
รีวิวกินปลาอะราไพม่าที่กลางป่าแอมะซอน
เผยแพร่
อย่างที่รู้กันดี คราวนี้ เก่งกับฝ้ายเข้าป่าแอมะซอนเพื่อถ่ายทำรายการคราวนี้ เรามีภารกิจสำคัญอยู่หลายอย่างหนึ่งในนั้นคือการตามหาสัตว์นักล่าในลุ่มน้ำแอมะซอน อย่างปลา อะราไพม่า หรือปลาช่อนยักษ์แอมะซอน ใช่ค่ะ เข้าใจไม่ผิดหรอก ปลาที่ตัวใหญ่ๆ ราคาแพงๆ หน้าตาคล้ายๆกับปลามังกรที่เราเห็นตามตู้ปลาในโรงแรมนั่นแหล่ะ แต่ปลาอะราไพม่านี่ตัวใหญ่กว่าหลายเท่า
เมื่อพวกเราแจ้งความจำนงกับเพื่อนชาวป่าแอมะซอน ว่าจะมาทำความรู้จัก นักล่าเจ้าถิ่นอย่าง อะราไพม่า เพื่อนเราก็ถึงกับยิ้มหวาน แนวว่า ภารกิจพวกเอ็งนี้ สบายมากสำหรับข้า เพราะที่นี่คือเมือง มาราอา (Maraa) ชื่อเมืองที่แปลเป็นภาษาไทยให้เข้าใจง่ายๆ ว่า “ที่อยู่ของอะราไพม่า” เราก็ไม่รอช้า รีบพากันพายเรือลำน้อยเข้าไปในป่า ตามหาอะราไพม่าที่เพื่อนเราบอกว่ามีเยอะกันเลย
เราสลับกันพายเรือวนไปวนมา ลัดเลาะไปบนลำน้ำสาขาในป่าแอมะซอน ผ่านริมน้ำ เห็นชาวบ้านจับปลาอยู่ริมแม่น้ำสายใหญ่ สายเล็กเต็มไปหมด ส่วนพวกเราก็พายเรือไปเรื่อยๆ จนเข้าไปในเขตป่ารกๆ ทึบๆ น้ำนิ่งๆ มีต้นไม้สูงๆ คลุมไปหมด เพื่อนเราบอกว่าสิ่งที่กำลังจะได้เจอคือการจับปลาอะราไพม่าแบบดั้งเดิมด้วยภูมิปัญญาของคนที่นี่
เราทั้งหมดพายเรือเข้าไปในเวิ้งน้ำที่ล้อมด้วยต้นไม้ใหญ่ และเข้าไปด้วยเรือลำเล็ก โดยมีเจ้าถิ่นคือเพื่อนของเพื่อนเราอีกทีนำทาง ชายหนุ่มรูปร่างกำยำ ใช้มือข้างหนึ่งพายเรือไปช้าๆ อีกข้างยื่นไปในน้ำ รูดดูตาข่ายยักษ์ ตาข่ายประมาณ 20 เซนติเมตรเราสองคนเข้าใจได้ไม่ยากว่านี่คือความตั้งใจจับแต่ปลาใหญ่ ไม่เอาปลาเล็กเลย เพื่อนเราพายเรือช้าๆค่อยๆ ดูตาข่ายไปอย่างละเมียด (ขัดกับหน้าตาโหดๆ นิดหน่อย) พร้อมอธิบายให้เราฟังถึงวิธีสังเกตุดูฟองอากาศ ซึ่งหมายถึงว่ามีปลาออะราไพม่าติดอยู่ เขาก็สาธยายเล่าไปเรื่อยๆ แต่ว่าสุดท้ายก็ไม่มีปลาอะราไพม่าติดที่ตาข่าย
เพื่อนหนุ่มชาวบราซิลบอกว่า "สงสัยพวกยูต้องมาใหม่แล้วแหล่ะ มาอีกทีพรุ่งนี้ ตี 4 นะรอบเช้าเดี๋ยวพามา" เราสองคนถึงกับอ้าปากค้างแล้วบอกว่า "เหย!!! ต้องเช้าขนาดนั้นเลยเหรอ" เพื่อนเราเล่าต่อว่ายังไงก็ต้องเจอ "ไอมาจับปลาทีนี่ได้วันละ 4-5 ตัวเป็นอย่างน้อย แต่วันนี้จับไปแล้ว 7 ตัว พวกยูมาผิดเวลา"
ก่อนแยกย้ายเพื่อเราชวนไปนั่งเล่นที่บ้านริมคลอง (คลองแอมะซอนนั่นแหละ) เป็นเพิงเล็กๆ ริมแม่น้ำสาขาของแอมะซอน พวกเขากิน อยู่ หลับนอนที่นี่ พอเราไปถึงบ้านเขาเท่านั้นแหลล่ะ ข้างบ้านตรงลานโล่งๆ มีปลาอะราไพม่าที่ถูกแล่ไว้แล้วตากเต็มไปหมด พร้อมมีเหล่าแมลงมาดอมดม เหมือนกับที่บ้านเราเขาตากปลาแห้งนั่นแหละ
