กลับเข้ามาสู่แวดวงตำรวจอีกครั้ง หลังจากที่มีข่าวความเคลื่อนไหวสำคัญซึ่งสร้างแรงสั่นสะเทือนให้กับสำนักงานตำรวจแห่งชาติอีกครั้ง คือ กรณีที่ศาลปกครองสูงสุดมีมติยกคำร้องกรณีที่ “บิ๊กโจ๊ก” พล.ต.อ.สุรเชชษฐ์ หักพาล อดีตรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ร้องเรียนต่อศาลกรณีที่ให้ออกจากราชการว่าถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่
ซึ่งก่อนหน้านี้มีข่าวออกมาว่าคณะกรรมการเห็นด้วยกับคำร้องดังกล่าว ว่าการให้ออกจากราชการครั้งนี้ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขั้นตอนต่อมาซึ่งเป็นกระบวนการเข้าสู่ที่ประชุมใหญ่ศาลปกครอง
ทว่ามติกลับถูกหักเป็นการให้ออกจากราชการไว้ก่อนนั้นถูกต้องตามกฎหมายเรียบร้อย ทำให้หลายฝ่ายตั้งคำถามว่า หลังจากนี้จะเกิดอะไรขึ้น ชะตากรรมของ “บิ๊กโจ๊ก” จะได้กลับเข้ามาเป็นใหญ่ในสำนักงานตำรวจแห่งชาติอีกครั้งหรือไม่
พ.ต.อ.วิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร เลขาธิการสถาบันเพื่อการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม (สป.ยธ.) และ พล.ต.ต.สุพิศาล ภักดีนฤนาถ อดีตผู้บังคับการปราบปราม ร่วมพูดคุยกับ PPTV ในรายการคุยข้ามช็อต Exclusive Talk พร้อมวิเคราะห์กรณีไว้อย่างน่าสนใจ
วิธีเปลี่ยนเสียงเรียกเข้า-เสียงรอสายเฉพาะแชตบน LINE
ส่อง 30 ลุค! พร้อมเคาะคะแนน "โอปอล สุชาตา" ก่อนรอบพรีลิมฯ "Miss Universe 2024" 15 พ.ย.นี้!
ย้อนดูมูลค่าตัวเลขการซื้อลิขสิทธิ์พรีเมียร์ลีก ในประเทศไทย
คดีบิ๊กโจ๊ก มีถึง 3 ฉากทัศน์
พล.ต.ต.สุพิศาล กล่าวว่า กรณีนี้เป็นการวินิจฉัยแค่คำสั่งให้ออกไว้ก่อนว่าชอบหรือไม่ชอบ ประชาชนต้องเข้าใจก่อนว่าฉากทัศน์ “บิ๊กโจ๊ก” มีถึง 3 ฉากทัศน์ นี่เป็นเพียงฉากทัศน์เดียวเท่านั้น คือกระดาษคำสั่งจาก “บิ๊กต่าย” พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ ให้ “บิ๊กโจ๊ก” ออกจากราชการไว้ก่อน ซึ่งทางบิ๊กโจ๊กมองว่าเป็นการบกพร่องในนิติกระบวนการ ก็มีการต่อสู้กันมาจนผ่าน ก.พ.ค.ตร. ด้วยกฎหมายฉบับปัจจุบัน มาจนถึงสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จนถึงศาลปกครองสูงสุด
ส่วนฉากทัศน์ต่อมาที่ยังอยู่ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ คือ การดำเนินการทางวินัยต่อบิ๊กโจ๊ก ซึ่งขณะนี้กำลังเดินเรื่องอยู่ มีการสอบสวนตามกระบวนการอยู่ นี่คือหลักสำคัญ และฉากทัศน์อีกส่วนคือคดีอาญา ที่หลุดจากสำนักงานตำรวจนครบาลไปอยู่ที่คณะกรรมการปราบปรามทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)
