และเมื่อวันที่ 19 มี.ค. วัตถุบรรจุกัมมันตรังสี “ซีเซียม-137” ถูกพบในโรงหลอมเหล็ก ภายใน อ.กบินทร์บุรี จนทำให้ประชาชนมีความกังวลว่าจะส่งผลกระทบด้านสุขภาพ และ มีการนำเหตุการณ์นี้ไปเปรียบเทียบกับเหตุการณ์ภัยพิบัติ โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ “เชอร์โนบิล” เมื่อ 37 ปีก่อน
จนล่าสุด กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ยืนยันว่า เหตุการณ์นี้กับเหตุการณ์เชอร์โนบิล ยังแตกต่างกันเยอะ และ ขออย่าวิตกกังวลมากเกินไปนัก
สธ.ปราจีนบุรี เผย เตรียมตรวจร่างกายคนงาน ที่สัมผัสซีเซียม 137 เพื่อประเมินอาการ
พบ “ซีเซียม-137” ปนเปื้อนในเขม่าหลอมเหล็ก ยันถูกจำกัดพื้นที่-ปลอดภัย
ย้อนดูเหตุการณ์หายนะโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์“เชอร์โนบิล” ที่เกิดผลกระทบกับผู้คนเกือบหมื่นคนที่ได้พิษของรังสี และ ยังคงตกค้างมาจนถึงคนรุ่นหลัง
- รู้จัก “เชอร์โนบิล”
เชอร์โนบิล (Chernobyl) เป็นโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์แห่งแรกบนแผ่นดินยูเครน ตั้งอยู่บริเวณใกล้เมืองพริเพียต กรุงเคียฟ ประเทศยูเครน (ส่วนหนึ่งของสหภาพโซเวียตในขณะนั้น) เป็นโรงไฟฟ้าที่ทำหน้าที่ผลิตและจ่ายไฟฟ้าให้แก่เมืองพริเพียตและบริเวณใกล้เคียง ประกอบด้วยเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์รุ่น RBMK-1000 จำนวน 4 เตา โดยเริ่มใช้งานเตาปฏิกรณ์เครื่องแรกเมื่อวันที่ 26 ก.ย. ปี 1977 และเปิดใช้งานเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์เครื่องที่ 4 ในปี 1983 ซึ่งหลังจากนั้นเพียง 3 ปี โรงไฟฟ้าแห่งนี้ก็เกิดหายนะครั้งใหญ่ขึ้น
ย้อนกลับไป 4 ปี ก่อนการระเบิดครั้งใหญ่ ในวันที่ 9 ก.ย. ปี 1982 แกนเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์เครื่องที่ 1 เกิดการหลอมละลายบางส่วน อันเป็นผลจากการทดสอบระบบในขณะที่วาล์วระบายความร้อนชำรุดและกำลังอยู่ระหว่างซ่อมแซม ทำให้ธาตุยูเรเนียม ซึ่งเป็นธาตุโลหะหนักกัมมันตรังสี เกิดความร้อนเกินขีดจำกัด ส่งผลให้เตาปฏิกรณ์หลอมละลาย สารกัมมันตรังสีต่าง ๆ รั่วไหลพร้อมไอน้ำที่ปะทุจากรูรั่วของเตา ไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต ทีมช่างเร่งซ่อมบำรุงและเปิดใช้งานตามปกติใน 8 เดือนถัดมา
ต่อมาในวันที่ 26 เม.ย. ปี 2021 มีการเปิดเผยเอกสารลับของคณะกรรมการความมั่นคงของรัฐแห่งสหภาพโซเวียต หรือ KGB ว่าในปี 1984 เตาปฏิกรณ์เครื่องที่ 3 และ 4 ก็เกิดเหตุการณ์ในลักษณะคล้ายกัน โดยมีสาเหตุเดิมคือ เกิดจากความประมาทของทีมช่างระหว่างทดสอบเตาปฏิกรณ์ จนทำให้เกิดความร้อนสูงและหลอมละลาย ไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นหลังเกิดการหลอมละลายของเตาปฏิกรณ์เครื่องที่ 1 เพียง 2 ปี เท่านั้น หลังเกิดเหตุ ทีมช่างก็เร่งซ่อมแซมและเปิดใช้งานตามปกติทันที
- ค่ำคืนแห่งหายนะ
