พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า ได้รับรายงานจากกองบัญชาการศึกษา (บช.ศ.) กรณีมีการร้องเรียนเรื่องทุจริตการสอบข้าราชการตำรวจสายอำนวยการ ว่า หลังการสอบเสร็จสิ้น ได้มีการแจ้งเบาะแสในวันรุ่งขึ้น คือ วันที่ 28 พ.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งทางกองบัญชาการศึกษา ไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้เก็บรวบรวมข้อมูล ประกอบการสืบสวน ตรวจสอบข้อเท็จจริงโดยเร่งด่วน
“บลูมาร์ก” ทวิตเตอร์คัมแบ็ก ผู้ใช้ไอโฟนจ่าย “ค่ายืนยันตัวตน” แพงกว่า
นักข่าวเสียชีวิตระหว่างทำข่าวฟุตบอลโลก 2022 เป็นรายที่สอง
ซึ่งกรณีโพยคำตอบพบว่า มีการเฉลยตรงกับปัญหาข้อสอบในหลายข้อ แต่ในชั้นนี้กำลังตรวจสอบว่า ถูกนำมาใช้ขณะเข้าสอบ หรือเป็นการทำขึ้นภายหลังการสอบเสร็จสิ้นแล้ว ซึ่งทาง กองบัญชาการศึกษา ได้แต่งตั้งคณะทำงาน มาทำการสืบสวนตรวจสอบก่อนหน้านี้แล้ว
ส่วนกรณีทุจริตสอบเข้าเป็นนักเรียนนายสิบตำรวจ รุ่น 2 ของตำรวจภูธรภาค 9 เมื่อเดือน มี.ค.2565 นั้น เป็นคนละกรณีกับเรื่องนี้ แต่เพื่อให้การดำเนินการทั้งสองกรณีเป็นไปด้วยความรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ จึงได้มอบหมายให้ พล.ต.ท.นิรันดร เหลื่อมศรี ผู้ช่วย ผบ.ตร. เข้าไปรับผิดชอบและกำกับดูแลทั้ง 2 เหตุการณ์
ในส่วนของประเด็นการทุจริตสอบนายสิบตำรวจ ล่าสุด ตำรวจภูธรภาค 9 (ผบช.ภ. 9) ให้ศูนย์ฝึกอบรม ตำรวจภูธรภาค 9 (ศฝร.ภ.9.) แจ้งความเอาผิดทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องรวมถึงนายหน้ารับเงินผู้เข้าสอบแล้ว เบื้องต้นพบมี 35 คน และยังพบว่าผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทุจริต มีตั้งแต่ตำรวจ ระดับรองสารวัตร อำนวยการ ตำรวจภูธรภาค 9 จนกระทั่ง ตำรวจคุมสนามสอบ และโรงเรียนกวดวิชา ที่ทำหน้าที่ในการจัดหา ผู้สมัครสอบที่ต้องการคำตอบ โดยผู้สมัคร จะต้องเสียค่าดำเนินการ หัวละ 500,000 บาท
จากข้อมูลที่พบ หากดูในส่วนของการตรวจสอบเส้นทางการเงิน การทุจริตสอบตำรวจนายสิบ คณะทำงานตรวจสอบ พบว่า มี 2 สามีภรรยา ที่เชื่อว่ามีส่วนเกี่ยวข้อง คือ นายณัชธรรมรงค์ และ น.ส.รุ่งทิพย์ (สงวนนามสกุล) พบมีการทำธุรกรรมการเงิน โดยช่วงระหว่างวันที่ 9 - 25 ธ.ค.64 มี ผู้เข้าสอบ และญาติ ผู้เข้าสอบ 3 คน โอนเงินให้ น.ส.รุ่งทิพย์ รวม 1,640,000 บาท จากนั้น นายณัชธรรมรงค์ โอนเงินไปหา น.ส.รุ่งทิพย์ จำนวน 8,000,000 บาท
จากนั้น ในเดือน ม.ค.65 มี ร.ต.อ.หญิง ซึ่งเป็น พี่สาว น.ส.รุ่งทิพย์ โอนเงินให้ น.ส.รุ่งทิพย์ จำนวน 17 ครั้ง รวมเป็นเงิน 13,700,000 บาท วันที่ 29 มี.ค.65 น.ส.รุ่งทิพย์ โอนเงินให้ สามี ร.ต.อ.หญิง (พี่สาว น.ส.รุ่งทิพย์) จำนวน 3,000,000 บาท วันที่ 30 มี.ค.65 ร.ต.อ.หญิง โอนเงินให้ น.ส.รุ่งทิพย์ จำนวน 500,000 บาท และระหว่างเดือน ม.ค.-มี.ค.65 พบธุรกรรมการเงินระหว่าง ร.ต.อ.หญิง กับ สามี จำนวน 10 ครั้ง รวมเป็นเงิน 7,274,580 บาท รวมการตรวจสอบ พบบัญชีของ ร.ต.อ.หญิง มียอดเงินเคลื่อนไหว รวม 16 ล้านบาท และ พบบัญชี น.ส.รุ่งทิพย์ มียอดเงินเคลื่อนไหวรวม 33 ล้านบาท
สำหรับการทุจริตการสอบเข้ารับราชการ นักเรียนนายสิบตำรวจ รุ่นที่ 2 ในพื้นที่ตำรวจภูธรภาค 9 เหตุเกิดเมื่อเดือน มีนาคม 2565 และมีข้าราชการตำรวจที่อาจเกี่ยวข้องกับกระบวนการในการทุจริตในการสอบดังกล่าว เป็นเหตุให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ได้ตรวจสอบความคืบหน้ากรณีดังกล่าว กับตำรวจภูธรภาค 9 จากข้อมูลล่าสุด พบว่า
