กรมอุตุนิยมวิทยา พยากรณ์ค่าดัชนีความร้อนสูงสุดรายวัน ระหว่างวันที่ 4 - 6 เมษายน 2566 โดยเตือนภัยให้ประชาชนระมัดระวังความร้อนที่อาจทำให้เกิดภาวะฮีทสโตรก หรือลมแดดได้ ดังนี้
- วันที่ 5 เมษายน 2566 จังหวัดและพื้นที่ที่ต้องระวัง ได้แก่ แม่สอด จ.ตาก (41 องศาเซลเซียส) ศรีสะเกษ (38.4 องศาเซลเซียส) บางนา กทม. (45.5 องศาเซลเซียส) ชลบุรี (45.8 องศาเซลเซียส) พังงา (43.3 องศาเซลเซียส)
- วันที่ 6 เมษายน 2566 จังหวัดและพื้นที่ที่ต้องระวัง ได้แก่ เพชรบูรณ์ (40.6 องศาเซลเซียส) ศรีสะเกษ (41.5 องศาเซลเซียส) บางนา กทม. (50.2 องศาเซลเซียส) แหลมฉบัง จ.ชลบุรี (49.4 องศาเซลเซียส) ภูเก็ต (47.9 องศาเซลเซียส)
สำหรับ ค่าดัชนีความร้อน แบ่งเป็น 4 ระดับ คือ
- ระดับเฝ้าระวัง 27-32 องศาเซลเซียส หรือสีเขียว เป็นระดับที่ร่างกายอ่อนเพลีย วิงเวียน คลื่นไส้ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัวจากการสัมผัสความร้อน หรือออกกำลังกายหรือทำงานใช้แรงงานท่ามกลางอากาศร้อน
- ระดับเตือนภัย 32-41 องศาเซลเซียส หรือสีเหลือง ถ้าขั้นนี้จะเกิดตะคริวจากความร้อน และอาจเกิดอาการเพลียแดด หากสัมผัสความร้อนเป็นเวลานาน
- ระดับอันตราย 41 - 54 องศาเซลเซียส หรือสีส้ม ระดับนี้จะมีอาการตะคริวที่น่อง ต้นขา หน้าท้องหรือไหล่ทำให้ปวดเกร็ง มีอาการเพลียแดด และอาจเกิดภาวะลมแดดหรือฮีทสโตรกได้ หากสัมผัสมความร้อนนานๆ
- ระดับอันตรายมาก มากกว่า 54 องศาเซลเซียส ถ้าถึงขั้นนี้ร่างกายจะเกิดภาวะลมแดด
กรมอุตุนิยมวิทยา ให้คำแนะนำไว้ว่า กลุ่มเสี่ยงควรงดกิจกรรมกลางแจ้ง หากจำเป็นควรสวมหมวก แว่นกันแดด สวมเสื้อผ้าที่ระบายอากาศได้ดี หากทำงานกลางแจ้งควรทำงานเป็นกลุ่ม หลีกเลี่ยงดื่มชา กาแฟ สุรา และน้ำอัดลม แต่ให้ดื่มน้ำสะอาดบ่อยๆ
นอกจากนี้ ยังประกาศค่ารังสียูวีในประเทศไทยมี 25 จังหวัดที่มีค่าสูงกว่า 11 เช่น เชียงราย, เชียงใหม่, ขอนแก่น, อุบลราชธานี, กำแพงเพชร, ตราด, จันทบุรี, ภูเก็ต, นครศรีธรรมราช, สงขลา และนราธิวาส