"คดีตากใบ" เป็นโศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นเมื่อราว 20 ปีก่อนที่ถูกกลับมาเป็นที่พูดถึงในสังคมอีกครั้ง เนื่องจากกระบวนการทางกฎหมายมาสิ้นสุดในวันที่ 25 ตุลาคมนี้ ซึ่งคงเป็นที่ชัดเจนแล้วว่า ผู้ต้องหาต่าง ๆ โดยเฉพาะผู้ที่เป็นเจ้าหน้าที่รัฐ ยังไม่มีใครเข้าสู้กระบวนการยุติธรรมแม้แต่คนเดียว
ด้วยเหตุนี้ ทำให้มีคำถามเกิดขึ้นว่า บาดแผลเมื่อกว่า 20 ปีก่อนจะกลับมาหลอกหลอนคนไทย กลายเป็นความขัดแย้งในบริเวณจังหวัดชายแดนภาคใต้เพิ่มขึ้นหรือไม่
นายศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ นักวิชาการอิสระ และ ผศ.วันวิชิต บุญโปร่ง รองคณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ร่วมพูดคุยกับ PPTV ในรายการคุยข้ามช็อต Exclusive Talk พร้อมวิเคราะห์เกี่ยวกับกรณีนี้ไว้อย่างน่าสนใจ
กรมอุตุฯ ประกาศฉบับที่ 3 อิทธิพลพายุ “จ่ามี” ฝนถล่มไทย 26-29 ต.ค. นี้
เช็กชื่อ 7 จำเลยคดีตากใบ! ที่ยังจับดำเนินคดีไม่ได้
ตาราง MotoGP 2024 ! โปรแกรมถ่ายทอดสด โมโตจีพี 2024 พร้อมลิงก์ดูโมโตจีพี
"ตากใบ" ไม่เหมือน "6 ตุลาฯ" เชื่อคำขอโทษนายกฯ ไม่เพียงพอ
นายศิโรตม์ กล่าวว่า ประเทศไทยไม่เคยมีคนเสียชีวิตพร้อมกัน 85 ศพ ทำให้กรณีตากใบไม่เหมือนกับเหตุการณ์ 6 ตุลาคม ปี 2519 หรือการสลายการชุมนุมที่แยกราชประสงค์ ปี 2553 เพราะกว่าคนจะเสียชีวิตก็เป็นหลายชั่วโมง ขระที่กรณีตากใบนั้นผู้คนกว่า 85 ชีวิตสูญสิ้นในพริบตา และไม่ใช่การตายขณะชุมนุม แต่เป็นการตายขณะชุมนุม ถูกจับมัด ไม่มีอาวุธ ทุกคนคือผู้บริสุทธิ์ตามกฎหมาย แม้กระทั่งมีเด็กอายุ 16 ปีเสียชีวิต เพราะไปมุงดูการชุมนุม
เพราะฉะนั้น เรื่องนี้จึงรุนแรงกว่าเรื่องปกติ ถ้าเป็นเรื่องที่แรงกว่าปกติแน่นอนว่าต้องเป็นเรื่องการเมืองโดยปริยาย 85 ศพตายในรถบรรทุกทหาร ไม่เป็นเรื่องการเมืองไม่ได้ เมื่อตนรู้ว่า พล.อ.พิศาล วัฒนวงษ์คีรี อดีตแม่ทัพภาคที่ 4 ผู้สั่งการให้สลายการชุมนุมที่ตากใบในขณะนั้น ได้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคเพื่อไทย ก็ตั้งคำถามว่าพรรคเพื่อไทยและนายทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นจะคิดอย่างไร
ซึ่งทางพรรคเองก็เงียบ ไม่มีคำตอบ คำตอบเดียวที่มีคือรู้ว่า "นายใหญ่" จะเอา และมีคนของทางพรรคพยายามกลบเกลื่อนไม่ให้มีการจดจำในเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง
นายศิโรตม์ เล่าว่า ครั้งหนึ่งขณะที่ตนจัดรายการหนึ่งเกี่ยวกับเรื่องตากใบ และมีการเปิดคลิปวิดีโอตากใบขึ้นมาเผยแพร่ ซึ่งหลังจากที่จัดรายการเสร็จ ก็มีบุคคลหนึ่งซึ่งภายหลังได้เป็นรัฐมนตรี โทรมาขอให้ลบคลิปรายการนี้ทิ้ง เพราะจะกระเทือนถึงคนที่เป็นพลเอก และจะกระเทือนไปยังคนที่ใหญ่กว่าพลเอก ซึ่งทางพรรคเองก็ทราบมาตลอด
