รถไฟชานเมืองสายสีแดงรับก่อมลพิษทางเสียงเร่งออกกฎหมายคุมระดับเสียง


โดย PPTV Online

เผยแพร่




กรมการขนส่งทางรางยอมรับรถไฟชานเมืองสายสีแดงมีระดับเสียงเกินในบางพื้นที่ เร่งติดตั้งกำแพงกันเสียง ลดใช้แตร และเตรียมออกกฎหมายคุมระดับเสียง

กรมการขนส่งทางรางชี้แจงประเด็นที่ถูกร้องเรียนว่า รถไฟฟ้าสายสีแดง ก่อมลพิษทางเสียงและสร้างความสั่นสะเทือนรบกวนความเป็นอยู่ประชาชน โดยยอมรับว่า มีปัญหาจริงในบางพื้นที่หลังจากลงพื้นที่สำรวจและวัดระดับเสียงจากบ้านเรือนประชนที่อาศัยอยู่ในแนวเส้นทางเดินรถ จึงจะแก้ไขปัญหาด้วยการเร่งติดกำแพงกันเสียง ปรับเวลาซ้อมเดินรถใหม่ ลดการใช้แตร และ จะออกกฎหมายควบคุมระดับเสียงกับความสั่นสะเทือนของรถไฟฟ้าเพื่อควบคุมในระยะยาว

ก่อนทดลองไปนั่งฟรี 3 เดือน ทำความรู้จักรถไฟชานเมืองสายสีแดง เชื่อม บางซื่อ-รังสิต และ บางซื่อ-ตลิ่งช...

รู้จัก "สถานีกลางบางซื่อ" ในฐานะ “สถานีรถไฟหลัก” แห่งใหม่ของไทย

กรณีที่นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินและผู้ว่าสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2564 เนื่องจากมีประชาชนร้องเรียนมายังสมาคมฯ ว่า ได้รับผลกระทบจากปัญหาเสียงดังและความสั่นสะเทือนจากการเดินรถไฟฟ้าสายต่างๆ โดยล่าสุด คือ รถไฟชานเมืองสายสีแดง ซึ่งได้ก่อปัญหามลพิษทางเสียง และความแรงสั่นสะเทือนรบกวนความเป็นอยู่ประชาชน พร้อมทั้งระบุว่า ได้ร้องเรียงไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายครั้งแล้ว แต่ไม่มีการดำเนินการใดๆ เพื่อแก้ไขปัญหา

กรมการขนส่งทางราง ชี้แจงว่า การดำเนินโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าและรถไฟชานเมืองในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลได้มีการดำเนินการออกแบบและวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม โดยมีการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (Environment Impact Assessment : EIA) ตามมาตรา 46 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งรายงาน EIA ได้มีการวิเคราะห์ผลกระทบเรื่องเสียงและความสั่นสะเทือนให้มีค่าเป็นไปตามมาตรฐาน โดยมีการกำหนดให้ติดตั้งกำแพงกันเสียงในบริเวณที่มีชุมชนและพื้นที่อ่อนไหว เช่น โรงเรียน โรงพยาบาล วัด ศาสนสถาน โบราณสถาน ที่อยู่ใกล้เคียงสองข้างทางรถไฟ

โครงการระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ช่วงรังสิต-บางซื่อ-ตลิ่งชัน ที่ได้รับร้องเรียนเรื่องปัญหามลพิษทางเสียงและความสั่นสะเทือน เป็นโครงการที่ได้ดำเนินการศึกษาออกแบบและจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง โดยรายงาน EIA ผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการผู้ชำนาญการฯ และต่อมาคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติได้มีมติเห็นชอบรายงาน EIA ในช่วงบางซื่อ-รังสิต เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2548 และช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2549  ปัจจุบัน รฟท. ได้เปิดให้บริการเดินรถอย่างไม่เป็นทางการเมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2564 ที่ผ่านมา โดยพบว่า หลังจากมีการเดินรถไฟฟ้า มีประชาชนที่อยู่สองข้างทางรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชันได้ร้องเรียนเรื่องเสียงมายังกรมการขนส่งทางราง (ขร.)