แต่ฉากทัศน์ที่อวสาน ถูกปิดไปตามคำวินิจฉัยตามมติ 49 ต่อ 5 ถ้าเป็นไปตามนี้คือหลุดแค่คำสั่งการเยียวยา หรือไม่ หรือยังอยู่ในระหว่างการวินิจฉัยคำร้องนี้อยู่ ซึ่งเรายังไม่รู้ แต่หากระบุว่ายกคำร้องหมด ก็ถือเป็นการปิดฉากทัศน์กระดาษใบนี้ไปโดยสิ้นเชิง
พล.ต.ต.สุพิศาล กล่าวว่า ข้อต่อสู้ของฝั่งบิ๊กโจ๊กเป็นเรื่องของคำสั่งมาตรา 177 ที่เปิดหัวใจของการให้ออกจากราชการไว้ก่อน เป็นคำสั่งตั้งคณะกรรมการรวม และในคำสั่งนี้จะมีการระบุเรื่องการใช้อำนาจ โดยเฉพาะคำสั่งนี้จะมีรายละเอียดว่าใช้อำนาจการสอบสวนคดีวินัยตามกฎ ก.ตร. ปี 2547 แต่ไม่ใช้มาตรา 120 ซึ่งมีการกำหนดไว้ ซึ่งที่ยังไม่ใช้เป็นเพราะยังไม่ได้ออกกฎ ก.ตร. ปี 2565 เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรา 120 ซึ่งส่วนตัวมองว่าเป็นนิติกระบวนการที่บกพร่อง
รวมถึงในข้อต่อสู้ของ ก.พ.ค.ตร. อ้างว่าประธานสอบสวนยังไม่มา ยังไม่รับตำแหน่ง ยังไม่ถือว่าคำสั่งนี้มีผลใช้บังคับ คำถามคือจะไม่มีผลได้อย่างไร เพราะคำสั่งมาตรา 177 ไปเป็นหัวกระดาษของคำสั่งที่นายกรัฐมนตรีสั่งให้บิ๊กโจ๊กกลับมา คือมีผลบังคับใช้แล้ว หลังจากนี้ต้องรอศาลตัดสินกันต่อไป
มองคำสั่ง "บิ๊กโจ๊ก" ออกจากราชการ ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
พล.ต.ต.ไพโรจน์ กุจิรพันธ์ ที่ปรึกษากฎหมาย พล.ต.อ.สุรเชชษฐ์ หักพาล เผยว่า ขณะนี้ยังไม่มีคำพิพากษากรณีร้องเรียนคำสั่งให้ออกจากราชการไม่ชอบด้วยกฎหมาย ยังไม่ถึงขั้นนั้น กรณีที่ยกคำร้องเรื่องของการให้คุ้มครองชั่วคราวนั้นเป็นเพราะวาระการแต่งตั้งเลยมาแล้ว จึงไม่ได้มีการคุ้มครองระหว่างรอคำวินิจฉัยของศาล
ส่วนตัวมองว่าศาลอาจมองได้ 2 กรณี ศาลอาจมองว่ากรณีที่ บิ๊กโจ๊ก เสียสิทธิขึ้นเป็น ผบ.ตร. นั้น เป็นเพราะมีการแต่งตั้ง ผบ.ตร. ไปแล้ว ก็ไม่มีเหตุต้องคุ้มครองชั่วคราว ไม่มีการเสียสิทธิ์ เรียกว่าเป็นการพิจารณาปกติ
ส่วนกรณีคำวินิจฉัยว่าจะให้มีการคุ้มครองชั่วคราวหรือไม่นั้นเป็นคนละประเด็นกัน เพราะกรณีนี้จำเป็นต้องเป็นเหตุชั่วคราวเร่งด่วนจริง ๆ ศาลถึงจะสั่ง และปกติกรณีการพิจารณาแบบนี้ศาลไม่ค่อยมีการคุ้มครองเท่าไร
พล.ต.ต.ไพโรจน์ กล่าวว่า โอกาสที่มีการเรียกร้องเรื่องให้ออกจากราชการไว้ก่อนไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น ส่วนตัวในมุมมองของนักกฎหมาย มองว่าคำสั่งนี้เป็นคำสั่งไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ส่วนตัวมองว่ากฎหมายไม่มีอะไรซับซ้อน ปัจจุบันที่เกิดปัญหากันเพราะเราเอาคนมาวางก่อน แล้วค่อยเอากฎหมายมาพิจารณา วินิจฉัย การจะสั่งให้ใครออกจากราชการ ต้องมีการตั้งกรรมการสอบสวนก่อน ไม่มีว่าต้องหาคดีอาญาแล้วออกได้เลย
