ก่อนหน้านี้ เฟซบุ๊ก 'ชมรมแพทย์ชนบท' โพสต์ภาพหน้าเว็บไซต์ ประกาศขายข้อมูลกว่า 2.2 ล้านชื่อ อ้างว่าเป็นข้อมูลจาก กระทรวงสาธารณสุขของไทย ล่าสุด มาอีกแล้วปล่อยข้อมูลรอบ 2 โดยระบุตอนหนึ่งว่า
นึกว่าจะจบ แต่ไม่จบ แฮกเกอร์ ปล่อยข้อมูลออกมารอบ 2 แล้ว เพื่อบอกว่า ฐานข้อมูลที่ได้นั้นมาจากฐานของสาธารณสุข ตอบโต้ที่ทางรัฐมนตรีชี้แจงว่า ข้อมูลนี้ไม่ได้หลุดจากกระทรวงสาธารณสุข ไม่รู้ใครไปบอกไปติวท่านรัฐมนตรีว่า ไม่ใช่ข้อมูลกระทรวงสาธารณสุข ต้องโทษคนบอกคนติวให้ข้อมูลผิดๆ จนท่านเสียหาย
อย่างไรก็ตาม รายชื่อที่หลุดก่อนหน้านี้ มีข้อมูลระบุว่า รายชื่อคนไทยที่ถูกขายในราคา 10,000 ดอลลาร์ หรือราว 360,000 บาท
พร้อมกันนี้ ได้มีข้อเสนอและทางออกสำหรับ Cyber- security ในระบบสาธารณสุข จากชมรมแพทย์ชนบท ระบุว่า หลังรัฐบาลออกนโยบายบัตรประชาชนใบเดียวรักษาทุกที่เป็นก้าวสำคัญยิ่งของการต่อยอดนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค อย่างไรก็ตาม การจะทำให้นโยบายเกิดจริงได้จะต้องมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลเวชระเบียนของผู้ป่วยเพื่อ
-มีประวัติพื้นฐานในการรักษาผู้ป่วย
-ป้องกันการจ่ายยาซ้ำซ้อน
-ป้องกันปัญหาการแพ้ยา
และนี่คือปัจจัยแห่งสำเร็จของนโยบายนี้ที่ทุกคนต่างก็ตระหนัก
แต่ปัจจุบันระบบที่ใช้แลกเปลี่ยนข้อมูลในปัจจุบันยังไม่มีการออกแบบให้มีการรักษาความปลอดภัยมากเพียงพอต่อการแลกเปลี่ยนข้อมล และยังไม่สามารถแลกเปลี่ยนอย่างอัตโนมัติและไร้รอยต่อได้จริง คนที่เข้าใจระบบจริงต่างก็มองว่า “โรงพยาบาลเล่นละคร ก๊อปข้อมูลไปรวมกันแล้วบอกว่าแลกเปลี่ยนได้" ซึ่งนั่นไม่ใช่ระบบที่มั่นคง ไม่ได้มี security ที่เพียงพอ
ทางแก้ไขเพื่อให้ใช้งานได้จริง เกิดประโยชน์กับประชาชนจริงๆ ข้อมูลส่วนบุคคลของคนไข้ปลอดภัย ต้องปรับระบบพื้นฐานไปใช้ระบบที่ออกแบบมาเพื่อการแลกเปลี่ยนข้อมูลโดยตรง( Information Exchange System or Data Exchange Layer) สาย information technology จะเข้าใจ (เช่นเดียวกับระบบของธนาคาร ที่มีการทำธุรกรรมทางการเงินแลกเปลี่ยนข้อมูลข้ามธนาคาร แต่มีความมั่นคงสูงสุด) รวมทั้งมีการวางระบบของ National Digital Health Platform ให้เป็น platform ที่ตอบสนองต่อทั้งการใช้งานและความมั่นคงทางไซเบอร์ การแลกเปลี่ยนข้อมูลจึงจะทำได้จริง ปลอดภัย เกิดประโยชน์ยั่งยืน และป้องกันการนำข้อมูลไปใช้ในวัตถุประสงค์อื่นนอกจากการรักษา
ข้อมูลด้านสุขภาพนอกจากเป็น Sensitive Personal Data แล้ว ยังเป็นข้อมูลที่มีมูลค่าสูงมากกับบริษัทยา บริษัทเครื่องมือแพทย์อีกด้วย ซึ่งนอกจากต้องวางระบบให้มีการแลกเปลี่ยนอย่างปลอดภัยเพื่อใช้กับผู้ป่วยแล้วยังต้องป้องกันไม่ให้ใครนำข้อมูลของคนไทยไปใช้ทางการค้าแบบไม่ได้รับอนุญาตด้วย
สรุปสั้นที่สุดคือ เปลี่ยนระบบมาใช้ระบบที่ออกแบบมาเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลจริงๆ Cyber-security ในระบบสาธารณสุขจึงจะมั่นคงปลอดภัย และสร้างความเชื่อถือให้ประชาชนได้
นี่คือข้อเสนอทางวิชาการสมาชิกกลุ่มแพทย์ที่มีความรู้ทาง IT ของชมรมแพทย์ชนบท (เพียงแต่เขียนให้ง่าย ในภาษาสำหรับประชาชนทั่วไป) และขอเชิญชวนผู้รู้หรือชาวสาธารณสุขทุกทุกท่าน ร่วมกันเสนอแนะ เพื่อการพัฒนาระบบ digital health ของประเทศไทย