ประเด็นของปัญหานี้ไม่ได้เกิดขึ้นเพราะนางสาวแพทองธารเป็นนายกรัฐมนตรี ประเด็นอยู่ที่ว่าคดีกำลังจะครบ 20 ปีพอดี ใกล้หมดอายุความ หากนายพิธา นายเศรษฐา หรือแม้กระทั่งนายอนุทินได้เป็นนายกฯ ก็ต้องโดนกดดันให้จัดการปัญหานี้พอดี
ส่วนตัวหลังจากฟังนางสาวแพทองธารแถลงขอโทษก็รู้สึกไม่สบายใจ เนื่องจากพยายามพูดหลายเรื่องว่ารัฐบาลได้ทำเต็มที่ จ่ายเงินเยียวยาแล้ว ตนไม่อยากให้นางสาวแพทองธารระบุว่าจ่ายเงินเยียวยาแล้ว เนื่องจากการจ่ายเงินเยียวยาเป็นในเรื่องของทางแพ่ง แต่คดีนี้เป็นคดีอาญา ที่จำเลยอยากให้นำคนผิดมาลงโทษ
การจ่ายเงินเยียวยากับการตัดสิทธิในการฟ้องร้องทางการเมืองเป็นคนละเรื่องกัน จะมาบอกว่าจ่ายเงินเยียวยาแล้วห้ามห้องร้องทางอาญาไม่ได้ แปลว่าคนมีเงินทำคนตายและเอาเงินฟาดหัวบอกว่าจ่ายให้แล้วอย่าเอาผิดลูกผม แบบนี้ไม่ได้ อยากให้นายกรัฐมนตรีย้ำเรื่องนี้ด้วย
นายศิโรตม์ กล่าวว่า คำขอโทษของนายกรัฐมนตรีนั้นตนตอบไม่ได้ว่าจะมีความหมายขนาดไหน แต่ในความเป็นรัฐ และความเป็นผู้นำทางการเมือง ส่วนตัวมองว่าประชาชนคาดหวังมากกว่าคำขอโทษ และเชื่อว่าประชาชนอยากให้รัฐนำคนผิดมาลงโทษตามกระบวนการทางกฎหมาย ในชีวิตจริงแค่คนรวยขับรถชนคนตายและออกมาขอโทษ เรายังไม่ยอมเลย แต่นี่คือ 85 ศพ ถ้าเอาตัวเราไปอยู่ในบริบทที่มีความสูญเสีย เชื่อว่าคำขอโทษไม่เพียงพอ ต้องมีอะไรมากกว่านั้น
เที่ยงคืน 25 ตุลาคม หวั่น "ตากใบ" ถูกใช้เป็นมูลเชื้อก่อความไม่สงบ
ผศ.วันวิชิต กล่าวว่า ตนมองว่าเรื่องนี้อ่อนไหวและเปราะบางมาก เพราะหลังจากพ้นเที่ยงคืนวันที่ 25 ตุลาคมนี้ไปแล้ว ตนหวั่นใจว่าเหตุนี้จะถูกใช้เป็นมูลเชื้อที่ใช้เป็นข้ออ้างสำหรับกลุ่มก่อความไม่สงบ ในการนำไปขยายความ เชื่อว่าจะอย่างไรก็เป็นประเด็นทางการเมือง และที่นายกรัฐมนตรีแถลงขอโทษนั้น ควรแถลงโดยลงรายละเอียดพร้อมขอโทษที่นำ พล.อ.พิศาล มาเป็น สส.บัญชีรายชื่อ
ส่วนตัวเชื่อว่าสถานการณ์ที่บานปลายมาจนถึงขนาดนี้ เป็นเพราะการแต่งตั้ง พล.อ.พิศาล เป็น สส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย ถ้า พล.อ.พิศาล เป็นข้าราชการบำนาญ หรือเป็นทหารนอกประจำการไปแล้ว สถานการณ์จะไม่บานปลายหรือรุนแรงถึงขนาดนี้ ซึ่งการแต่งตั้งก็อธิบายสาเหตุไม่ได้ ระบุได้เพียงว่า เป็นศิษย์เก่าโรงเรียนมัธยมเดียวกันกับนายทักษิณ