เพื่อนหนุ่มชาวแอมะซอนเขาว่า ปลาที่จับได้จะเอามาแล่ แบ่งเป็นชั้นๆ ตามความยาวตัวปลา ( เฉลี่ย 1-2 เมตร ตามอายุ ) แล้วทาเกลือ ตากไว้จนแห้ง ก่อนส่งขาย เพราะจะได้ราคาดีกว่าขายสดเป็นตัวๆ แล้วเราสองคนก็ได้ชิมปลา ที่เพื่อนเตรียมเอาไปขาย เก่งกับฝ้ายก็ลังเล ไม่คิดว่ามันจะกินได้ และไม่อยากกินเนื่องจากนึกถึงภาพปลาตัวยักษ์ในตู้สวยๆ ตามสวนน้ำ หรือโรงแรมบ้านเรา แต่เพื่อนเราบอกว่า “นี่คือวิถีคนป่าแอมะซอนเลย ต้องกินอะราไพม่า โอเคไหมยู และยูก็ต้องกินนะ เดี๋ยวจะหาว่าคนเมืองมาราอาไม่มีน้ำใจ” เราก็เลยรีบกิน เนื้อปลาตากแห้งที่ยังคงความฟู และดูน่ากินราวกับหมูทุบราคากิโลกรัมละหลายร้อยบาทแบบที่เขาขายตามร้านของฝากบ้านเรา
เราจัดกันไปชิ้นโต คำแรกที่สัมผัส น้ำตาแทบไหล โอ้โห เค็มมาก เค็มสุด แบบเค็มพุ่งออกมาเลย จนเพื่อนเราหัวเราะแล้วบอกว่า “ขอโทษนะที่ไม่ได้บอกว่ามันจำเป็นต้องเค็มเวอร์ๆแบบนี้แหละ เพราะต้องให้มันเก็บไว้ได้นาน และที่สำคัญคนมาราอา และคนทั่วไปที่กินอะราไพม่า เขาจะเอาไปล้างน้ำก่อนปรุง” ปั๊ดโธ่ ทำไมไม่บอกให้เร็วกว่านี้….
เจ้าปลาอะราไพม่าที่บ้านเราว่าราคาตัวละหลายหมื่นบางตัวเกือบแสนนั้น อยู่ที่นี่ขายราคากิโลกรัมละหลักร้อยบาท ชาวบ้านที่นี่จับได้วันละ 4-5 ตัวต่อครอบครัว 1 ตัว น้ำหนักเริ่มต้น ที่ 50 กิโลกรัม ลองไปคำนวณเล่นๆ ดูว่า เขาจะมีรายได้จากการจับปลาวันละเท่าไหร่ และถ้าตากแห้งราคาก็จะดีกว่าขายแบบเป็นตัวๆ อีกด้วย
ทั้งหมดนี้ก็เป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้คนที่นี่ ยังใช้วิธีจับปลาชนิดนี้แบบดั้งเดิม ไม่ใช้วิธีการจับแบบให้ได้ทีละเยอะๆ เพื่อสนองต่อระบบอุตสาหกรรมเข้ามาจับปลาในเขตนี้ เพราะนี่คืออู่ข้าวอู่น้ำของเขา ถึงแม้ว่าปลาอะราไพม่าจะมีเยอะและ ขยายพันธุ์เร็วมาก จับเท่าไหร่ก็ไม่หมด แถมกินไม่เลือก ทั้งพืช ทั้งปลาหรือสัตว์อื่นที่ตัวเล็กกว่า แต่คนที่นี่ก็บอกว่า ระบบของธรรมชาติจะสร้างสมดุลได้ดีกว่าระบบอุตสาหกรรม ในอีกทางหนึ่ง พวกเขาก็ไม่ได้ปฏิเสธการจัดการด้วยวิธีสมัยใหม่ การจัดเก็บ หรือการส่งออก นั้นก็ทำกับเป็นเรื่องเป็นราวภายใต้ “สมาคมประมงแห่งมาราอา” ซึ่งถือเป็นอีกหน่วยงานที่ทำหน้าที่มากกว่าอุตสาหกรรมประมงแต่ว่ายังมีระบบการคำนวณการจับปลาในแต่ละช่วงเวลาในลุ่มน้ำแอมะซอน ไม่ให้มากเกินไป และไม่ให้น้อยเกินไป เพื่อรักษาสมดุลในธรรมชาติด้วย
ติดตามการเดินทางครั้งนี้ของพวกเราได้ศุกร์ที่ 11 มกราคมนี้ เวลา 22.30 น. ทาง PPTV HD ช่อง 36
อัปเดตข่าวล่าสุดก่อนใคร Add friend ได้ที่ @PPTVOnline