เพราะตามมาตรา 131 ระบุว่าการออกจากราชการไว้ก่อน ต้องเป็นไปเพื่อรอผลการดำเนินการทางวินัย เพราะฉะนั้นโดยหลักการแล้วต้องมีการตั้งคณะกรรมการก่อน ส่วนตัวมองว่าคำพิพากษาอาจมาราว 3 เดือน
ระบบจะเละเทะ ถ้าคำสั่งออกมาไม่ชอบด้วยกฎหมาย
พ.ต.อ.วิรุตม์ กล่าวว่า กรณีนี้ติดพันอยู่กับมาตรา 130 ซึ่งเป็นคนละส่วนกันกับการถูกกล่าวหาทางวินัยอย่างเดียว ถ้าตกเป็นผู้ต้องหาคดีอาญา สามารถออกให้ได้เลย และทำกันเป็นปกติ ซึ่งมองว่าเป็นเหตุเป็นผลกัน เพราะการตกเป็นผู้ต้องหาคดีอาญา เท่ากับผ่านการสอบสวนมาแล้ว ก็ไม่ต้องมารอความเห็น ผู้บังคับบัญชาก็มีดุลยพินิจให้ออกได้เลย แต่บางคนก็ไม่ได้ให้ออก ซึ่งก็เป็นคำถามต่อผู้มีอำนาจ รวมถึง ผบ.ตร. ด้วยว่าทำไมถึงปรากฏการเลือกปฏิบัติ ทำไมเด็กออกผู้ใหญ่ไม่ออก
พ.ต.อ.วิรุตม์ กล่าวต่อว่า โดยหลักการศาลไมได้สั่งคุ้มครองชั่วคราวง่าย ๆ ไม่เช่นนั้น เวลาฟ้องอะไรก็เอะอะคุ้มครองชั่วคราว ซึ่งจะเหมือนกับคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวไม่เป็นผล ก็ต้องกลับไปเป็น รอง.ผบ.ตร. จะแข่งไม่แข่งกันก็อีกเรื่องหนึ่ง
ที่เราคุยกันทุกวันนี้เป็นปัญหาทางเทคนิคของกฎหมายทั้งหมด แต่เนื้อหาจริง ๆ คือ บิ๊กโจ๊กไปเกี่ยวกับเว็บพนันหรือไม่ ฟอกเงินไหม ไม่เคยพูดกันเลย
ส่วนตัวมองว่ากรณีนี้ฟังแล้วน่าอนาถ เพราะกว่าจะลงโทษกว่าจะดำเนินการมันวุ่นวายไปทั้งประเทศ ไม่ใช่แค่เฉพาะวงการตำรวจ สื่อก็ตามข่าวเรื่องนี้แทนที่จะไปตามข่าวเรื่องทุจริตประพฤติมิชอบอื่น
จริง ๆ ถ้าคำสั่งดังกล่าวถูกระบุว่าไม่ชอบด้วยกฎหมาย อาจทำให้บางคนเฮ แต่ระบบจะเละหมด ก.ตร.จะรับผิดชอบอะไรบ้าง ก.พ.ค.ตร. ใครจะเชื่อถือ ซึ่งทั้งหมดนี้มีมติเอกฉันท์หมด และยังมีความผิดอาญาตามมาอีก ใครจะรับผิดชอบ
พ.ต.อ.วิรุตม์ กล่าวว่า ตนเป็นคนอยู่บนหลักการ ถ้าไม่ถูกต้องก็จะบอกว่าไม่ถูกต้อง การออกจากราชการก่อนก็ทำได้โดยไม่รอการสอบสวน แต่ถ้ากลับเป็นว่าให้ออกจากราชการไม่ได้ สมมติว่าถ้าคำสั่งนี้ไม่ถูกต้อง จะเกิดมาตรฐานคือ ถ้าตำรวจต้องคดีอาญา จะสั่งให้ออกไม่ได้ แม้ติดคุกอยู่ก็ให้ออกไม่ได้ ตำรวจไปฆ่าคนมาถูกจับ ตั้งคณะกรรมการสอบสวน ติดคุกก็ยังเป็นตำรวจอยู่
บิ๊กต่าย-ก.พ.ค.ตร.-นายกฯ อาจสะเทือน หาก "บิ๊กโจ๊ก" คืนเก้าอี้