ถ้ามาดูรายละเอียดรายชื่อทั้ง 14 คนแล้ว นอกจาก พล.อ.พิศาล บางคนก็เติบโตขึ้นมาเป็น ผบ.ตร. สมาชิกวุฒิสภา เป็นผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เช่น พล.ต.อ.วงกต มณีรินทร์ พล.ต.ท.มาโนช ไกรวงศ์ เป็นต้น
ซึ่งหลังจากเกิดเหตุดังกล่าวหลายคนก็ทยอยเกษียณราชการเหมือนเป็นการลงโทษกลาย ๆ ไปแล้ว แต่ในภาคส่วนอื่น ๆ เกิดคำถามขึ้นมาว่าเลือกปฏิบัติหรือไม่ ซึ่งถ้าดำเนินคดีตามกระบวนการปกติ ในส่วนนี้เห็นด้วยให้ผลักดันเต็มที่ แต่พอมาเป็นรัฐบาลพรรคเพื่อไทยสังคมไทยนั้นคาดหวัง เนื่องจากเป็นช่วงที่คดีใกล้จะหมดอายุความพอดี
ผศ.วันวิชิต กล่าวว่า เนื่องจากสมัยรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ คนไม่ได้รู้สึกว่าคดีใกล้จะหมดอายุความ ประกอบกับคนเชื่อว่ารัฐบาลพลเรือน รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งจะประทานความเป็นธรรมให้เขาได้ดีกว่ารัฐบาลชุดอื่น ๆ จึงมาคาดหวังที่พรรคเพื่อไทย และ พล.อ.พิศาล ก็ดันมาอยู่พรรคเพื่อไทย
ผศ.วันวิชิต กล่าวว่า พรรคเพื่อไทยเมื่อโอกาสที่ดีที่สุดคือ การปัดฝุ่น ตรวจสอบ หรือกลับไปปรับปรุงระบบเยียวยาใหม่ในเรื่องของทางแพ่ง หากย้อนไปในสมัยรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เงินสินไหมต่อผู้สูญเสียนั้นอยู่ที่ 7.5 ล้าน แต่เจ้าหน้าที่รัฐ เจ้าหน้าที่ทหาร-ตำรวจ ที่เสียชีวิตจากการปฏิบัติหน้าที่ โดยเฉพาะบริเวณ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้นั้นน้อยกว่ามาก
ตัวอย่างเช่น ทหารยศพันเอกเสียชีวิต เงินเดือน 50,000 บาท รัฐให้คูณ 25 เท่ากับเงินเดือนก้อนสุดท้ายครั้งเดียว ตกประมาณ 1.2 ล้านกว่าบาท เงินสินไหมทดแทน เยียวยาจากประกันชีวิตอีก 1 ล้านบาท ค่าทำศพ 20,000 บาท รวม 2 ล้านกว่า ๆ
ซึ่งเราต้องคำนึงถึงความรู้สึกของทุกภาคส่วน ให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย อาจเข้าไปติดตามว่ากระบวนการสร้างสันติภาพ แนวทางอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขทำอย่างไร เอาเจ้าหน้าที่รัฐและผู้สูญเสียมาพูดคุยกัน เช่นเดียวกับอินโดนีเซีย หรือประเทศอื่น ๆ ก็ใช้แนวทางนี้เช่นเดียวกัน ส่วนศาลกระบวนการยุติธรรมก็ต้องขึ้นไป ก็ว่ากันไป
"ตากใบ" เสริมแผลมุสลิมให้รุนแรงขึ้น
นายศิโรตม์ กล่าวว่า การที่มีผู้ก่อความไม่สงบหนีหมายจับเป็นเรื่องที่รัฐต้องไปเอาผิดผู้ก่อความไม่สงบ ไม่ใช่มาพูดเสมือนกับว่า มีผู้ก่อความไม่สงบหนีหมายจับ เพราะฉะนั้นการที่ทหารซึ่งเป็นจำเลยหนีคดีนั้นถูกต้อง จริง ๆ สิ่งที่รัฐบาลหรือรัฐทุกชุดทั่วโลกต้องทำเหมือนกันคือการผดุงความยุติธรรมให้คนทุกกลุ่ม
