ทำให้เกิดข้อสงสัยว่าเหตุกราดยิงที่เกิดขึ้นเกี่ยวข้องกับความเกลียดชังทางเชื้อชาติต่อชาวเอเชียหรือไม่ แม้ว่าผู้ก่อเหตุทั้งสองจะเป็นชาวเอเชียเหมือนกันก็ตาม
เหตุการณ์นี้กำลังสร้างความหวาดกลัวให้กับชาวเอเชียและชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชียมากขึ้นอีกครั้ง หลังพวกเขาต้องเผชิญกับอาชญากรรมที่เกิดจากความเกลียดชังเชื้อชาติต่อชาวเอเชียที่เพิ่มมากขึ้นในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา
เปิดภาพผู้ต้องสงสัย กราดยิง 10 ศพ งานฉลองตรุษจีนในสหรัฐฯ
ตร.แคลิฟอร์เนียรวบคนงานชาวจีนกราดยิงเพื่อนร่วมงาน ดับ 7 ศพ
หัวใจสีฟ้า 11 ดวงที่เปรียบเสมือนตัวแทนของเหยื่อผู้เสียชีวิต 11 ราย จากเหตุกราดยิงที่ห้องเต้นรำบอลรูม ในเมืองมอนเทอร์เรย์ พาร์ค รัฐแคลิฟอร์เนีย ถูกนำไปวางไว้ที่ด้านหน้าศาลากลางของเมือง เพื่อให้ผู้คนเข้ามาวางดอกไม้และเขียนข้อความแสดงความอาลัยแด่ผู้เสียชีวิต
ขณะที่บริเวณด้านหน้าของห้องเต้นรำบอลรูมซึ่งเป็นสถานที่เกิดเหตุ ก็เต็มไปด้วยความโศกเศร้าจากบรรดาผู้ที่เดินทางมาวางดอกไม้ไว้อาลัย
สำหรับเมืองเล็กๆ ที่เงียบสงบ ที่มีชุมชนชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชียที่ผู้คนมักช่วยเหลือกันและกันอย่างมอนเทอร์เรย์ พาร์ค นี่เป็นโศกนาฏกรรมสะเทือนขวัญ โดยเฉพาะสำหรับชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชีย เนื่องจากเหยื่อเกือบทุกคนเป็นชาวเอเชียอายุระหว่าง 50-70 ปี ที่เข้าร่วมเฉลิมฉลองเทศกาลตรุษจีนที่ห้องเต้นรำบอลรูมแห่งนี้
ความรู้สึกหวาดผวายิ่งรุนแรงขึ้น เมื่ออีกหนึ่งโศกนาฏกรรมเกิดขึ้นตามมาในเวลาไม่ถึง 48 ชั่วโมงเหตุกราดยิงนี้เกิดขึ้นที่ฟาร์มเห็ดและโรงจอดรถบรรทุกในเมืองฮาล์ฟมูนเบย์ในเขตซานมาเตโอ เมืองชายฝั่งอันเงียบสงบในรัฐแคลิฟอร์เนียเช่นกัน
ผู้เสียชีวิตทั้งหมด 7 รายเป็นชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชียที่คาดว่าทำงานในสถานที่เกิดเหตุเหล่านั้นเพียงไม่ถึงสัปดาห์ รัฐแคลิฟอร์เกิดเหตุกราดยิง 3 ครั้ง มีผู้เสียชีวิตรวม 18 ราย 2 ใน 3 ของเหตุกราดยิง มีชาวชาวเอเชียเป็นผู้ก่อเหตุและเหยื่อส่วนใหญ่ก็เป็นชาวเอเชีย
โศกนาฏกรรมสะเทือนขวัญเหล่านี้กำลังทำให้ความกลัว ความกังวล และความบอบช้ำต่อชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชียกลับเข้ามาในความทรงจำพวกเขาอีกครั้ง โดยเฉพาะในช่วง 3 ปีของการระบาดของโควิด-19 ที่พวกเขาต้องเผชิญกับความเกลียดชังอย่างรุนแรง
ชีวิตของชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชียในสหรัฐฯ นั้นไม่ง่าย พวกเขาต้องเผชิญกับอคติและความเกลียดชังของชาวสหรัฐฯ ที่ฝังรากลึกในสังคมมาตั้งแต่ช่วงศตวรรษที่ 19 สมัยที่อุตสาหกรรมเหมืองทองกำลังรุ่งเรือง ชาวจีนอพยพเข้ามาหางานและตั้งถิ่นฐานในสหรัฐฯ เกิดความรู้สึกแบ่งแยกในหมู่ชาวอเมริกันว่าคนเหล่านี้กำลังเข้ามาแย่งชิงงานและทรัพยากรของพวกเขา
พวกเขาจึงถูกมองว่าเป็นแค่ชนกลุ่มน้อยที่อพยพเข้ามาอยู่อาศัย อย่างไรก็ดี ชาวเอเชียถือเป็นกลุ่มที่มีอัตราการเติบโตของประชากรในสหรัฐฯ มากที่สุด
ข้อมูลการสำรวจสำมะโนประชากรของสหรัฐฯ ในปี 2021 ระบุว่า มีชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชียราว 22 ล้านคนหรือคิดเป็นราวร้อยละ 7 ของประชากรทั้งหมดที่อาศัยอยู่ในสหรัฐฯ
โดยคนเชื้อสายจีน อินเดีย และฟิลิปปินส์ เป็น 3 กลุ่มชนชาติเอเชียที่มีจำนวนมากที่สุด
ชาวเอเชียในสหรัฐฯ มักอยู่รวมกันเป็นชุมชน อย่างไชน่าทาวน์ในซานฟรานซิสโกและนิวยอร์ก หรือ Little Tokyo ชุมชนคนญี่ปุ่นในลอสแองเจนลิส
ทั้งนี้รัฐแคลิฟอร์เนียเป็นหนึ่งในรัฐที่เป็นมิตรกับชาวเอเชียมากที่สุด ที่นี่มีชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชียมากกว่า 6 ล้านคนหรือราว 1 ใน 6 ของประชากรทั้งหมดในรัฐแคลิฟอร์เนีย เป็นสัดส่วนที่สูงเป็นอันดับสองรองจากฮาวาย
สำหรับเมืองมอนเทอร์เรย์ พาร์คในรัฐแคลิฟอร์เนีย ได้ชื่อว่าเป็นไชน่าทาวน์ในเขตชานเมืองแห่งแรกของสหรัฐฯ
สาเหตุที่ชาวเอเชียมักอยู่รวมกันเป็นชุมชนนั้น ไม่เพียงแค่ต้องการจัดตั้งศูนย์รวมทางวัฒนธรรม แต่ยังรวมถึงการสร้างพื้นที่ปลอดภัยที่สามารถป้องกันการถูกทำร้าย การเหยียดสีผิวและการแบ่งแยกเชื้อชาติได้
แม้ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ปัญหาความเกลียดชังเชื้อชาติเอเชียเริ่มทุเลาลง หลังชาวเอเชียถูกทางการสหรัฐฯ วางภาพให้เป็น 'ชนกลุ่มน้อยแบบอย่าง' มีบุคลิกอ่อนน้อมถ่อมตน ขยันหมั่นเพียร มีการศึกษาที่ดีและบางกลุ่มเป็นคนมีฐานะ เพื่อเป็นตัวอย่างในการพัฒนาตนเองสำหรับชนกลุ่มน้อยอื่นๆ
จากที่เคยเป็นแรงงานรายได้น้อย ชาวเอเชียในสหรัฐฯ เริ่มมีโอกาสในการทำงานมากขึ้นและมีรายได้เฉลี่ยมากกว่าชนกลุ่มน้อยอื่นๆ แต่ไม่ได้หมายความว่าการเหยียดเชื้อชาติชาวเอเชียจะหายไป
พวกเขายังไม่ถูกยอมรับว่าเป็นคนอเมริกันอย่างแท้จริง คนเอเชียที่เกิดและโตในสหรัฐฯ หลายคนก็มักถูกมองว่าเป็นคนต่างชาติและถูกถามถึงรากเหง้าอยู่เสมอ
อคติเหล่านี้จึงกลายเป็นปัจจัยที่ทำให้ชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชียไม่ค่อยมีบทบาทในการเป็นผู้นำที่ชาวอเมริกันเชื่อว่าต้องมีความเด็ดขาดและฉลาดหลักแหลม
