จากเหตุระเบิดและเพลิงไหม้ภายในโรงงานผลิต เม็ดโฟมและพลาสติก บริษัท หมิงตี้ เคมีคอล จำกัด เลขที่ 87 หมู่ 15 ซอยกิ่งแก้ว 21 ถนนกิ่งแก้ว ตำบลบางพลีใหญ่ อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ ส่งผลให้ สารสไตรีนโมโนเมอร์ ซึ่งเป็นตัวทำละลายและเป็นสารไวไฟในกลุ่มอะโรมาติกไฮโดรคาร์บอน ซึ่งมีขนาดมากกว่า 2,000 ลิตร ที่ถูกกักเก็บอยู่ในพื้นที่ ระเหยและกระจายออกไปในอากาศ โดยรอบในรัศมีประมาณ 5 กิโลเมตร จากโรงงาน
ผู้อพยพแน่น อบต.บางพลีใหญ่ เผย นาทีเฉียดตาย
ทีมข่าวพีพีทีวี จึงได้สอบถามไปยัง นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ว่าหากเปรียบเทียบผลกระทบด้านมลพิษ จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น กับเหตุเพลิงไหม้บ่อขยะแพรกษา เมื่อปี 2557 แล้ว เหตุการณ์ไหน ส่งผลกระทบรุนแรงกับประชาชนมากกว่ากัน
โดยนายอรรถพล ระบุว่า เหตุการณ์ไฟไหม้โรงงานผลิต เม็ดโฟมและพลาสติก จะสร้างความเสียหายด้านมลพิษมากกว่าเหตุการณ์ไฟไหม้บ่อขยะแพรกษา อย่างแน่นอน เนื่องจากเพลิงไหม้ที่เกิดขึ้นล่าสุด เป็นเพลิงไหม้ที่เกี่ยวข้องกับสารเคมีที่ถูกปลดปล่อยออกมา ส่งผลกระทบต่อร่างกายมนุษย์ อีกทั้งยังเป็นสารก่อมะเร็งได้ด้วย
ซึ่งต่างกับเหตุเพลิงไหม้บ่อขยะแพรกษา ที่เป็นขยะทั่วไป แม้จะมีการปลดปล่อยมลพิษ แต่ความเข้มข้นที่เกี่ยวกับสารเคมีนั่น เทียบไม่ได้กับเหตุเพลิงไหม้โรงงานผลิตเม็ดโฟมและพลาสติก และหากเทียบมูลค่าความเสียหายด้านมลพิษ ครั้งนี้ย่อมสูงกว่าครั้งที่ผ่านมา
นอกจากนี้ ทางกรมควบคุมมลพิษ จะส่งทีมลงพื้นที่เพื่อตรวจวัดคุณภาพบรรยากาศในพื้นที่โดยรอบ พบว่าอยู่ในเกณฑ์ค่าขีดจำกัดการรับสัมผัสสารเคมีทางการหายใจแบบเฉียบพลัน หรือไม่ เพื่อเตือนประชาชน และหลังจากเพลิงสงบจะตรวจสอบสภาพอากาศโดยรอบโรงงานอีกครั้ง เพื่อประเมินดูความเสียหายทางด้านมลพิษก่อนจะหาตัวผู้รับผิดชอบ
ขณะที่ ผศ.ดร.สุรัตน์ บัวเลิศ คณบดีคณะสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ หัวหน้าโครงการติดตามลักษณะทางอุตุนิยมวิทยาใกล้ผิวดินและมลสารทางอากาศสำหรับประเทศไทยก็ ยอมรับว่าเหตุเพลิงไหม้ ที่เกิดขึ้นมีความรุนแรงมากกว่า เหตุเพลิงไหม้บ่อขยะแพรกษา
เนื่องจากกระบวนการเผาไหม้ เมื่อครั้งบ่อขยะแพรกษาแม้จะมีมลพิษ แต่ก็เป็นเพียงกากอุตสาหกรรมปริมาณน้อย แต่ในขณะที่การเผาไหม้ในโรงงานนั้นเปรียบเสมือนกับเป็นหัวเชื้อสารเคมี เมื่อผ่านกระบวนการเผาไหม้ จึงปล่อยสารที่ชื่อ คาสิโนจินิกซ์ ( Carcinogens) หรือสารก่อมะเร็ง ในปริมาณที่มากกว่าหลายเท่า
และในการประเมินด้วยสายตา ดูจากควัน ถ้ายิ่งกระบวนการการเผาไหม้ยิ่งกินเวลานานก็จะยิ่งส่งผลให้การปนเปื้อนของสารเคมี มีความเข้มข้นสูงขึ้น
นอกจากนี้ ผศ.ดร.สุรัตน์ ยังฝากถึงประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงในรัศมี 5 กิโลเมตร ให้ระวังช่วงเวลาเย็นก่อนค่ำ ซึ่งช่วงนี้จะเป็นช่วงที่อันตรายที่สุด เนื่องจากจะเป็นช่วงที่ ที่สารเคมีจะปนเปื้อนในอากาศสูง สืบเนื่องจากชั้นบรรยากาศมีการจมตัวลง ดังนั้นใครอยู่ใกล้พื้นที่จะได้กลิ่นสารเคมีที่รุนแรงมากขึ้นตามด้วย
ดังนั้นผู้ที่อยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงจุดเกิดเหตุควรอพยพออกจากพื้นที่และไปพักอาศัยในจุดอื่นจนกว่าเจ้าหน้าที่จะสามารถควบคุมเพลิงได้ แล้วรออีก 1 วันค่อยกลับเข้าบ้านและเช็ดล้างทำความสะอาดบ้านเรือนด้วยน้ำสะอาด