สมาคมโทรทัศน์ระบบดิจิตอล (ประเทศไทย) จับมือ 50 องค์กร ยกระดับแอปพลิเคชั่นรายงานผลคะแนนเลือกตั้งทั่วไป ปี 2566 ครั้งแรกกับเทคโนโลยี Crowfunding ระดมทุนเพื่อสนับสนุนอาสาสมัคร 100,000 คน รายงานผลคะแนนเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการ 95,000 หน่วยแบบเรียลไทม์ โดยจะเริ่มรายงานผลการนับคะแนนแต่ละหน่วยเลือกตั้งจากทุกเขต หลังปิดหีบเลือกตั้งประมาณ 17.15 น.เป็นต้นไป
นายสุภาพ คลี่ขจาย นายกสมาคมโทรทัศน์ระบบดิจิตอล (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า โครงการนี้เริ่มต้นมาจาก กรณีที่มีข่าวว่าคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จะเปลี่ยนการนับคะแนนใหม่ โดยไม่นับคะแนนที่จุดลงคะแนน และใช้เวลาหลายวันกว่าจะนับคะแนนเสร็จสิ้น
จึงมองว่าอาจเกิดความไม่ชอบมาพากลเกี่ยวกับผลคะแนนขึ้นได้เหมือนที่ผ่านผ่านมา แม้ภายหลังก็มีการปรับเปลี่ยนการนับคะแนนใหม่ โดยบอกว่าจะรู้ผลช่วงเวลาประมาณ 23.00 น. แต่มองว่า ล่าช้าเกินไป ซึ่งตัวเองตั้งเป้าไว้ว่าหากร่วมมือกับเครือข่ายตามโครงการนี้ที่วางแผนไว้ 2 ชั่วโมงหลังปิดหีบเลือกตั้งเวลา หรือเวลา 19.00 น. น่าจะรู้แนวโน้มสัดส่วนคะแนน ส.ส.บัญชีรายชื่อของแต่ละพรรค จากนั้นไม่เกิน 21.00 น. ควรรู้แนวโน้มคะแนนเสียงของผู้สมัคร ส.ส.แบบแบ่งเขตที่มีคะแนนเสียงสูงที่สุดใน 400 เขต
ส่วนแอปพลิเคชั่นในการรายงานข่าวในครั้งนี้มีการพัฒนาต่อเนื่องมาตั้งแต่เลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ซึ่งหากเป็นการเลือกตั้งใหญ่ ก็ต้องใช้อาสาสมัครมากกว่าเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ซึ่งได้ตั้งเป้าอาสาสมัครประมาณ 100,000 คน จากเครือข่ายที่มีอยู่ทั่วประเทศ ซึ่งจะเตรียมนำโครงการนี้ไปพูดคุยกับ กกต. ต่อไป
ขณะที่ นายอดิศักดิ์ ลิมปรุ่งพัฒนกิจ ผู้อำนวยการโครงการและกรรมการและที่ปรึกษาสมาคมโทรทัศน์ระบบดิจิตอล เผยว่า สำหรับการพัฒนาอาสาสมัคร มีการออกแบบไว้ 3 ระดับ เพื่อให้การรายงานผลคะแนนเลือกตั้งเป็นไปอย่างครอบคลุมทุกหน่วยเลือกตั้ง และส่งคะแนนเข้าระบบประมวลผลในศูนย์ปฏิบัติการวันเลือกตั้งได้อย่างถูกต้องแม่นยำที่สุด
ระดับที่ 1 อาสาสมัครประจำหน่วยเลือกตั้ง 400 เขต ที่มีหน่วยเลือกตั้งประมาณ 95,000 หน่วย ตั้งเป้าอาสาสมัครประมาณ 100,000 คน ประจำทุกหน่วยเลือกตั้ง
อาสาสมัครหลักในระดับหน่วยเลือกตั้งในทุกๆ คูหาจะมาจาก สมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัดทั่วประเทศไทย , สมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย และสมาคมองค์การบริหารส่วนตำบลแห่งประเทศไทย ที่กระจายกันอยู่ทุกจังหวัด ทุกเทศกาล และทุกตำบลที่มีหน่วยเลือกตั้งในระดับหมู่บ้านมากกว่า 80,000 – 90,000 หมู่บ้าน
นอกจากนี้ยังได้รับความร่วมมือจากพรรคการเมืองหลายพรรคที่ตอบรับเข้าร่วมโครงการรายงานผลคะแนนเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการ เนื่องจากทุกพรรคมีอาสาสมัครประจำอยู่ในทุกเขตหน่วยเลือกตั้งอยู่แล้ว โดยพรรคที่ตอบรับเข้าร่วมโครงการนี้ คือ พรรคเพื่อไทย พรรคประชาธิปัตย์ พรรคก้าวไกล พรรคไทยสร้างไทย พรรครวมไทยสร้างชาติ
ระดับที่ 2 อาสาสมัครหัวหน้าเขตเลือกตั้ง 400 เขต และทีมงานที่จะมีการทำงานประสานกันกับ กกต.เขต และ กกต.จังหวัด ในการรับคะแนนที่เจ้าหน้าที่ กกต.เขตกรอกเข้าไปในระบบ ETC Report อาสาสมัครในระดับที่ 2 จะมีแนวทางทำงานร่วมกับบุคลากรในระดับอุดมศึกษาทั่วประเทศ เช่น มหาวิทยาลัยของรัฐ และเอกชนในพื้นที่ต่างๆ มหาวิทยาลัยราชภัฏที่มีวิทยาเขตกระจายอยู่ทั่วประเทศ และเครือข่ายมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล โดยจะประชาสัมพันธ์ให้อาจารย์ เจ้าหน้าที่มหาวิทยาลัย และนักศึกษาของแต่ละสถาบัน เข้าร่วมโครงการในฐานะหัวหน้าเขตเพื่อบริหารอาสาสมัครใน 400 เขต
ระดับที่ 3 อาสาสมัครศูนย์ปฏิบัติการวันเลือกตั้ง (Election Day War Room) ที่จะทำหน้าที่วอร์รูม ส่งคะแนนจากอาสาสมัครทั้ง 400 เขต เพื่อกลั่นกรองและตรวจสอบคะแนนให้ถูกต้องมากที่สุดก่อนส่งเข้าระบบประมวลผลของส่วนกลาง ก่อนเชื่อมโยงไปยังสำนักข่าวต่างๆ ที่เข้าร่วมโครงการประมาณ 34 สำนัก
ทั้งนี้ สถานีโทรทัศน์ PPTV จะเป็นส่วนหนึ่งในสื่อที่ร่วมรับผลการเลือกตั้ง เพื่อนำไปรายงานข้อมูลผลการเลือกตั้งอย่างแม่นยำต่อไป