แถลงการณ์ ชี้แจงปมงานวิจัยอาจารย์ประจำวิทยาลัยพยาบาลฯ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์


โดย PPTV Online

เผยแพร่




คณบดีวิทยาลัยพยาบาลศาสตร์อัครราชกุมารี ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ชี้แจงกรณีอาจารย์ประจำวิทยาลัยพยาบาลศาสตร์ ถูกวิจารณ์ พาดพิง เกี่ยวกับการตีพิมพ์ผลงานทางวิชาการ

รองศาสตราจารย์ ดร. ทัศนา บุญทอง คณบดีวิทยาลัยพยาบาลศาสตร์อัครราชกุมารี ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เปิดเผยว่า จากกรณีที่มีการนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับงานวิจัยและเอกสารทางวิชาการระดับนานาชาติของอาจารย์ประจำท่านหนึ่งของวิทยาลัยพยาบาลศาสตร์อัครราชกุมารี ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ในสื่อหลักและสื่อออนไลน์และมีการวิพากย์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวางนั้น การนี้คณบดีวิทยาลัยพยาบาลศาสตร์อัครราชกุมารี ได้รับทราบจากสื่อออนไลน์แล้วตั้งแต่วันที่ 2 มกราคม 2566 และมิได้นิ่งนอนใจ

พบหลักฐาน 6 นักวิชาการไทยซื้องานวิจัย

แฉ!ช้อปปิ้งงานวิจัย จ่ายครบ เคลมเป็นงานตัวเอง

เห็นควรว่าต้องหาข้อมูลความกระจ่างในเรื่องนี้ เพื่อให้ได้ข้อเท็จจริง จึงได้ประสานกับอาจารย์ท่านดังกล่าวทันที เพื่อให้ชี้แจงและทำรายงานรายละเอียดเกี่ยวกับเรื่องที่เกิดขึ้น 

อาจารย์ท่านนี้ เป็นอาจารย์ประจำวิทยาลัยพยาบาลศาสตร์อัครราชกุมารี ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ที่ได้รับทุนจากราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ในโครงการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช 90 พรรษา เพื่อศึกษาต่อระดับปริญญาเอก ณ ประเทศ สหรัฐอเมริกาตั้งแต่ปี การศึกษา 2562 โดยเรียนสาขาพยาบาลศาสตร์เป็นสาขาหลัก และเรียน Research Methodology เป็นสาขาร่วม  มีความสนใจเรื่องการวิจัยเป็นการเฉพาะ 

เมื่อพิจารณาจากรายงานดังกล่าวทำให้ได้ข้อมูลเบื้องต้นดังนี้

1.อาจารย์ท่านดังกล่าวมีผลงานวิจัย ที่ได้รับการตีพิมพ์ ทั้งที่เป็นหัวหน้าโครงการ ผู้รับผิดชอบบทความ (corresponding author) และผู้ร่วมนิพนธ์ (co author) จึงทำให้มีจำนวนผลงานที่รับการตีพิมพ์จำนวนมาก

2.ขณะศึกษาในระดับปริญญาเอก อาจารย์ท่านดังกล่าวได้รับเชิญเป็นบรรณาธิการวิชาการ (Academic Editor) ให้กับสำนักพิมพ์ที่มีชื่อเสียงหลายแห่ง ได้แก่ SAGE Publisher Company, Frontiers, Wiley, PLOS (PLOS ONE) และ Hindawie เป็นต้น จากการที่ได้รับเชิญให้ทำงานทางวิชาการเช่นนี้ ทำให้มีประสบการณ์ เป็นที่รู้จัก มีผลให้นักวิชาการและนักวิจัยชาวต่างชาติได้รู้จัก และประสานงานมาเพื่อให้ร่วมทำงาน โดยขอให้พิจารณาและให้ความเห็นเรื่อง ระเบียบวิธีวิจัย การวิเคราะห์ข้อมูล การอภิปรายผล การตรวจสอบและแก้ไขรายงาน (rewriting, editing) ซึ่งการมีส่วนร่วมเช่นนี้ ในทางปฏิบัติโดยสากล เมื่อมีการปรึกษาทางวิชาการจะมีการใส่ชื่อเป็นผู้ร่วมนิพนธ์ จึงเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้อาจารย์ท่านนี้มีชื่อในผลงานวิจัยที่ได้รับการตีพิมพ์จำนวนมาก  

3. ผลงานวิจัย 2 เรื่อง ที่ถูกถอดถอนการตีพิมพ์จากวารสารนานาชาติ Applied Nanoscience ซึ่งเป็นของสำนักพิมพ์ Springer ด้วยเหตุผลที่ว่า บทความวิจัยทั้ง 2 เรื่องนั้น ได้ผ่านกระบวนการ Peer-reviewed และได้รับการพิจารณาจากบรรณาธิการรับเชิญ (Guest Editor) โดยบทความฉบับที่ 1 ส่งเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2564 (ค.ศ. 2021) และได้รับการตอบรับให้ตีพิมพ์เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2564 (ค.ศ.2021) และบทความวิจัยฉบับที่ 2 ส่งเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2564 (ค.ศ. 2021) และได้รับการตอบรับให้ตีพิมพ์เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม พ.ศ.2564 (ค.ศ.2021) 

โดยทั้ง 2 บทความนี้ ได้รับการเผยแพร่ในรูปแบบของบทความรอตีพิมพ์ (Article in Press) เพื่อรอการจัดตีพิมพ์ในวารสารฉบับสมบูรณ์ (มี Issue และ Volume) ตั้งแต่ปี 2564 โดยสาเหตุการ Retracted ครั้งนี้ คือ บรรณาธิการ (Editor-in-Chief) วินิจฉัยว่า บทความทั้ง 2 เรื่องไม่อยู่ในขอบเขตของวารสาร Applied Nanoscience และการกระบวนการ Peer-reviewed process ของบรรณาธิการรับเชิญท่านนี้ยังไม่รัดกุมพอ  ทำให้มีความเห็นว่าผลงานการวิจัยมีผลต่อความน่าเชื่อถือของผลลัพธ์การวิจัย นอกจากนั้นแล้วยังมีบทความวิจัยจำนวนถึง 51 เรื่อง ที่ได้รับการ review ภายใต้บรรณาธิการรับเชิญท่านเดียวกันนี้ (Guest Editor)  ได้ถูก Retracted จากการตีพิมพ์ทั้งหมด 

จากข้อมูลเบื้องต้นที่ได้จากรายงานของอาจารย์ท่านดังกล่าว วิทยาลัยพยาบาลศาสตร์อัครราชกุมารี จะหาข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงที่ครอบคลุมอย่างรอบด้านมากยิ่งขึ้น เพื่อประกอบการพิจารณาดำเนินการในลำดับต่อไป 

คอนเทนต์แนะนำ
วันหยุดราชการ และวันหยุดชดเชยในปี 2566 ตลอดทั้งปี หยุดรวมกันเกือบครบเดือน
แจกพิกัดเที่ยววันเด็ก 2566 ใกล้กรุงเทพฯ สนุกเพลินกันทั้งครอบครัว

TOP สังคม
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