พล.ต.ต.สุพิศาล กล่าวว่า การเข้าสู่ตำแหน่งของ “บิ๊กต่าย” ปัจจุบันกฎหมายและกระบวนการที่ได้ใช้นั้นครบถ้วนไปแล้ว ก็มีหน้าที่รักษาตำแหน่งภายในระยะเวลาที่เหลืออยู่ 2 กว่าปี ถ้าหากบิ๊กโจ๊กได้กลับไปโดยคำสั่งตามคำวินิจฉัย ก็จะไปกระทบผู้ถูกร้อง 3 คน คือ ผบ.ตร. ก.พ.ค.ตร. และนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นเรื่องที่ทั้ง 3 ฝ่ายนี้ต้องรับมือ
ส่วนตัวมองกรณีนี้ว่ากรรมใดใครก่อกรรมนั้นคนนั้นก็รับไป แต่ถ้าไม่ใช่ก็เป็นเรื่องของการรับผลการวินิจฉัยของศาลปกครองให้ครบถ้วนด้วย เช่น ถ้าจะให้บิ๊กโจ๊กกลับไป จะกลับมาด้วยวิธีการใด ก.พ.ค.ตร. จพต้องยกเลิกคำสั่งนี้หรือไม่ และจะมีภาคบังคับใช้หรือไม่
ส่วนตัว ผบ.ตร. เมื่อได้รับมาแล้วจะต้องทูลเกล้าฯ โปรดเกล้าฯ ไปให้สำนักนายกรัฐมนตรีตามระเบียบ เพื่อขอให้พระราชทานกลับมาในตำแหน่งนี้ เพราะคำสั่งของศาลปกครอง ส่วนผู้ที่เซ็นให้บิ๊กโจ๊กออกจากราชการก็ต้องรับผิดชอบตามการฟ้องร้องทางแพ่งต่อไป
พล.ต.ต.สุพิศาล กล่าวว่า ส่วนคดีอาญาที่อยู่กับ ป.ป.ช. นั้นเป็นกฎหมายเฉพาะในเรื่องของการประพฤติมิชอบ มีระยะเวลา ระบบการไต่สวนของมันอยู่ ไม่เหมือนกับการสืบสวนสอบสวนเพื่อกล่าวหาคน ทีนี้การกล่าวหาอยู่ในระบบการสอบสวนที่ตำรวจเอามาใช้ ซึ่งกระบวนการความผิดทางอาญาถูกเปลี่ยนมือไปอยู่ที่ ป.ป.ช. เขาก็มีอนุกรรมการไต่สวนต่อไปเพื่อชี้มูล และสู้กันไปทางดคี
ส่วนเรื่องวินัย สตช. ต้องทำต่อ ถึงแม้บิ๊กโจ๊กจะกลับไปเป็น รอง ผบ.ตร. ซึ่งใครที่คุมกฎหมายนี้จะต้องมานั่งเป็นประธานแล้วเร่งคดีวินัยให้เสร็จตามอายุความของคดีวินัย เพราะคดีวินัยไม่ใช่ใช้ 120 วรรค 2 กลับไปใช้ 87 วรรค 2 คือระยะเวลาการสอบสวนคดีร้ายแรง ซึ่งบิ๊กโจ๊กอาจถูกไล่ออกตรงนี้
จี้ศาลปกครอง-ป.ป.ช. รีบวินิจฉัยคดีบิ๊กโจ๊ก
พ.ต.อ.วิรุตม์ กล่าวว่า กรณีคำสั่งชอบไม่ชอบด้วยกฎหมาย หลังจากนี้ก็ให้พิจารณาแต่เนื้อ ซึ่งจะใช้เวลาเท่าไรตนก็ไม่ทราบ อาจจะ 3 - 6 เดือน ถ้าชี้ว่าไม่ชอบด้วยกฎหมายก็วุ่นวายพอสมควร ถ้าชี้ว่าชอบ ความวุ่นวายก็จะตกอยู่ที่บิ๊กโจ๊ก หลังจากนั้นกระบวนการก็จะเดินไป คำสั่งการลงโทษทางวินัยก็จะเดินตามกระบวนการต่อไป
ถ้า ป.ป.ช. ไม่ชี้มูล เท่ากับว่าอัยการสั่งไม่ฟ้อง เพราะไม่มีอุทธรณ์หรือฎีกา ไม่ต้องรออะไร ขอกลับรับราชการได้เลย แต่ในข้อเท็จจริงก็ไม่มีการระบุว่าเมื่อ ป.ป.ช. วินิจฉัยแล้ว ด้านวินัยจะต้องเห็นด้วยกับ ป.ป.ช.
ส่วนตัวอยากตั้งคำถามต่อศาลปกครองว่า ให้รีบวินิจฉัยได้หรือไม่ รวมถึง ป.ป.ช. ก็รีบวินิจฉัยได้หรือไม่ เพราะคดีคนอื่นก็เห็นจับนำตัวเข้าคุกกันไปมากมายแล้ว เช่น คดีบอสดิไอคอน หรือคดีทนายตั้ม