ขณะที่ชาวจีนจำนวนมากก็เริ่มออกเดินทางไปในหลายประเทศ รวมถึงการเตรียมเดินทางในประเทศในช่วงเทศกาลตรุษจีน
การเดินทางของคนมหาศาลคือความท้าทายของทางการจีนว่าจะควบคุมการระบาดของโควิดอย่างไรในวันที่ตัวเลขผู้ติดเชื้ออยู่ในช่วงขาขึ้น
อีกหนึ่งความท้าทายคือ ผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจที่เกิดจากนโยบายคุมเข้มโควิดเป็นศูนย์ที่รัฐบาลจีนบังคับใช้มายาวนาน โดยมีรายงานว่าเริ่มมีภาพของการประท้วงของบรรดาพนักงานในหลายบริษัทที่ถูกเลิกจ้าง
ไขข้อสงสัย ต่างชาติไปเที่ยวจีนได้หรือยัง? หลังเปิดประเทศ 8 ม.ค.
ไทยติด Top 5 จุดหมายท่องเที่ยวชาวจีนหลังเปิดประเทศ
บรรยากาศภายในบริเวณของสนามบินนานาชาติกรุงปักกิ่ง นักเดินทางจากหลายประเทศทั่วโลกทยอยเดินทางเข้าประเทศมากกว่าปกติ หลังจากทางการจีนใช้ข้อกำหนดใหม่ ให้ผู้ที่เดินทางเข้าประเทศจีนแสดงผลตรวจโควิดแบบนิวเคลอิก 48 ชั่วโมงก่อนเดินทาง โดยไม่ต้องกักตัวในทุกรูปแบบเหมือนกับเมื่อ 3 ปีที่ผ่านมาอีกต่อไป ครอบครัวและเพื่อนฝูงที่ไม่ได้เจอกันมานานโผเข้ากอดกัน ทักทายกันอย่างมีความสุข
นอกจากนักเดินทางขาเข้าจากต่างประเทศ ในส่วนของการเดินทางของชาวจีนเอง ก็คาดว่าจะเพิ่มขึ้นอย่างมากเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะการเดินทางในประเทศที่จะเกิดขึ้นในช่วงวันหยุดต่อเนื่องเทศกาลปีใหม่และตรุษจีนซึ่งจะกินเวลานานต่อเนื่องถึง 40 วัน เริ่มตั้งแต่วันที่ 7 มกราคมต่อเนื่องไปจนถึงวันที่ 15 กุมภาพันธ์
ข้อมูลจากกระทรวงคมนาคมของจีน ระบุว่าจำนวนผู้เดินทางในช่วงเวลาดังกล่าวอาจมากถึง 2พัน 1 ร้อยล้านคน มากกว่าช่วงเดียวกันในปีที่แล้ว ที่มีประมาณ 1 พันล้านคน
ทางการจีนออกมาแสดงความมั่นใจว่าจะสามารถจัดการ การเดินทางของคนจำนวนมหาศาลได้อย่างราบรื่น
อย่างไรก็ตาม ทางเจ้าหน้าที่ยังไม่ได้ระบุถึงมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิดที่อาจรุนแรงมากขึ้น จากการเคลื่อนย้ายของผู้คน
ถึงแม้ว่าทางการจีนจะไม่มีการเปิดเผยตัวเลข แต่หลายฝ่ายรวมถึงองค์การอนามัยโลกประเมินว่า ตัวเลขผู้ติดเชื้อในจีนกำลังอยู่ในขาขึ้น หลังการยกเลิกนโยบายโควิดเป็นศูนย์ ซึ่งตัวเลขผู้ติดเชื้อรวมถึงผู้เสียชีวิตที่เพิ่มมากขึ้น คือความท้าทายและความเสี่ยงต่อระบบสาธารณสุข
วันนี้ 9 ม.ค. เดอะ การ์เดียน อ้างข้อมูลจากเจ้าหน้าที่ระดับสูงด้านสาธารณสุขของจีน ที่ระบุว่า เฉพาะในมณฑลเหอหนาน ซึ่งอยู่ทางตอนกลางของประเทศ มีประชาชนกว่าร้อย 89 หรือประมาณ 88 ล้าน 5 แสนคน จากจำนวนประชากรทั้งหมด 99 ล้าน 4 ตย ติดเชื้อโควิด-19
หากข้อมูลนี้ได้รับการยืนยัน หมายความว่าระบบสาธารณสุขในมณฑลดังกล่าวอาจตกอยู่ในความเสี่ยง
นอกเหนือจากความเสี่ยงของระบบสาธารณสุขแล้ว อีกหนึ่งความท้าทายคือ ผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจที่เกิดจากนโยบายโควิดเป็นศูนย์
เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา คริสตาลีนา กอร์เกียวา กรรมการผู้จัดใหญ่กองทุนการเงินระหว่างประเทศหรือ IMF ระบุว่า อย่างน้อย 1 ใน 3 ของประเทศในโลกจะประสบกับปัญหาเศรษฐกิจที่หนักกว่าเดิมในปีนี้ เนื่องเศรษฐกิจของสหรัฐ สหภาพยุโรป และจีนกำลังชะลอตัวลงพร้อมๆกัน
ในส่วนของจีน IMF ระบุว่าการชะลอตัวเกิดจากนโยบายคุมเข้มโควิดเป็นศูนย์และปัญหาในภาคอสังหาริมทรัพย์
การบังคับใช้นโยบายโควิดเป็นศูนย์ของรัฐบาลจีนที่นานต่อเนื่องเกือบ 3 ปี ได้สร้างความเสียหายกับเศรษฐกิจ เนื่องทางการจีนจะสั่งล็อกดาวน์ในทุกจุดที่มีรายงานการระบาดแม้เป็นเพียงหลักสิบหรือหลักร้อย
และการล็อกดาวน์ในหลายครั้งเกิดขึ้นที่ศูนย์กลางการเศรษฐกิจ การค้าและแหล่งผลิตสินค้าอุตสาหกรรมที่สำคัญ เช่น เซี่ยงไฮ้ เซินเจิ้นและเทียนจิน ซึ่งส่งผลกระทบต่อการผลิตสินค้า โรงงานจำนวนมากต้องปิดกิจการลง
ขณะที่ประชาชนเองก็ระมัดระวังมากขึ้นในการใช้จ่าย และเมื่อผู้คนใช้จ่ายลดลง ก็กลายเป็นแรงกดดันต่อภาคอุตสาหกรรม ซึ่งขายสินค้าได้ลดน้อยลงตามไปด้วย
CNN รายงานว่า ขณะนี้โรงงานในจีนจำนวนมาก โดยเฉพาะที่ผลิตสินค้าด้านเทคโนโลยีและอิเล็กทรอนิกส์ กำลังมีการปลดคนงานออกครั้งใหญ่ และหลายครั้งนำไปสู่การประท้วงของคนงาน
ภาพการประท้วงที่มีการเผยแพร่เมื่อวานนี้โดยสำนักข่าวรอยเตอร์ส เป็นภาพวุ่นวายที่เกิดขึ้นระหว่างการประท้วงของคนงานในโรงงานของบริษัท ไซไบโอ (Zybio) ซึ่งเป็นผู้ผลิตชุดตรวจโควิดรายใหญ่ของประเทศที่ตั้งอยู่ในนครฉงชิ่ง
สาเหตุของการประท้วงเกิดมาจากความไม่พอใจที่ผู้บริหารของบริษัทปลดพนักงาน หลังจากความต้องการชุดตรวจโควิดลดลงจากการที่รัฐบาลปรับเปลี่ยนนโยบายจากการคุมเข้มโควิดเป็นศูนย์มาเป็นการอยู่ร่วมกับโควิดเต็มรูปแบบ
การประท้วงบานปลายกลายเป็นการเผชิญหน้ากับตำรวจปราบจลาจลและทำให้มีคนงานถูกจับไปหลายสิบคน
อีกหนึ่งปัญหาที่จีนเจอคือ วิกฤตในภาคอสังหาริมทรัพย์ เศรษฐกิจที่ชะลอตัวและข้อจำกัดด้านโควิด-19 ที่เข้มงวดได้ส่งผลต่อตลาดอสังหาริมทรัพย์ของจีนด้วย
การสำรวจล่าสุดของ China Real Estate Information บริษัทวิจัยเอกชน ระบุว่าเมื่อเดือนพฤษภาคมปีที่แล้ว ยอดขายของบริษัทอสังหาริมทรัพย์ 100 อันดับแรกของจีนลดลงถึงร้อยละ 59 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และขณะนี้บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เหล่านี้กำลังเจอกับวิกฤตหนี้หลังคนชะลอการจ่ายหนี้
เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา รัฐบาลจีนทุ่มเงิน 1 ล้านล้านหยวน เพื่อช่วยเหลือธุรกิจขนาดเล็กและภาคอสังหาริมทรัพย์ แต่ดูเหมือนจะยังไม่พอต่อการบรรเทาปัญหา
นักวิเคราะห์หลายคนบอกว่า สถานการณ์เช่นนี้จะทำให้เห็นภาพของการประท้วงต่อไป แต่การประท้วงจะยังเป็นในระดับท้องถิ่น ไม่ใช่การประท้วงใหญ่