จากการวิเคราะห์ข้อมูลแรงงานแห่งชาติสหรัฐฯ พบว่าพนักงานชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชียเป็นกลุ่มที่มีแนวโน้มที่จะได้รับการเลื่อนตำแหน่งเป็นผู้บริหารน้อยที่สุด คิดเป็นร้อยละ 27 ของพนักงานทั้งหมดในสหรัฐฯ ซึ่งมีโอกาสน้อยกว่าเชื้อชาติอื่นๆ รวมทั้งคนผิวดำและคนเชื้อสายสเปน
และการระบาดของโควิด-19 ก็ยิ่งเพิ่มอาชญากรรมจากความเกลียดชังที่มุ่งเป้าไปที่ชุมชนชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชียถึงระดับสูงสุด ในปี 2021 อาชญากรรมจากความเกลียดชังเชื้อชาติเอเชียเพิ่มขึ้นร้อยละ 339
สาเหตุมาจากการเผยแพร่ข้อมูลว่าชาวเอเชียเป็นตัวการแพร่เชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ ชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชียจึงเผชิญกับความรุนแรงในรูปแบบต่างๆ ตั้งแต่การดูถูกเหยียดหยาม ทำร้ายร่างกาย ที่ในบางกรณีรุนแรงจนถึงขั้นเสียชีวิต
อาชญากรรมส่วนใหญ่มักเกิดกับผู้สูงอายุ เพราะร่างกายที่อ่อนแอและการสื่อสารภาษาที่สองที่ไม่คล่องแคล่ว จึงมักจะตกเป็นเป้าความรุนแรงต่อความเกลียดชัง
ทั้งการเสียชีวิตของ ‘วิชา รัตนภักดี’ ชายชาวไทยวัย 84 ปี ที่ถูกชายชาวอเมริกันวัย 19 ปีทำร้ายจนเสียชีวิตในซานฟรานซิสโก หญิงชาวจีนวัย 61 ปีที่ถูกขว้างหินใส่จนเสียชีวิต
ไปจนถึงเหตุกราดยิงที่สปาแห่งหนึ่งในเมืองแอตแลนตา รัฐจอร์เจีย ซึ่งมีผู้เสียชีวิตมากถึง 8 คน ในจำนวนนี้เป็นหญิงชาวเอเชีย 6 คน
ความรุนแรงจากความเกลียดชังเชื้อชาติเพิ่มระดับความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจของชาวเอเชียในสหรัฐฯ ทั้งความเครียด ความหวาดระแวงสะสมและความหวาดกลัวว่าจะถูกทำร้าย และเหตุกราดยิงทั้งสองครั้งที่เพิ่งเกิดขึ้น ก็ได้กระตุ้นความหวาดกลัวของพวกเขาอีกครั้ง
กาวิน นิวซัม ผู้ว่าการรัฐแคลิฟอร์เนียกล่าวว่าปัญหาความรุนแรงต่อชุมชนชาวเอเชียที่เพิ่มมากขึ้นควรจะได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง
ข้อมูลจากการสำรวจพบว่ากลุ่มชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชียสนับสนุนให้เพิ่มกฎการควบคุมปืนที่เข้มงวดมากขึ้น และแม้ว่าชาวเอเชียจะมีโอกาสน้อยในการเป็นเจ้าของอาวุธปืน แต่ความรุนแรงของปัญความเกลียดชังที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้ชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชียหลายคนเริ่มหันมาพกปืนเพื่อป้องกันตนเอง
แม้โศกนาฏกรรมทั้ง 2 เหตุการณ์อาจไม่มีการระบุชัดเจนว่าเกี่ยวข้องกับอาชญากรรมด้านความเกลียดชังหรือไม่ แต่เหตุการณ์เหล่านี้ส่งผลกระทบต่อจิตใจของชาวเอเชียอย่างแน่นอน