พื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้มีความรุนแรงมาก และมีความรุนแรงนาน อาจต้องย้อนไปตั้งแต่สมัยกบฎแขก 7 หัวเมือง เป็นหลักร้อยปีแล้ว หรือในช่วงใกล้เคียง ปี 2518 มีการสลายการชุมนุมที่ จ.ปัตตานี นาวิกโยธินสลายการชุมนุม มีผู้เสียชีวิต 30 กว่าคน ต้นเหตุมาจากการที่นาวิกโยธินชุดหนึ่งยิงประชาชน 5 คนเสียชีวิตทันที บริเวณสะพานแห่งหนึ่ง และมีเด็กรอดมาได้ กลายเป็นพยานปากเอก แสดงให้เห็นว่าแผลบริเวณนั้นเยอะมาก
ส่วนกรณีตากใบนั้นไม่ใช่การแก้แผลไหนเลย แต่ไปเสริมแผลในส่วนของคนมุสลิมให้รุนแรงขึ้น ซึ่งต้องย้ำว่าเหตุดังกล่าวเป็นการเสียชีวิตขณะถูกจับกุม เจ้าหน้าที่รัฐในทุกสังคมจะถูกมองว่าผิด หากเป็นกรณีมีผู้ก่อความไม่สงบหนีคดี ในจุดนั้นประชาชนจะมองว่าดีที่รัฐบาลต้องเร่งไปเอาผิด ไม่ใช่ว่ามีการก่อความไม่สงบ ประชาชน 85 ศพจึงต้องตายฟรี ต้องแยกกองปัญหาออกจากกัน เร่งหาทางแก้กับทุกฝ่าย
พรรคเพื่อไทย เตรียมเผชิญสึนามิลูกใหญ่ หลัง "ตากใบ" หมดอายุความ
ผศ.วันวิชิต กล่าวว่า ฉากทัศน์หลังจากที่คดีตากใบหมดอายุความแล้ว เชื่อว่าจะเป็นสึนามิทางการเมืองขนาดใหญ่ที่จะประดังประเดไปยังพรรคเพื่อไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เนื่องจากสารตั้งต้นนั้นเริ่มตั้งแต่สมัยรัฐบาลพรรคไทยรักไทย ที่นายทักษิณ ชินวัตรเป็นนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ไม่เข้าใจปัญหาในพื้นที่ เข้าใจว่าเป็นเรื่องของ "โจรกระจอก" ซึ่งเป็นคำคลาสสิกของนายทักษิณ
โดยขณะนั้น นายทักษิณ ลดอำนาจหน่วยงานความมั่นคง เช่น กองบัญชาการผสมพลเรือน ตำรวจ ทหารที่ 43 (พตท. 43) ซึ่งเป็นหน่วยงานสำคัญที่พยายามสร้างองคาพยพและเสริมสร้างการอยู่ร่วมกันของสังคมพหุวัฒนธรรมให้อยู่ร่วมกันอย่างสงบสุขมานานแล้ว
ซึ่งขณะนั้นนายทักษิณเชื่อว่าเรื่องดังกล่าวเป็นแค่เรื่องของคดีอาชญากรรม ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา 20 ปี ไม่เหมือนเดิม ต้องยอมรับว่านี่เป็นวิธีการที่ฝ่ายการเมืองปฏิเสธความรับผิดชอบนี้ไม่พ้น ซึ่งบังเอิญเหลือเกินว่าขณะนี้เป็นรัฐบาลของลูกสาวอย่างนางสาวแพทองธาร ชินวัตร
ทำให้เกิดการตั้งคำถามว่า นับแต่นี้ไปรัฐบาลพรรคเพื่อไทยจะเหลืออะไร และจะถูกสังคมตั้งคำถามว่า ท่านได้ประโยชน์โพดผลจากกระบวนการยุติธรรม ซึ่งจะโยงไปตั้งแต่กรณีชั้น 14 ของนายทักษิณ ชินวัตรแล้ว ซึ่งเป็นสิ่งที่ปฏิเสธเลี่ยงความรับผิดชอบใด ๆ ไม่ได้เลย
ผศ.วันวิชิต กล่าวต่อว่า หากตั้งคณะกรรมการทบทวนถอดบทเรียนอะไรต่าง ๆ คนไม่มั่นใจ ถ้าจะทำแบบนี้ แนะนำว่าอย่าเอาฝ่ายการเมืองไปเกี่ยว ให้เอาคนที่น่าเชื่อถืออีกสักชุดหนึ่งต่างหากลงพื้นที่จะดีกว่า อีกส่วนหนึ่งคือนโยบายการเมืองนำการทหารนโยบายต้องมีความชัดเจน ทว่าบทบาทความมั่นคงของนางสาวแพทองธาร ชินวัตร หรือนายภูมิธรรม เวชยชัย ยังไม่ชัดเจน
