กสศ.ชง 6 ข้อเสนอ ผู้ว่าฯกทม. แก้ปัญหานักเรียน หลุดจากระบบการศึกษา

โดย PPTV Online

เผยแพร่

กสศ.ชี้แนวทางผู้ว่าฯกทม.คนใหม่ เร่งแก้ปัญหาการศึกษาในพื้นที่ กทม. เสนอแนวทางช่วยเหลือ ของบอุดหนุน-จัดสวัสดิการ นร.

ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) แสดงความกังวลถึงสถานการณ์เด็กหลุดจากระบบการศึกษาในช่วงเปิดภาคเรียนเดือนพฤษภาคมที่จะถึงนี้ หลังผลสำรวจของ กสศ. ในปี 2564 พบเด็กกรุงเทพมหานคร ไม่ได้เรียนต่อ 646 คน และตัวเลขนี้ยังไม่รวมบางครอบครัวที่พาลูกย้ายถิ่นฐานกลับภูมิลำเนาในช่วงโควิด-19 แล้วไม่ได้กลับมาเรียน

สาเหตุที่ต้องจับตาดูสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ดร.ไกรยส เปิดเผยว่า เพราะพื้นฐานของเด็กยากจนในกรุงเทพ จนกว่าค่าเฉลี่ยของทั้งประเทศ 

คนกรุงไม่เชื่อ "นโยบายกีฬา" ว่าที่ผู้ว่าฯ กทม.

ผู้เชี่ยวชาญชี้การศึกษาไทยซัด นร.ศักยภาพต่ำ-ใช้งานได้ 30% (คลิป)

โดยเส้นความยากจนที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สศช. กำหนดไว้ เด็กยากจนทั้งประเทศมีรายได้ต่ำกว่า 2,762 บาทต่อคนต่อเดือน ในขณะที่ครอบครัวนักเรียนยากจนในกรุงเทพฯ มีรายได้เพียง 1,964 บาทต่อคนต่อเดือน

ซึ่งจากฐานข้อมูลของ กสศ. กรุงเทพมหานครมีนักเรียนยากจนจำนวน 1,488 คน และนักเรียนยากจนพิเศษอีก 1,408 คน นี่เป็นตัวเลขที่สำรวจพบในโรงเรียนเฉพาะสังกัด สพฐ. ไม่รวมโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร และยังไม่รวมเด็กนอกระบบการศึกษา

พื้นฐานความยากจนที่มีอยู่เป็นทุนเดิม ประกอบกับสถานการณ์โควิดทำให้ครอบครัวขาดรายได้ เด็กยากจนใช้ช่วงเวลาเรียนออนไลน์ไปทำงานช่วยครอบครัว ขณะที่ค่าครองชีพทยอยเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้สถานการณ์ในปี 2565 ยิ่งน่าเป็นห่วง ซึ่งผู้จัดการ กสศ. มองว่า หากผู้ว่าฯ กทม. ไม่เร่งแก้ไข นอกจากอนาคตเด็กอาจเข้าไปสู่วังวนอาชญากรรมแล้ว ยังทำให้กรุงเทพเสียโอกาสที่จะทำให้ครอบครัวในชุมชนแออัดหลุดพ้นจากความยากจนและได้ใช้ศักยภาพที่มีช่วยพัฒนาเมืองในอนาคต

ปัญหานี้ กสศ. เสนอ 6 แนวทางไปยังผู้ว่าฯ กทม. เร่งแก้ไขปัญหา คือ

  • จัดสรรเงินอุดหนุนให้แก่นักเรียนยากจนพิเศษสังกัด กทม. โดยเชื่อมโยงข้อมูลให้ กสศ. สามารถเข้าไปสนับสนุนทุนเสมอภาคให้กับนักเรียนได้
  • จัดบัตรสวัสดิการนักเรียนและรถรับ-ส่งนักเรียนในชุมชนแออัด 641 ชุมชน เพื่อลดภาระค่าเดินทาง
  • เพิ่มศูนย์สร้างโอกาสเด็กของ กทม. จาก 7 ศูนย์เป็น 50 ศูนย์ กระจายตัวอยู่ทุกเขต
  • ปลดล็อกพื้นที่ให้ภาคประชาสังคมและเอกชนเข้ามาทำพื้นที่การเรียนรู้ให้กับเด็ก
  • ยกระดับคุณภาพศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียน กทม. เพื่อดูแลครอบครัวเด็กยากจน
  • วางระบบดูแลช่วยเหลือกลุ่มเด็กเปราะบางในวิกฤตโควิด-19 โดยบูรณาความร่วมมือทั้งหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และประชาสังคมเข้าไปทำงานเชิงรุกในชุมชน

โดย ดร.ไกรยศ มองว่า ข้อเสนอหลายข้ออาจไม่ต้องใช้งบประมาณของกทม.ด้วยซ้ำ ซึ่งผู้ว่าฯกทม.จะมีบทบาทสำคัญในการกำหนดนโยบายที่ชัดเจนและประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
 

Bottom-PL-HLW Bottom-PL-HLW

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

PPTVHD36

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