“เปิดข้อมูลรัฐ” กุญแจปราบคอร์รัปชันที่ไทยยังมีไม่เพียงพอ


โดย PPTV Online

เผยแพร่




การปราบคอร์รัปชันในไทยมีการนำเสนอวิธีแก้ไขกันหลายสูตร แต่หนึ่งในกุญแจสำคัญที่ไทยยังขาด คือ “การเปิดเผยข้อมูลรัฐ”

หากมีคนถามว่า เมื่อไหร่เรื่องของ “การทุจริตคอร์รัปชัน” จะหมดไปจากประเทศไทย เชื่อว่าคงยากที่ใครจะให้คำตอบที่ชัดเจนได้ แต่ที่ผ่านมาภาคส่วนต่าง ๆ ก็ได้มีความพยายามมากขึ้นในการยกระดับการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ

หนึ่งในกุญแจสำคัญที่จะนำไปสู่การปราบโกงได้คือ การผลักดันให้มี “การเปิดเผยข้อมูลข่าวสารสาธารณะ” โดยหน่วยงานและองค์กรต่าง ๆ โดยเฉพาะภาครัฐ ที่ปัจจุบันยังคงมีไม่เพียงพอ

คอนเทนต์แนะนำ
ประกาศฉบับที่ 2 เตือน “ฝนตกหนัก-ลมกระโชกแรง” 27 - 30 พ.ค.นี้
กางปฏิทินจ่ายเงินเดือนข้าราชการ ค่าจ้างลูกจ้างประจำ บำนาญ ปี 2566
เลือกตั้ง 2566 : เบื้องลึก! แฉ"พิธา"ถือหุ้นITV บังเอิญหรือเกมตัดตอน?

 

 

สถานการณ์คอร์รัปชันไทยในปัจจุบัน อยู่ตรงไหนแล้ว?

ในการเสวนา “ลงทุนไทยไร้สินบน : ปลดล็อกข้อมูลรัฐ จุดเปลี่ยนปราบโกง” วิทยากรที่เข้าร่วมการเสวนาให้ความเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า สถานการณ์ในบางด้านของไทยมีแนวโน้มดีขึ้น แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่มีการเปลี่ยนแปลงที่สร้างอิมแพกต์มากพอ

รศ.ดร.ต่อตระกูล เกษมมงคล กรรมการมูลนิธินโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล กล่าวว่า การปราบปรามคอร์รัปชันในปัจจุบันมีความเข้มงวดมากขึ้น ในระดับที่ว่า “ถ้าไปถามคนเรียกสินบน เขาก็จะบอกว่าตอนนี้เสี่ยงมาก ขอขึ้นค่าสินบน 2 เท่า แปลว่าเขากลัว แต่ก็ยังทำอยู่”

คุณต่อตระกูลบอกว่า สิ่งหนึ่งที่ดีขึ้นคือ การเข้ามามีส่วนร่วมของคนรุ่นใหม่ ตัวอย่างเช่นที่องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน มีการรวบรวมข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้าง การประมูลงานต่าง ๆ มีคนคอยเก็บรวบรวมมา ถ่ายรูป สังเกตการณ์ จับตาว่านักการเมืองมีทรัพย์สินเท่าไหร่ มีคนที่พยายามเข้ามาตรวจสอบเงินของรัฐมากขึ้น ทำให้สามารถตรวจพบการทุจริตได้ เช่นกรณีที่เกิดขึ้นกับเสากินรี เป็นต้น

ป.ป.ช. ย้ำ “ประเทศไทยยังไม่หมดหวัง” ในการปราบปรามการทุจริต

5 ประเภททุจริตคอร์รัปชั่น เนื้อร้ายกัดกินประเทศไทย

ศูนย์ CDC โมเดลป้องปรามทุจริตเชิงรุก

ด้าน ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เห็นด้วยว่า ปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) หรือภาคเอกชน ต่างมีความเข้มแข็งขึ้น เริ่มเห็นเทรนด์ที่ดี

“คอร์รัปชันก็เหมือนช้างในบ้าน เป็นปัญหาใหญ่ที่บางคนมองไม่เห็น แต่วันหนึ่งมันอาจล้มมาทับเราตายได้ ในกทม.เองก็มีเคสที่จับได้คาหนังคาเขา เราต้องเอาจริงเอาจัง” คุณชัชชาติกล่าว

เขาเสริมว่า ในส่วนเฉพาะของกทม.มีปัญหาเรื่องการใช้งบประมาณ การใช้ทรัพย์สินราชการ รวมถึงการโกง “เวลา” ซึ่งถือเป็นทรัพย์สินราชการเช่นกัน

โดยการโกงเวลานี้มีความหมายถึง กระบวนการขั้นตอนต่าง ๆ ที่ล่าช้า เพราะต้องรอการพิจารณาผ่านดุลยพินิจของผู้มีอำนาจ เช่น การแจ้งปัญหาทางเท้าชำรุดในกทม. กว่าจะส่งเรื่องมาถึงผู้ว่าฯ เฉลี่ยใช้เวลาอย่างน้อยครึ่งเดือน นานที่สุด 1 เดือนครึ่ง ทั้งที่หากลดขั้นตอนบางอย่างลงไป จะสามารถประหยัดเวลาในการทำงานไปได้มาก

