จากแนวคิด เถียงนาโมเดล ของ ศบค. ที่มีแนวคิดให้ผู้ป่วยไม่รุนแรง กักตัวที่บ้านเกิดโดยใช้เถียงนาเป็นที่กักตัวเพื่อดูอาการ 14 วัน นี่เป็นเถียงนาของชาวนา ในต.มารวิชัย อ.เสนา จ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งพบว่ามีสภาพเก่า ทำด้วยสังกะสีเก่าๆ และไม้ผุๆ บางจุดมีรูรั่ว และเต็มไปด้วยสนิม ภายในมีมุ้ง หมอน และผ้าห่ม รวมถึงอุปกรณ์ที่ใช้ในการทำไร่ โดยเถียงนาตั้งอยู่บริเวณริมทุ่งนา และห่างไกลตัวชนบท
ชาวบ้านผวา! ถูกยึดเถียงนามั่วสุมทางเพศ
รู้จัก "เถียงนา" ภูมิปัญญาชาวบ้าน คุณประโยชน์หลากหลาย
นายฐิติวัฒน์ กลีบมาลัย ชาวนาในหมู่บ้าน บอกว่า เถียงนาไม่ได้เหมาะแก่การพักอาศัยหรือนำมากักตัว 14 วัน เพราะขนาดชาวนายังอยู่เพียง 2-3 วันเท่านั้น และเป็นการอยู่เพื่อเฝ้านาและเครื่องสูบน้ำ ที่สำคัญเถียงนาเป็นสถานที่ชั่วคราว ไว้เก็บอุปกรณ์หรือพักเหนื่อยของชาวนา และในทุ่งนายังมีสิ่งที่เป็นอันตราย และอุปสรรคอีกมากมาย ทั้งยุง ฝนตก อากาศร้อน งูเห่า งูหลามตัวเงินตัวทอง สัตว์มีพิษอื่นๆ โจร ขโมยเครื่องสูบน้ำ เส้นทางลำบากเป็นโคลนตมเวลาฝนตก ไกลชุมชน ไม่มีน้ำ-ไฟฟ้า หรือมีอย่างใดอย่างหนึ่ง ที่สำคัญยังทำให้มองได้ว่าเหมือนรัฐผลักภาระมาให้ต่างจังหวัดหรือไม่
นายฐิติวัฒน์ ยังบอกด้วยว่า การตีความของเถียงนา ในความคิดของ ศบค. อาจไม่ตรงกับชาวบ้าน เพราะเถียงนา ส่วนใหญ่จะลักษณะหน้าตาเหมือนกัน เว้นแต่จะเป็นบ้านน็อคดาว หรือบ้านสวน ซึ่งก็จะเป็นคนที่มีฐานะทางการเงิน ส่วนใหญ่เถียงนาทำด้วยครึ่งไม้ ครึ่งสังกะสี หลังคาส่วนใหญ่มุงด้วยสังกะสี ฝาผนังเป็นสังกะสีส่วนใหญ่ โดยเฉพาะคนที่เป็นชาวนาจริงๆ หากจะทำให้เถียงนาสามารถอยู่ได้ก็ต้องเสียเงินปรับปรุง
ด้านนางสาวอลิศา พ่วงจีน ชาวนาในพื้นที่ บอกว่า ส่วนตัวมองว่า ควรไปใช้ วัด หรือ โรงเรียนแทน เพราะ2 สถานที่นี้จะอยู่ใกล้การช่วยเหลือกรณีฉุกเฉิน และมองว่า น่าจะเหมาะกว่า หากให้คนปวยมาพักรักษาตัวหรือเฝ้าดูอาการ
