เริ่มมีความคืบหน้ามากขึ้นเรื่อยๆ สำหรับการตรวจสอบกรณี “ส่วยสติ๊กเกอร์” โดยหนึ่งในหน่วยงานที่มีหน้าที่ตรวจสอบเรื่องการทุจริตของหน่วยงานหรือเจ้าหน้าที่รัฐ คือคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)
โดยล่าสุดนายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการ ป.ป.ช. บอกว่าที่ผ่านมา ป.ป.ช.ได้วางแนวทางการตรวจสอบไว้แล้ว ซึ่งได้นำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีรับทราบเมื่อปลายปี 2564 ที่ผ่านมา และได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเกี่ยวกับการใช้รถ เช่น กรมทางหลวงชนบท ดำเนินการตามมาตรการต่าง ๆ
ส่วนการเอาผิดต้องขึ้นอยู่กับพยานหลักฐานและการชี้เบาะแส นายนิวัติไชยยอมรับว่าหลักฐานที่มีการออกมาเปิดเผย ทั้งสลิปโอนเงินและสติ๊กเกอร์ยังไม่เพียงพอที่จะเอาผิดได้ และส่วนใหญ่การเรียกรับเงินในลักษณะนี้จะรับเป็นเงินสด ตรงนี้ยอมรับว่าสาวไปถึงข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ได้ยาก แต่หลักฐานสำคัญคือข้อมูลจากผู้ประกอบการที่เป็นคนจ่ายเงินให้เจ้าหน้าที่รัฐ นายหน้าที่เป็นตัวกลาง รวมถึงเจ้าหน้าที่รัฐที่รับเงิน ต้องเป็นคนออกมาให้ข้อมูล แต่ยอมรับว่าเป็นเรื่องยากที่คนกลุ่มนี้จะยอมออกมาพูด
แต่ถ้าผู้ประกอบการ นอมินี และเจ้าหน้าที่ที่เรียกรับเงิน ไม่ยอมออกมาพูด ป.ป.ช.ก็สามารถแสวงหาข้อเท็จจริงจากพยานหลักฐานหรือกระบวนการอื่น ๆ ที่จะไปพิสูจน์ทราบความผิดได้ เช่น การเอาผิดในรูปแบบการปล่อยปละละเลยหรือการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่สามารถวินิจฉัยได้
ผบ.ตร. ยอมรับมี “ส่วยสติกเกอร์”จริง สั่งตั้งชุดเฉพาะกิจตรวจลุยสอบ
“วิโรจน์” ชี้แก้ต้นตอส่วย-ทบทวนกฎหมาย ปิดช่องโหว่เจ้าหน้าที่รีดไถปชช.
จับตาประชุมนัดแรก คณะกรรมการสอบฯส่วยสติ๊กเกอร์ ตั้งเป้าเสร็จใน 15 วัน
“สิ่งที่ ป.ป.ช.ต้องการมากที่สุดข้อมูลนี่แหละครับ เพราะเวลาที่นำคดีหรือมีการไต่สวนเราต้องใช้พยานหลักฐานเพื่อนำคดีขึ้นสู่ศาล คนรับผมคิดว่าคงไม่มีใครออกมาบอกหรอก ยากมาก แต่ขอให้เรารู้กลุ่มว่าใครบ้างที่มีหน้าที่ในเรื่องนี้ อย่างเส้นทางนี้ใครรับผิดชอบ ก็พอจะแงะได้ รถที่วิ่งอยู่ ผู้ประกอบกิจการวันนี้ท่านจะยอมไหม ท่านถูกบังคับข่มขู่หรือว่ายินยอมพร้อมใจกัน และตั้งหวังไว้ว่าอนาคตข้างหน้าท่านไม่อยากจะเสียเงินให้กับส่วยแล้ว จะวิ่งถูกต้องตามกฎหมาย วันนี้ท่านออกมาพูดไหมครับว่าผมต้องจ่ายเงินให้กับกลุ่มบุคคลเหล่านี้ ต้องไปซื้อสติ๊กเกอร์ให้กลุ่มบุคคลเหล่านี้ ป.ป.ช.อาจจะกันท่านเป็นพยานในฐานะท่านให้สินบนเจ้าหน้าที่รัฐ”
ส่วนตอนนี้รู้แล้วว่ามีเจ้าหน้าที่รัฐคนไหนที่เกี่ยวข้องบ้าง รวมถึงนอมินีที่เป็นตัวกลางคอยประสานกับผู้ประกอบการและทำสติ๊กเกอร์ขึ้นมา ซึ่ง ป.ป.ช.อาจจะมีการเชิญบุคคลที่เกี่ยวข้องในเรื่องนี้มาให้ข้อมูลเพิ่มเติม แต่ยังระบุวันที่ที่ชัดเจนไม่ได้เพราะอยู่ระหว่างตรวจสอบและรวบรวมพยานหลักฐาน