ขณะที่ คุณกิตติ ตั้งจิตรมณีศักดา รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย มองว่า ที่ผ่านมา ไม่เห็นความเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญเกี่ยวกับการคอร์รัปชัน

คุณกิตติบอกว่า ค่าดัชนีการรับรู้คอร์รัปชัน (CPI) ของประเทศไทยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ได้คะแนนอยู่ที่ 34-38 คะแนนประมาณนี้มาโดยตลอด สูงสุดเคยได้แค่ 38 คะแนนเท่านั้น แต่เมื่อเทียบกับประเทศในอาเซียนด้วยกัน พบว่า เวียดนาม 10 ปีที่ผ่านมาขึ้นมา 11 คะแนน ส่วนอินโดนีเซียขึ้นมา 8 คะแนน แม้อันดับของสองประเทศยังต่ำกว่าไทย แต่พวกเขามีการพัฒนาเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นมาก ประเทศไทยไม่ไปไหนเลย

“ไทยน่าเป็นห่วง คอร์รัปชันจะกระทบเศรษฐกิจ สังคม และการพัฒนา ในทางธุรกิจก็คล้ายกัน ต้นทุนแพงขึ้น และถ้าข้อจำกัดเยอะ ประสิทธิภาพก็ลดลง ขยับไปไหนไม่ได้ แข่งกับใครไม่ได้ เงินที่มีแทนที่จะช่วยประชาชน ช่วยพัฒนาประเทศ การเอาเงินไปผลาญ เป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้”

นอกจากนี้ ลักษณะของสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นในประเทศไทยขณะนี้คือ คอร์รัปชันขนาดเล็กกำลังลดลง แต่คอร์รัปชันขนาดใหญ่มีความซับซ้อนเพิ่มขึ้น

“ด้วยเทคโนโลยี โซเชียลมีเดีย ทุกคนเป็นนักสืบได้หมด ทำให้คอร์รัปชันตามถนนหนทาง ตามหน่วยงานต่าง ๆ เจ้าหน้าที่ตัวเล็ก ๆ ที่โกง ลดลงไปมาก แต่คอรืรัปชันระดับนโยบาย คอร์รัปชันที่หนักหนาสาหัสมีเยอะขึ้น ป้องกันยาก การเปิดเผยข้อมูลให้โปร่งใสจึงเป็นหนึ่งในวิธีที่ดีมาก” คุณกิตติกล่าว

คอนเทนต์แนะนำ
กรมการค้าภายใน ติดเบรกผู้ค้าขึ้นราคาสินค้า นำค่าแรง
ร้านขายกัญชาหวั่น ซิกแซกลงใต้ดิน หากเป็นยาเสพติด
สภาองค์การนายจ้างแห่งประเทศไทย เสนอรัฐบาลชุดใหม่ เร่งแก้ปัญหาแรงงานข้ามชาติทันที

การเปิดเผยข้อมูลของรัฐ ช่วยแก้ปัญหาคอร์รัปชันได้อย่างไร?

รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ ประธานกรรมการสถาบันปรีดี พนมยงค์ ให้ความเห็นว่า การจะแก้คอร์รัปชันได้ ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่าย ตัวอย่างจากเกาหลีใต้ ฮ่องกง หรือญี่ปุ่น คือต้องได้ผู้นำทางการเมืองที่มีเจตจำนงชัดเจน ทั้งองคาพยพของผู้นำทางการเมือง ร่วมกับสื่อ กับประชาชน

“ต้องทำให้ไทยเป็น Open Government (รัฐบาลเปิดเผย) มากกว่าแค่เปิดเผยข้อมูล เทคโนโลยีวันนี้ทำให้เกิด Radical Transparency หรือความโปร่งใสที่ทำให้เกิดการถอนรากถอนโคน แต่มันยังไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงในระบบ” คุณอนุสรณ์กล่าว

เขาเสริมว่า ที่เป็นเช่นนั้นเพราะที่ผ่านมาประเทศไทยเป็นระบอบอำนาจนิยม ไม่โปร่งใส ต่างจากหลักการหนึ่งของประชาธิปไตยที่ว่า ประชาชนต้องมีส่วนร่วม “แต่การยึดอำนาจที่ผ่านมาประชาชนไม่มีส่วนร่วม การเลือกตั้งต้องแคร์เสียงประชาชน แบกความหวังของประชาชน แต่คนที่ยึดอำนาจมาหรือมาด้วยวิธีอื่นเขาไม่แคร์ประชาชน ยกเว้นเป็นคนดีมีคุณธรรม ซึ่งคนก็เปลี่ยนได้ แต่ถ้าระบบถูกตรวจสอบอย่างเข้มงวด การคอร์รัปชันจะเกิดยากขึ้น”