ทีมข่าว PPTV ทดลองใช้ชีวิตในเถียงนาประมาณ 30 นาที ในช่วงเวลา 12.30-13.00 น. ใน ต.มารวิชัย อ.เสนา จ.พระนครศรีอยุธยา พบว่า การใช้ชีวิตไม่ได้สบาย แม้จะดูว่าสถานที่ปลอดโปร่งและตั้งอยู่กลางทุ่งนา แต่เมื่ออยู่ด้านใน อากาศค่อนข้างร้อนและอบอ้าว ทำให้ไม่รู้สึกสบายตัว ต้องใช้พัดช่วยคลายร้อน และแม้จะมีมุ้งในเวลากลางคืน แต่ก็เสี่ยงต่อสัตว์อันตรายมากมาย อย่างเช่นงู
-จากการสำรวจเถียงนาในพื้นที่จ.พระนครศรีอยุธยา ทีมข่าวพบ 3 เถียงนามีรูปแบบลักษณะคล้ายๆกัน
-เถียงนา หลังแรก เป็นลักษณะเปิดโล่ง ใช้หลังคาสังกะสีมุง เป็นที่พักหลบแดด หลบฝนได้ ข้างในมีที่นอน มุ้ง หมอน สำหรับนอน
-เถียงนา หลังที่สอง รูปแบบลักษณะคล้ายๆกับหลังแรก หลังคามุงด้วยสังกะสี ข้างในมีแคร่ ไว้สำหรับนอน
-เถียงนา หลังที่สาม เป็นรูปแบบเถียงนา ใช้สังกะสีปิดทำเป็นที่พักหลบแดด หลบฝน
ซึ่งทั้ง 3 เถียงนา ไม่มีห้องน้ำ
แต่ในทางกลับกันก็มีคนที่ใช้ชีวิตจริง ในเถียงนา และสามารถอยู่ได้ คือนายอัมรินทร์ ระยับศรี บ้านโจด ต.สำโรงปราสาท อ.ปรางค์กู่ จ.ศรีสะเกษ ได้วีดิโอคอลกับทีมข่าวเผยประสบการณ์ กักตัวในเถียงนาให้ฟังว่า ตนเองใช้ชีวิตที่เถียงนาแห่งนี้ได้ 4 วันแล้ว หลังเจ้าหน้าที่ไม่ให้เคลื่อนย้ายไปไหน นายอัมรินทร์ บอกว่าสามารถอยู่ได้ แต่ถ้าวันไหนมีพายุฝน ก็ค่อนข้างลำบาก เพราะฝนจะสาดเข้ามาเปียกหมด รวมถึงความรุนแรงของพายุทำให้เถียงนาพังเสียหาย สังกะสีหลุด ต้องซ่อมใหม่ รวมถึงพื้นที่ก็เปียกแฉะเต็มไปด้วยโคลน ซึ่งยากต่อการเดินทางเข้ามาส่งข้าวส่งน้ำให้ ตนเองยอมรับว่า เถียงนานี้เพิ่งสร้างขึ้นมา เพื่อกักตัวโดยเฉพาะ ซึ่งเป็นเงินน้ำพักน้ำแรงของตัวเองที่ไปทำงานที่ จ.นครปฐม ใช้งบประมาณอยู่ ที่ 2,000-3,000 บาท
นายอัมรินทร์ยังบอกด้วยว่า ในส่วนของมาตรการ วันแรกที่กลับมาที่บ้านเจ้าหน้าที่ ย้ำไม่ให้ตัวเองไปไหน หากไม่ฟังจะใช้มาตรการทางกฎหมาย ซึ่งระหว่างการที่ใช้ชีวิตที่เถียงนา จะมีเจ้าหน้าที่อาสาสมัครหมู่บ้านเข้ามาตรวจสุขภาพของผู้ที่มากักตัวที่เถียงนา โดยใช้เครื่องวัดอุณภูมิ แล้วก็ไป แต่หากรายใดมีอาการ หรือมีไข้ ก็จะมีการประสานส่งโรงพยาบาลเพื่อรักษา ส่วนเรื่องอาหารการกิน ก็จะมีญาติๆ นำมาให้ โดยผูกไว้ที่เสา หรือวางไว้