เพื่อเป็นการตรวจสอบประเด็นปัญหาและเร่งแก้ไขปัญหาดังกล่าว กรมการขนส่งทางรางจึงได้ลงพื้นที่ตรวจวัดค่าระดับเสียงในเบื้องต้นร่วมกับบริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด (รฟฟท.) ผู้ให้บริการเดินรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2564 ด้วยเครื่องมือตรวจวัด บริเวณนอกขบวนรถไฟฟ้าขณะวิ่งและที่บ้านประชาชนผู้ร้องเรียน เพื่อหาวิธีการลดผลกระทบจากเสียงการให้บริการเดินรถไฟฟ้าต่อประชาชน

จากการลงพื้นที่พบว่า มีบางจุดที่อาจมีค่าระดับเสียงเกินค่ามาตรฐานที่ประกาศของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ฉบับที่ 15 พ.ศ.2540 เรื่อง การกำหนดระดับเสียงโดยทั่วไป โดย ขร. ได้หารือร่วมกับ รฟฟท. โดยมีข้อสรุปร่วมกัน ดังนี้

1. รฟฟท. ปรับแผนการฝึกซ้อมการเดินรถจากเดิมหลังสิ้นสุดการให้บริการจนถึงเวลา 04.00 น. เป็นฝึกซ้อมการเดินรถไม่เกินเวลา 24.00 น.

2. รฟฟท. กำชับให้พนักงานควบคุมรถไฟฟ้าใช้แตรเฉพาะเท่าที่จำเป็น

3. รฟท. พิจารณาดำเนินการติดตั้งกำแพงกันเสียงบริเวณที่มีชุมชนใกล้เขตทางรถไฟ เพื่อลดผลกระทบทางเสียงให้กับประชาชน

4. รฟท. พิจารณาดำเนินการปิดทางลักผ่าน/ติดตั้งรั้วกั้นเพื่อป้องกันผู้บุกรุกเข้ามาในเขตการเดินรถ ซึ่งมีความเสี่ยงอันตรายต่อการเดินรถ และทำให้ต้องมีการใช้แตร

5. รฟท. และ รฟฟท. ดำเนินการตรวจสอบและซ่อมบำรุงทางให้อยู่ในสภาพที่ดี เพื่อลดผลกระทบทางเสียงโดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณทางโค้ง

โดย ขร. จะได้ดำเนินการติดตามการดำเนินงานในการแก้ไขปัญหา และ ขอยืนยันให้ได้ทราบว่าเมื่อปรับแก้ไขตามที่ระบุไว้แล้ว จะไม่เกิดปัญหามลพิษทางเสียงและความสั่นสะเทือนจากการเดินรถไฟฟ้าขึ้นอีกแน่นอน 

ที่ผ่านมาได้มีการร้องเรียนจากประชาชน เรื่องเสียงจากการเดินรถไฟฟ้าในเขตเมืองสายทางอื่นๆ ซึ่งกรมการขนส่งทางรางได้ลงพื้นที่ร่วมกับผู้ให้บริการเดินรถไฟฟ้า เพื่อวัดค่าระดับเสียงและหาสาเหตุบริเวณที่มีค่าระดับเสียงเกินค่ามาตรฐาน โดยกรมการขนส่งทางรางได้ให้ข้อแนะนำกับผู้ให้บริการเดินรถไฟฟ้า เพื่อดำเนินการแก้ไขและลดระดับเสียงตามมาตรฐาน UIC ของ The International Union of Railways  และมาตรฐานยุโรป (European Norm : EN) รวมทั้งดำเนินการตรวจวัดค่าระดับเสียงโดยสถาบันการศึกษาที่เชื่อถือได้เป็นประจำ โดยต่อมาผู้ให้บริการเดินรถได้ดำเนินการเจียราง (Track Grinding) บริเวณทางโค้ง ซึ่งหลังจากดำเนินการแล้วระดับเสียงลดลงจนเป็นที่พอใจต่อประชาชนผู้ร้องเรียน โดยไม่มีข้อร้องเรียนเกิดขึ้นอีก

ปัจจุบัน กรมการขนส่งทางรางได้เตรียมพร้อมในการออกกฎหมายระดับรอง ว่าด้วยเรื่อง การควบคุมระดับเสียงและความสั่นสะเทือนของการขนส่งทางราง ภายใต้ร่างพระราชบัญญัติการขนส่งทางราง ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เพื่อใช้เป็นแนวทางในการกำกับติดตามการดำเนินโครงการระบบรางให้เป็นไปตามกฎหมายระดับรองดังกล่าวรวมถึงกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง

 

PR - ตารางคะแนน-2_B PR - ตารางคะแนน-2_B
TOP สังคม
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