แนะลงโทษคนสั่งการเหตุ "ตากใบ" ชี้ 2 ปัญหาชายแดนใต้ที่ยังพบในปัจจุบัน
นายศิโรตม์ กล่าวว่า หากย้อนไปยังการเอาผิดในคดีตากใบ ช่วงเริ่มต้นคือการเอาผิดกับผู้ปฏิบัติงานระดับล่าง ซึ่งไม่ถูกต้อง เช่น เอาผิดกับคนขับ ตำรวจ-ทหารที่ลำเลียงคนขึ้นรถ นี่เป็นการลงโทษผู้ปฏิบัติงานระกับล่าง จึงต้องเปลี่ยนการเอาผิดไปยังผู้สั่งการ เช่น ผู้บังคับบัญชาระดับภาค เพราะเชื่อว่าคนที่เป็นคนสั่งการนั้นคือคนที่ผิด ไม่ใช่เจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติงาน เพราะท้ายที่สุดแล้วเจ้าหน้าที่ระดับล่างก็คือลูกหลานของประชาชน
หรือในบางทีเจ้าหน้าที่ก็มาจากภาคส่วนอื่น ๆ เช่น จ.สุรินทร์ จ.อุดรธานี ต้องย้ายไปยัง 3 จังหวัดชายแดน ภาษาก็ไม่เข้าใจ ความระแวงก็มีอยู่แล้ว
นายศิโรตม์ กล่าวว่า หลังกรณีตากใบ ตนมีโอกาสลงพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้และพบปัญหา 2 ประการหลักที่ยังคงมีอยู่ ประการแรกคือ เจ้าหน้าที่รัฐจำนวนมากมาจากคนนอกพื้นที่ เมื่อมาจากคนนอกพื้นที่ เมื่อลงไปเจอชาวบ้านพูดภาษายาวี ภาษามลายู ก็เกิดความระแวง ฟังไม่รู้เรื่อง เมื่อเจอคนพูดภาษาอื่นก็ตั้งคำถามว่าเป็นโจรใต้หรือเปล่า
ประการที่สองซึ่งรุนแรงมาก คือ หลังเกิดเหตุการณ์ตากใบ เจ้าหน้าที่ก็มีการปราบปรามประชาชนอย่างหนักในหลายเหตุการณ์ เช่น ตันหยง ลิบอง ทุ่งยางแดง เป็นต้น มีคนที่ทิ้งครอบครัวไปสู้กับเจ้าหน้าที่เยอะ จนพบปัญหาคือมีหญิงหม้ายและเด็กกำพร้าเกิดขึ้นเกือบ 3 พันคน ซึ่งขระนั้นหากเด็กคนนั้น 5 ขวบ ขณะนี้ก็อายุ 25 ปีแล้ว เขาอยู่ในสังคมที่เห็นความไม่เป็นธรรมมาตลอด แผลพวกนี้จะระเบิดได้รุนแรงขนาดไหน
นายศิโรตม์ กล่าวต่อว่า แม้ในเรื่องของคดีหมดอายุความคงทำอะไรได้ยาก แต่ในแง่การเมืองทุกคนรู้กันว่ารัฐบาลมีเรื่องให้ต้องทำอีกเยอะ เช่น ความรุนแรงในพื้นที่ 3 จังหวัดเกิดจากการที่เจ้าหน้าที่รัฐระแวงประชาชน ประชาชนระแวงเจ้าหน้าที่รัฐ ทั้งสองฝ่ายมีปืนด้วยกัน ยิงใส่กันได้เสมอ จะปลดสลักอย่างไรรัฐบาลจะต้องเป็นคนคิด
เช่น กรณีที่ 3 จังหวัดชายแดนเป็นพื้นที่พิเศษ เป็นพื้นที่ทหารปกครอง จุดนี้ต้องเลิกได้แล้ว การไป 3 จังหวัดที่มีด่านทุก 4 แยก ต้องเลิก คน 3 จังหวัดชายแดนใต้ไม่ค่อยใส่หมวกกันน็อก เนื่องจากเจ้าหน้าที่จะเรียกถอด เพราะระแวงว่าจะเป็นผู้ก่อความไม่สงบ ก็ต้องแก้ รวมถึงกรณีการรื้อคดีเล็กอื่น ๆ เพื่อปลดล็อกด้วย