เขาบอกว่า 4 ปัจจัยของการสร้าง Open Government คือ เปิดเผยข้อมูลรัฐ สิทธิของประชาชนในการเข้าถึงข้อมูล การมีส่วนร่วมของประชาชน และการรับเรื่องร้องเรียนจากประชาชน ดังนั้นจะเห็นว่า เรื่องของการเปิดเผยข้อมูลรัฐนั้น เป็นเรื่องที่จะขาดไปไม่ได้

บางท่านอาจสงสัยว่า ข้อมูลของภาครัฐเกี่ยวข้องอะไรกับเรื่องของการปราบปรามคอร์รัปชัน คุณชัชชาติพูดสรุปโดยง่ายว่า “ข้อมูลก็เหมือนกับไฟฉายที่ใช้ส่องเข้าไปในความมืด เพื่อทำให้เราเห็นปัญหาที่เรียกว่าคอร์รัปชัน”

กล่าวคือ การที่ภาครัฐเปิดเผยข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้าง การประมูลโครงการต่าง ๆ จะทำให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการตรวจสอบการใช้งบประมาณรวมถึงตรวจหาความผิดปกติที่อาจเกิดขึ้นได้ เป็นหนึ่งในการเฝ้าระวังการคอร์รัปชัน

รศ.ดร.ต่อตระกูล บอกว่า สังเกตได้ง่าย ๆ องค์กรที่ยิ่งโกงจะยิ่งขัดขวางไม่ให้ประชาชนเห็นข้อมูล ดังนั้นต้องเปิดเผยอย่างจริงใจ เพื่อให้นำข้อมูลไปวิเคราะห์ได้

“ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีเอไอจะทำให้อีกหน่อยโยนข้อมูลลงไปตูมเดียว ถ้าข้อมูลโปร่งใสพอ มันจะบอกได้เลยว่าองค์ไหนโกงที่สุด แต่ทุกวันนี้เราขาดข้อมูล ทั้งที่มีกฎหมายว่าต้องเปิดเผย” คุณต่อตระกูลกล่าว

คุณชัชชาติเสริมว่า หลักการของเรื่องนี้คือ ต้องทำให้ข้อมูล “เปิดอัตโนมัติ ไม่ใช่ปิดอัตโนมัติ” และต้องอยู่ในรูปแบบที่เข้าถึงและอ่านได้ง่าย และบอกว่า กทม.ทุกวันนี้ทำแบบที่อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ บารัก โอบามา เคยทำ คือนำข้อมูลรัฐมาเป็นดิจิทัลไฟล์ที่ใคร ๆ ก็สามารถเข้าไปอ่านได้ตลอดเวลา

“เราพยายามผลักดันให้เกิด Open Bangkok คือเปิดทุกอย่าง ให้กทม.ในฝันเป็นจริง คือมีความโปร่งใส รับผิดชอบ และประชาชนมีส่วนร่วม เกิดเป็นรัฐที่ประชาชนเชื่อใจ” ผู้ว่าฯ กทม.กล่าว

คุณชัชชาติยกตัวอย่างว่า ในช่วงเลือกตั้งที่ผ่านมา กทม.ใช้กล้องวงจรปิด CCTV และเขียนโปรแกรมจับการเคลื่อนไหวให้ส่งไลน์มาแจ้งเตือนหากพบสิ่งผอดปกติ นี่คือตัวอย่างของความโปร่งใสให้ประชาชนไว้วางใจ

หรืออย่างการใช้ “Traffy Fondue” เป็นแพลตฟอร์มพัฒนาโดย สวทช. ที่มีมา 4 ปีแล้ว ลักษณะคือ ให้ประชาชนแจ้งปัญหาเข้ามาผ่านแพลตฟอร์ม เช่น ฝาท่อพังในเขตดุสิต จะเห็นผ่านแพลตฟอร์มได้เลยว่า แจ้งเข้าเมื่อไร มีคนรับเรื่องเมื่อไร แก้ไขเสร็จเมื่อไร มีร่องรอย (Footprint) ติดตามตรวจสอบได้ ให้คะแนนได้ด้วยว่าพึงพอใจกับการแก้ไขปัญหาแค่ไหน

“นี่คือความโปร่งใส แก้ปัญหาได้โดยไม่ต้องแจ้งผู้ว่า ... ไม่ต้องสนใจผู้ว่า ไปสนใจประชาชน นี่คือการแก้เรื่องการคอร์รัปชันเวลา” คุณชัชชาติบอก

คอนเทนต์แนะนำ
"THAIFEX 2023" คืองานอะไร จัดที่ไหน ลงทะเบียนอย่างไร เช็กที่นี่!
เปิดประวัติ "หมอชลน่าน" หัวหน้าพรรคเพื่อไทย กับเจ้าของวลี "ชกได้ ชกไปแล้ว"
"วันวิสาขบูชา 2566" ตรงกับวันไหน พร้อมเปิดประวัติ-ความสำคัญ

เรื่องที่คุณอาจพลาด
วิดีโอยอดนิยม

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์


TOP สังคม

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