ผศ.สุรัตน์ บัวเลิศ คณบดีคณะสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผู้วิเคราะห์องค์ประกอบของฝุ่น PM 2.5 ในพื้นที่ กทม. โดยฝุ่นที่ได้นำมาวิเคราะห์เก็บตัวอย่างอยู่ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา พบว่า มีค่าโพแทสเซียมสูง แสดงให้เห็นว่า มาจากการเผาไหม้ ซึ่งช่วงเวลาดังกล่าวไปสัมพันธ์กับช่วงที่ประเทศเพื่อนบ้านและในประเทศไทยมีการเผา และลมพัดพาฝุ่นเข้ามาใน กทม. ประกอบกับฝุ่น PM 2.5 ที่มาจากการจราจรซึ่งเดิมอยู่แล้ว ส่งผลค่าฝุ่น PM 2.5 กทม. พุ่งสูง
ปภ. แนะ รับมือ-ป้องกันฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5
มาตรฐานยูโร 5 คืออะไร แก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 ได้จริงหรือไม่ ?
วิจัยใหม่พบ แทบไม่มีที่ใดในโลก ปลอดภัยจากมลพิษอากาศ
โดยเมื่อรู้ต้นตอของฝุ่น PM 2.5 แล้ว ผศ.สุรัตน์ มองว่า จะทำให้การกำหนดแนวทางแก้ไขได้ตรงจุด เช่น การใช้มาตรการห้ามเผา หรือเผาในช่วงเวลาที่เหมาะสม ให้ชาวบ้านเผาได้ แต่ต้องไม่กระทบต่อส่วนรวม ซึ่งจากการดูภาพรวมการดำเนินการลดจุดความร้อนในประเทศถือว่า ทำได้ดี แต่จุดความร้อนนอกประเทศ ซึ่งถือว่าควบคุมไม่ได้ ก็ต้องอาศัยกลไกของหน่วยงานระดับประเทศหารือร่วมกัน
นอกจากนี้ กทม. ยังร่วมกับนักวิชาการ คณะสิ่งแวดล้อม ทรัพยากร และการพัฒนา (เอไอที) เพื่อไขข้อสงสัยว่า การฉีดน้ำในอากาศจะช่วยลดค่าฝุ่น PM 2.5 ได้จริงหรือไม่ โดยมีการนำเครื่องฉีดน้ำแบบละอองมาติดตั้งที่โรงเรียนวิชูทิศ ก่อนจะทดลองเปิดน้ำ 1 ชั่วโมง ปิดน้ำ 1 ชั่วโมง แล้วเก็บข้อมูลเปรียบเทียบกัน
จากวิเคราะห์ข้อมูล พบว่า การฉีดน้ำในอากาศ มีผลทำให้ค่าฝุ่นในอากาศลดลงน้อยมาก เพียง 1-2 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร หรือ ไม่ได้ลดลงเลย
6 เดือน ตรวจการบ้าน"ชัชชาติ"ปลูกต้นไม้ลดฝุ่น PM 2.5
กทม. ยังเปิดผลดำเนินการตรวจแห่งกำเนิดฝุ่น เพื่อลดการเกิดฝุ่นตั้งแต่ต้นทาง ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565 จนถึง 14 มีนาคม 2566 ได้แก่ โรงงาน 1,052 แห่ง ตรวจสอบ 6,081 ครั้ง ไม่ผ่านสั่งปรับปรุง 8 แห่ง, แพลนท์ปูน 133 แห่ง ตรวจสอบ 793 ครั้ง ไม่ผ่านสั่งปรับปรุง 17 แห่ง, สถานที่ก่อสร้าง ตรวจโดยสำนักงานเขต 277 แห่ง ตรวจสอบ 1,199 ครั้ง ไม่ผ่านสั่งปรับปรุง 27 แห่ง และตรวจโดยสำนักการโยธา 399 แห่ง ตรวจสอบ 392 ครั้ง ไม่ผ่าน สั่งปรับปรุง 1 แห่ง
การถมดิน ท่าทราย 9 แห่ง ตรวจสอบ 88 ครั้ง, ตรวจควันดำสถานที่ต้นทาง 1,746 คัน ไม่ผ่านสั่งปรับปรุง 14 คัน, ตรวจจับรถยนต์ปล่อยควันดำ 60,270 คัน ออกคำสั่งห้ามใช้ 1,265 คัน, ตรวจรถโดยสารประจำทาง ไม่ประจำทาง โดยกรมการขนส่งทางบก 12,975 คัน พ่นห้ามใช้ 57 คัน และตรวจรถบรรทุก โดยกรมขนส่งทางบก 42,755 คัน พ่นห้ามใช้ 22 คัน
กทม. ยังย้ำว่า ที่ผ่านมาไม่ได้นิ่งนอนใจ และดำเนินการแก้ไขปัญหาฝุ่นมาโดยตลอด ตั้งแต่การแจ้งเตือน การลดฝุ่นจากต้นตอ รวมทั้งการดูแลรักษาผู้ได้รับผลกระทบ แต่ก็ยอมรับว่า อำนาจในมือ กทม. ในการแก้ไขปัญหาฝุ่นบางครั้งก็ไปไม่ถึง