วันนี้ 8 เม.ย. 58 นายแพทย์โสภณเมฆธนอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่าในช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่มีวันหยุดยาวหลายวัน ส่วนใหญ่ ประชาชนจะเดินทางกลับบ้านต่างจังหวัด โดยทั่วไปผู้จำหน่ายอาหารจะเตรียมอาหารไว้ขายเพื่อรองรับคนจำนวนมาก และอาจมีอาหารที่ค้างจากการจำหน่ายในแต่ละครั้ง ประกอบกับช่วงนี้สภาพอากาศร้อนอบอ้าว ทำให้อาหารบูดเสียได้ง่าย ประชาชนจึงมีความเสี่ยงเจ็บป่วยจากโรคระบบทางเดินอาหารสูงกว่าฤดูกาลอื่นๆ
จากข้อมูลรายงานการเฝ้าระวังโรคของสำนักระบาดวิทยากรมควบคุมโรค ตั้งแต่ วันที่ 1 มกราคม – 29 มีนาคม 2558 ทั่วประเทศพบผู้ป่วยอาหารเป็นพิษ 30,259 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิตและพบผู้ป่วยโรคอุจจาระร่วง 247,212 ราย เสียชีวิต 3 รายตลอดทั้งปี 2557 ที่ผ่านมา พบผู้ป่วยอาหารเป็นพิษ134,516 ราย เสียชีวิต 1 ราย และพบผู้ป่วยโรคอุจจาระร่วง 1,106,900 ราย เสียชีวิต 8 รายดังนั้นในช่วงหยุดฉลองเทศกาลสงกรานต์ 11-15 เมษายน 2558 นี้ ขอให้ประชาชนเพิ่มความระมัดระวังในการรับประทานอาหารและน้ำดื่ม ไม่ว่าจะเป็นอาหารที่ปรุงเองที่บ้าน อาหารสั่งซื้อ หรือออกไปรับประทานอาหารตามร้านนอกบ้าน
นายแพทย์โสภณ กล่าวอีกว่า สำหรับอาหารที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคระบบทางเดินอาหาร ที่ประชาชนควรเพิ่มความระมัดระวังเป็นพิเศษ 10 เมนู ได้แก่ 1.ลาบ/ก้อยดิบ 2.ยำกุ้งเต้น 3.ยำหอยแครง 4.ข้าวผัดโรยเนื้อปู 5.อาหารหรือขนมที่มีส่วนประกอบของกะทิสด 6.ขนมจีน 7.ข้าวมันไก่ 8.ส้มตำ 9.สลัดผัก และ 10.น้ำแข็ง ที่ผลิตไม่ได้มาตรฐาน ควรรับประทานอาหารเฉพาะที่ปรุงสุกใหม่ อาหารทะเล ก็ขอให้ปรุงสุก หลีกเลี่ยงการปรุงโดยวิธีลวกหรือพล่าสุกๆ ดิบๆ ส่วนอาหารประเภทเนื้อสัตว์ หมู ไก่ และไข่ควรปรุงให้สุกก่อนรับประทานทุกครั้ง ไม่รับประทานแบบสุกๆ ดิบๆ นอกจากนี้อาหารถุง อาหารกล่อง ควรแยกกับข้าวออกจากข้าว และควรรับประทานภายใน 2- 4 ชั่วโมงหลังจากปรุงเสร็จ เพื่อป้องกันโรคอาหารเป็นพิษและโรคอุจจาระร่วงสำหรับอาหารเหลือต้องเก็บในตู้เย็นและทำให้สุกก่อนมารับประทานใหม่ แต่หากมีกลิ่นผิดปกติไม่ควรรับประทานเด็ดขาด
ด้านนายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ รองอธิบดีกรมควมคุมโรค กล่าวว่าการป้องกันทั้งสองโรคดังกล่าว ขอแนะนำให้ปฏิบัติ ดังนี้ ในกลุ่มผู้ประกอบการอาหาร ขอให้ปรุงอาหารให้สุกด้วยความร้อนทั่วถึงและสะอาดล้างผัก/ผลไม้ด้วยน้ำสะอาดหลายๆ ครั้ง หลีกเลี่ยงการใช้มีด เขียง หั่นอาหารดิบและอาหารสุกแล้วร่วมกัน เพื่อไม่ให้เกิดการปนเปื้อนเชื้อโรค ดูแลครัวให้สะอาด ส่วนผู้บริโภคขอให้ยึดหลัก "กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ" ได้แก่ 1.กินร้อน คือ รับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ๆ ในกรณีข้าวกล่อง อาหารถุง ต้องนำมาอุ่นให้ร้อนก่อนรับประทาน 2.ใช้ช้อนกลาง คือ เมื่อรับประทานอาหารในหมู่มากร่วมกัน ควรใช้ช้อนกลางในการตักอาหารและ 3.ล้างมือ คือ ต้องล้างมือให้สะอาดทุกครั้งก่อนรับประทานอาหาร ก่อนปรุงอาหาร หลังขับถ่าย และหลังสัมผัสสิ่งสกปรก
"โรคอาหารเป็นพิษและโรคอุจจาระร่วง มีอาการ คล้ายกัน คือ อาเจียน ปวดท้อง ถ่ายเหลวบ่อยครั้ง อาจมีไข้ ส่วนการดูแลเบื้องต้น ให้ดื่มน้ำละลายผงน้ำตาลเกลือแร่ (โอ อาร์ เอส) เพื่อป้องกันการขาดน้ำหากอาการไม่ดีขึ้น ยังถ่ายบ่อย รับประทานอาหารไม่ได้ กระหายน้ำมากกว่าปกติ หรืออุจจาระเป็นมูกปนเลือด ขอให้ไปพบแพทย์" นายแพทย์โอภาส กล่าวทิ้งท้าย