ชิลีฝึก "สุนัข" ช่วยดมกลิ่นหาโควิด-19
สนามบินฟินแลนด์ใช้สุนัขดมหาโควิด-19
เมื่อสุนัขดมกลิ่นโควิด-19 พบเชื้อแล้ว มันจะนั่งลงอย่างที่เห็นในคลิป ซึ่งเป็นการบ่งบอกในเบื้องต้นว่า ตัวอย่างที่เก็บมา 1 ใน 6 ตัวอย่าง มีเชื้อโควิด-19 แต่หากไม่พบ สุนัขจะเดินวน และหาจนกว่าจะพบ โดยไม่ใช้การเห่าให้ส่งเสียงดัง
สัตวแพทย์หญิงเกวลี ฉัตรดรงค์ หัวหน้าโครงการวิจัย "การใช้สุนัขดมกลิ่นตรวจหาผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ที่ไม่แสดงอาการ" ระบุว่า การใช้สุนัขดมโควิด-19 มีในหลายประเทศ ส่วนประเทศไทยทดลองจากสุนัขพันธ์ลาบราดอร์ รีทรีฟเวอร์ 6 ตัว ซึ่งเป็นที่แรกในไทย และได้ผลความแม่นยำถึง 94.8% ถือว่าเทียบเคียงกับสถิติการดมกลิ่นโควิดกับต่างประเทศได้
วิธีการดมกลิ่นหาผู้ติดเชื้อโควิด-19 เจ้าหน้าที่จะใช้สำลีชุบเหงื่อใต้รักแร้ และนำมาใส่กระป๋อง เพื่อให้สุนัขดมกลิ่นคัดแยกจากผู้ที่มีเชื้อและไม่มีเชื้อ ซึ่งใช้เวลาไม่กี่วินาที
ด้านสัตวแพทยหญิงสมพร เตชะงามสุวรรณ ภาควิชาพยาธิวิทยา คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย อธิบายถึงประเด็นที่หลายฝ่ายกังวลว่า โควิด-19 จะติดต่อไปยังสัตว์เลี้ยงหรือไม่ว่า มีความเป็นไปได้ แต่ขึ้นอยู่กับความใกล้ชิดและการสัมผัส เพราะสุนัขที่นำมาฝึก จะต้องเว้นระยะห่างในการทดลอง ส่วนครูผู้ฝึกก็มีการป้องกันและมีแพทย์คอยแนะนำใกล้ชิด รวมถึงมีการคัดแยกขยะติดเชื้อไปทำลายตามขั้นตอนอย่างถูกวิธี ซึ่งหากสุนัขติดโควิด-19 จะใช้วิธีการรักษาเดียวแบบมนุษย์
การศึกษาวิจัยโครงการนี้ใช้เวลาราว 6 เดือน แต่ยังไม่สามารถออกปฏิบัติการจริงได้ เพราะต้องฝึกต่ออีก 2 เดือน เบื้องต้นโครงการใช้เจ้าหน้าที่กองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดนที่ 43 จ.สงขลา เป็นผู้ฝึกสุนัข 6 ตัว ประกอบด้วย "ไทเกอร์ อพอลโล่ แองเจิล บ๊อบบี้ นาซ่า และบราโว่" เป็นสุนัขพันธุ์ลาบราดอร์ วัย 6-7 เดือน ทั้งหมดไม่เคยผ่านการฝึกใดๆ มาก่อน
สัตวแพทย์หญิงจุฑามาส เบ็ญจนิรันดร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านพฤติกรรมสุนัข ระบุว่า สุนัขไม่จำเป็นต้องเป็นพันธ์ลาราดอร์ เท่านั้น แต่สุนัขสายพันธ์อื่นๆ สามารถฝึกให้ดมโควิด-19ได้ แต่สาเหตุที่ใช้ลาบราดอร์ เป็นต้นแบบ เพราะเป็นสุนัขที่เป็นมิตร และลดภาพความดุร้ายลง โดยสุนัขที่ดมกลิ่นได้ดี ส่วนใหญ่จะมีจมูกยาว
ส่วนแนวทางการพัฒนาโครงการ เบื้องต้นถูกแบ่งเป็น 3 เฟส เฟสแรกประสบความสำเร็จแล้ว คือการทดลองความสามารถของสุนัข
เฟสที่ 2 คือ การจูงสุนัขไปปฏิบัติการจริง ซึ่งจะต้องออกแบบว่า จะดมแบบไหน อย่างไร ระยะห่างเท่าใด เบื้องต้นจะนำไปทดลองตามสนามบิน ท่าเรือ และเกาะที่มีนักท่องเที่ยวจำนวนมาก
เฟสสุดท้าย คือการต่อยอดจากสารระเหยทางวิทยาศาสตร์ ที่ระบุว่า ผู้ติดเชื้อโควิด-19 จะมีสารระเหยบางอย่างเจือปนอยู่ หากค้นคว้าสำเร็จ จะให้สุนัขดมกลิ่นผู้ป่วยเบาหวาน ซึมเศร้า มาลาเรีย และพัฒนาเป็นเครื่องตรวจในอนาคต