เวลา 01.23 น. ของวันที่ 26 เม.ย. 1986 ทีมช่างผู้ดูแลความปลอดภัยของเตาปฏิกรณ์ประจำโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิล กำลังทดสอบระบบของเตาปฏิกรณ์เครื่องที่ 4 ทีมช่างสังเกตเห็นความผิดปกติเล็กน้อยของบางระบบในเตาปฏิกรณ์ดังกล่าว จึงปิดระบบเหล่านั้นเพื่อทำการทดสอบต่อไปให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว ซึ่งถือเป็นการปฏิบัติที่ผิดหลักความปลอดภัยอย่างร้ายแรง
ผลของการปิดระบบดังกล่าว ทำให้ระหว่างทำการทดสอบ มาตรวัดความร้อนของเตาปฏิกรณ์เครื่องที่ 4 แสดงผลว่าเตาปฏิกรณ์ดังกล่าวเกิดความร้อนสูงจนผิดปกติ คาดว่าหนึ่งในระบบที่ถูกปิดเพื่อดำเนินการทดสอบต่อ คือระบบระบายความร้อน และต่อมาไม่นานก็เกิดการระเบิดอย่างรุนแรง ซึ่งครั้งนี้รุนแรงกว่าเมื่อปี 1982 และ 1984 อย่างมาก โดยเป็นการระเบิดจากแกนกลางของเตาปฏิกรณ์ ทำให้เกิดรูรั่วขนาดใหญ่ขึ้น สารกัมมันตรังสีซีเซียม-137 ปะทุในปริมาณมหาศาล แพร่กระจายสู่อากาศและพื้นดินโดยรอบอย่างรวดเร็ว
- ความเสียหายและผลกระทบ
หลังเกิดการระเบิด สารซีเซียม-137 แผ่รัศมีไปไกลกว่า 30 กิโลเมตรโดยรอบ ซึ่งมีประชาชนในบริเวณดังกล่าวกว่า 5 ถึง 8 ล้านคน กระจายไปยัง 14 ประเทศแถบยุโรปกลาง รวมถึงออสเตรีย ฟินแลนด์ สวีเดน นอร์เวย์ และเดนมาร์ก เกิดไฟลุกไหม้เตาปฏิกรณ์นานถึง 9 วัน ประชาชนและสัตว์ต่างได้รับผลกระทบจากสารกัมมันตภาพรังสีเป็นจำนวนมาก มีผู้เสียชีวิตทันที 2 ราย และอีกกว่า 4,000 ราย ต้องเสียชีวิตอย่างทุกข์ทรมานจากผลกระทบของสารดังกล่าวที่เข้าสู่ร่างกายในเวลาต่อมา
นอกจากนี้ในช่วง 3 ถึง 5 ปีแรกหลังการระเบิด มีรายงานว่าพบผู้ป่วยมะเร็งต่อมไทรอยด์เนื่องจากร่างกายได้รับสารปนเปื้อนไอโอดีน-131 ที่แฝงมากับนมวัว จากการที่วัวกินหญ้าในบริเวณที่มีการปนเปื้อนนอกจากนี้ยังพบว่าเด็กในยูเครนเป็นมะเร็งต่อมไทรอยด์เพิ่มสูงขึ้นกว่า 7 เท่า จนทำให้สหภาพโซเวียตสั่งปิดโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิลลงในปี 1991 ประชาชนในเมืองพริเพียตอพยพหนีออกจากเมือง จนพริเพียตกลายเป็นเมืองร้างนับแต่นั้นเป็นต้นมา
- เชอร์โนบิลในปัจจุบัน
ต่อมาในปี 2017 ยูเครนสร้างโดมที่ทำจากหินและปูนซีเมนต์นำมาครอบเตาปฏิกรณ์เครื่องที่ 4 ไว้ หลังเตาเกิดการทรุดโทรมตามกาลเวลา และเป็นการป้องกันสารกัมมันตภาพรังสีที่ยังตกค้างอยู่ได้ไม่มากก็น้อย พร้อมเปิดให้โรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิล เป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำหรับผู้ที่ต้องการเยี่ยมชมประวัติศาสตร์อันเลวร้ายนี้ โดยอยู่ภายใต้การดูแลของรัฐอย่างเคร่งครัดเพื่อความปลอดภัย
โรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิล ยังคงแพร่กระจายสารซีเซียม-137 รวมถึงสารกัมมันตรังสีอื่น ๆ อย่างต่อเนื่อง ฝากรอยแผลจากความประมาทของช่างผู้ดูแล “ความปลอดภัย” ของระบบเตาปฏิกรณ์ บนผืนแผ่นดินยูเครนจนถึงปัจจุบัน
ภาพ:AFP