังคม ทำให้ถูกวิจารณ์ว่า ก้าวไม่พ้นประชานิยม เพราะ ขาดคุณสมบัติของระบบสวัสดิการถ้วนหน้า
โดยเฉพาะอย่างยิ่งการประชุม ครม.นัดสุดท้ายวันที่ 3 พ.ค. 2554 รัฐบาลอภิสิทธิ์ ประชุมมาราธอน กว่า 12 ชั่วโมง จาก 08.00 น. จนถึง02.00 น. มีวาระมากว่า 300 วาระ ก่อนอนุมัติงบฯกว่า 6 แสนล้านบาท เพื่อใช้จ่ายในโครงการต่างๆ
ไม่ต่างจากช่วงปี 2556 สมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร พรรคเพื่อไทย อนุมัติทิ้งทวนจ่ายโบนัสข้าราชการและลูกจ้างประจำ กว่า 3,000 ล้านบาท ประกาศให้ความสำคัญกับกลุ่มข้าราชการ เพราะเป็นผู้ผลักดันนโยบายของรัฐให้บรรลุเป้าหมาย
ศาสตราภิชาน แล ดิลกวิทยรัตน์ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คือ หนึ่งในผู้เฝ้าดูนโยบายของรัฐทุกสมัย ให้ข้อมูลว่า การอนุมัติโครงการต่างๆ ในช่วงโค้งสุดท้ายก่อนการเลือกตั้ง ถือเป็นปรากฎการณ์ที่ทุกรัฐบาลมักช่วงชิงความได้เปรียบอนุมัติโครงการเหล่านี้ เพื่อหวังกลับมาเป็นพรรครัฐบาลสมัยหน้า
แม้จะบอกไม่ได้ว่าโครงการที่ผ่านการอนุมัติในช่วงปลายรัฐบาลแต่ละยุคเป็นนโยบายประชานิยมหรือไม่ แต่ที่ชัดเจนคือ นโยบายเหล่านี้ไม่ตอบโจทย์การกระตุ้นเศรษฐกิจระยะยาว
แม้จะมีประชาชนได้ประโยชน์จากนโยบาย เช่นนี้ แต่ก็ไม่มีสิ่งใดการันตีได้ ว่า ประชาชนพึงพอใจ และมักมีเสียงวิจารณ์ว่านโยบายเหล่านี้ คือ นโยบายหว่านพืชหวังผล รวมถึงมีหลายครั้งที่แม้รัฐบาลจะพยายามทุกวิถีทางก็ไม่สามารถกลับมาเป็นรัฐบาลต่อได้
ติดตามข่าววันนี้ได้ที่นี่ >> //www.pptvhd36.com/special/ข่าววันนี้