- คัดกรอง และตัดสิทธิ์ผู้ทุจริตการสอบทั้งหมดรวม 73 คน ออกจากกระบวนการคัดเลือกแล้ว
- ศูนย์ฝึกอบรมตำรวจภูธร 9 ดำเนินคดีกับผู้เข้าสอบที่ปรากฏหลักฐานการทุจริต ขณะนี้คดีอยู่ระหว่างการสอบสวนของตำรวจภูธรเมืองสงขลา
- ตำรวจภูธรภาค 9 ตั้งคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงกับ ร.ต.อ.หญิง ที่มีการนำเสนอข่าวว่ามียอดเงินเข้ามาในบัญชีจำนวนมาก และอาจเกี่ยวข้องกับการทุจริตในการสอบ
ทีมข่าวได้พูดคุยกับแหล่งข่าวระดับสูง ภายในกองบัญชาการศึกษา สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ให้ข้อมูลว่ากระบวนการตรวจสอบในพื้นที่ตำรวจภูธรภาค 9 ตอนนี้เสร็จสิ้นแล้ว ส่วนจะเกี่ยวพันกับการทุจริตสอบตำรวจ สายอำนวยการล่าสุดที่พบหรือไม่นั้น จากข้อมูลที่กองบัญชาการศึกษา ได้รับเรื่องร้องเรียน ตอนอยู่ระหว่างการตรวจสอบเชิงลึกว่ามีความเชื่อมโยงกันหรือไม่
ส่วนความผิดของผู้เข้าสอบที่มีพฤติกรรมทุจริตโกงข้อสอบ และความผิดของเจ้าพนักงานตำรวจที่กระทำความผิด มีอะไรบ้างนั้น เบื้องต้นต้องดูพยานหลักฐาน ต่างๆ ก่อนว่ามีมากน้อยแค่ไหน และเข้าองค์ประกอบความผิดใดบ้าง เช่น ตำรวจที่เป็นพนักงานรัฐ หากทำความผิด อาจเข้าข่ายความผิดฐานละเว้น หรือปฎิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามมาตรา 157 หรือ อาจจะเป็นมาตรา 158 ที่ระบุว่าหากเจ้าพนักงาน ทำให้เสียหาย ทำลายซ่อนเร้น หรือยินยอมให้ผู้อื่นกระทำเช่นนั้น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี และปรับไม่เกิน 140,000 บาท
ส่วนประชาชนทั่วไปที่ร่วมขบวนการด้วย เข้าข่ายความผิดฐานเป็นตัวการ หรือ ยุยง ส่งสริม สนับสนุนในการทำผิด ส่วนผู้เข้าสอบที่มีพฤติกรรมทุจริต ยอมรับว่าตอนนี้ยังมีการถกเถียงกันในเชิงกฎหมายว่าจะเข้าข่ายความผิดใดบ้าง แต่หากพิจารณาว่าเป็นการทำกันเป็นขบวนการ ผู้เข้าสอบกลุ่มนี้ ถือว่าเข้าข่ายผิด "ฐานเป็นผู้สนับสนุนในการทำผิด"
ซึ่งฐานความผิดโดยตรงตอนนี้ยังไม่มี เพราะก่อนหน้านี้เคยมีความพยายามเสนอให้ การทุจริตการสอบเป็นความผิดอาญาโดยตรง แต่เรื่องนี้ก็ถูกตีตกไป แต่สิ่งที่สามารถเอาผิดได้ตอนนี้ คือ การขึ้นแบล็กลิสต์ผู้เข้าสอบที่ทุจริต ไม่ให้กลับมาสอบในระบบราชการได้อีก
ขณะที่ นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ และโฆษกพรรคก้าวไกล ซึ่งเป็นผู้ที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์การทุจริตในวงการตำรวจอยู่บ่อยครั้ง มองว่าเรื่องที่เกิดขึ้นเป็นรอยด่างพร้อยในวงการตำรวจ ที่สะท้อนให้เห็นว่าวงการตำรวจไม่มีการแก้ไขปัญหาเรื่องการทุจริตอย่างจริงจัง ซึ่งการทุจริตสอบเข้าเป็นตำรวจ เมื่อเริ่มต้นด้วยการทุจริตแล้ว จะปฎิบัติหน้าที่อย่างสุจริตได้อย่างไร และคนกลุ่มนี้ก็จะกลับมาทุจริตอีก
โดยปัจจัยสำคัญของทุจริตในวงการตำรวจ นายรังสิมันต์ มองว่าเป็นเพราะคนที่จะเป็นตำรวจ ต้องใช้เงินเยอะ มีต้นทุนหลายอย่าง ไปจนถึงการซื้อตำแหน่ง หลายอย่างไม่ได้มาด้วยความสามารถ จึงกลายเป็นเหตุผลที่ทำให้ตำรวจบางส่วนใช้วิธีอื่นมาหาเงินเพิ่ม เพราะลำพังแค่เงินเดือนอย่างเดียวไม่เพียงพอ
นอกจากนี้ ยังย้ำว่าควรมีการปฎิรูปวงการตำรวจอย่างจริงจัง แต่ส่วนตัวเชื่อว่าในรัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา คงแก้ปัญหาการทุจริตในวงการตำรวจไม่สำเร็จ แต่หลังการเลือกตั้งเชื่อว่าจะมีความหวังในการปฎิรูปตำรวจมากกว่า