เมื่อวานนี้ (16 ม.ค. 68) ผู้สื่อข่าวรายงานจาก จ.อุดรธานี ที่โรงงานน้ำตาลไทยอุดรธานี และโรงไฟฟ้าไทยอุดรธานีเพาเวอร์ ว่ายังคงปิดไม่มีการเดินเครื่องจักร ตามคำสั่งของกรมโรงงานอุตสาหกรรม กรณีนำอ้อยไฟไหม้เข้าโรงงานน้ำตาลฯ เกิน 25% ตามประกาศของกรมโรงงาน ทำให้รับอ้อยไฟไหม้สะสมสูงสุด และประเด็นโรงไฟฟ้าประกอบกิจการอาจก่อให้เกิด อันตรายร้ายแรงส่งผลต่อชีวิตทรัพย์สิน จึงมีคำสั่งด่วนที่สุดให้บริษัทฯ ระงับการกระทำที่ฝ่าฝืนกฎหมายทั้งหมดจนกว่าจะปรับปรุงแก้ไขโรงงานให้ถูกต้องมาตั้งแต่เย็นวันที่ 15 ม.ค. ที่ผ่านมา
ขณะที่ยังมีรถบรรทุกอ้อยทุกประเภท ทั้งรถการเกษตร, รถแทรคเตอร์ลากสาลี่, รถบรรทุกสิลล้อ-รถพ่วง และรถเทเลอร์ วิ่งเข้ามารอส่งอ้อยเข้าโรงงานเพิ่ม จากที่ตกค้างอยู่เมื่อวันที่ 15 ม.ค. 68 ราว 1,200 คัน ได้เพิ่มจำนวนขึ้นเป็น 2,000 คัน ทำให้ลานจอดรถ 2 และ 3 มีรถบรรทุกเข้ามาจอดเต็มพื้นที่ และยังมีรถบรรทุกล้นโรงงานออกไปจอดตามริมถนนรอบโรงงานและในหมู่บ้าน ซึ่งทางสมาคมชาวไร่อ้อยอีสานเหนือ ไทยอุดรบ้านผือ ได้นำเต็นท์มากางหน้าลานเพิ่มเติม จัดพนักงานลูกจ้างของสมาคมฯ มาคอยให้ข้อมูลตลอดจนตอบคำถาม รวมทั้งสมาคมฯ ได้แจกข้าวกล่องวันละ 3 มื้อ โดยชาวไร่อ้อย และโชว์เฟอร์รถบรรทุก ไปอาศัยเต้นท์และร่มไม้เป็นที่พักรอฟังข่าว
นายอานนท์ มโยธี อายุ 30 ปี ชาวไร่อ้อย อ.บ้านผือ เปิดเผยว่า ทำไร่อ้อยเกือบ 1,000 ไร่ รวมทั้งของลูกไร่ด้วย รถขนอ้อยติดอยู่ที่โรงงานได้ 4 - 5 วันแล้ว มูลค่าอ้อยประมาณ 5 - 6 แสนบาท อยากอ้อนวอนรัฐบาลและกระทรวงอุตสาหกรรมขอให้อะลุ่มอล่วยให้ชาวไร่ด้วย
ขอให้เอาอ้อยไฟไหม้ที่ตกค้างมาหีบก่อน หลังจากนั้นชาวไร่หรือลูกไร่ของเราก็จะปฏิบัติตามนโยบายของรัฐบาล ความอัดอั้นของชาวไร่ก็เป็นอย่างที่เห็น เพราะอ้อยติดอยู่ที่นี่จำนวนมาก เกิดความเสียหายหลายล้านบาท ไม่ใช่แค่ตนที่เดือดร้อน พี่น้องชาวไร่ที่นี่เดือดร้อนกันทั้งหมด หากอ้อยเน่าเสียหายก็ต้องรอท่าทีของสมาคมฯ ว่าจะจัดการต่อไปอย่างไร ขอสู้ให้ถึงที่สุด เพื่อที่จะได้ลงอ้อย.....นายอานนท์ กล่าว
นายนิพัฒน์ ลัทธิพงษ์ อายุ 49 ปี ชาวไร่อ้อย อ.บ้านผือ เปิดเผยว่า ทำไร่อ้อยประมาณ 100 ไร่ ไม่ว่าจะเป็นอ้อยสดหรืออ้อยไฟไหม้ ตอนนี้ทุกคนเดือดร้อนกันหมด แต่ที่เดือดร้อนที่สุดคืออ้อยไฟไหม้ เพราะอ้อยสดยังมีแนวโน้มที่จะได้ลงอ้อย ยังไม่มีแนวโน้มว่าจะได้เทอ้อยไฟไหม้เลย หากเกิน 5 วันแล้วจะเป็นอ้อยเสีย น้ำหนักก็จะลดลง ซึ่งก็ยังไม่รู้ว่าจะเอาอ้อยไปไว้ที่ไหน ที่เขาบอกว่าการเผาอ้อยส่งผลต่อฝุ่น PM 2.5 ชาวไร่ก็จะต้องทำตามนโยบายจะกลับมาตัดอ้อยสด แต่ก็ขอเวลาหน่อยเพราะยังมีอ้อยไฟไหม้ตกค้างอยู่เยอะ หาจะเก็บให้หมดต้องใช้เวลาอย่างน้อย 10 วัน ถ้าถ้าหยุดชะงักอยู่แบบนี้ มันไม่มีทางทำได้
หากต้องตัดอ้อยสด เราก็ต้องแบกรับต้นทุนเพิ่มขึ้น แต่ก็พร้อมทำตาม ซึ่งอยากให้รัฐบาลมาช่วยเหลือตรงนี้ด้วย ต้นทุนอ้อยไฟไหม้ 1 กอง ประมาณ 3-4 บาท หากเป็นอ้อยสดจะประมาณ 10-15 บาท ต้นทุนจะเพิ่มขึ้น 2-3 เท่าตัว หากไม่เข้ามาช่วยต้องชาวไร่อยู่แทบจะไม่ได้ หลังมีคำสั่งปิดโรงงาน บอกได้คำเดียวว่ามืดแปดด้าน ไม่รู้ว่าจะเอาอ้อยไปไหน ทำได้อย่างเดียวคือรอ และอ้อนวอนผู้หลักผู้ใหญ่ที่รับผิดเรื่องนี้ให้มาช่วยเหลือชาวไร่ ขอให้ได้เทอ้อย แล้วจะได้กลับไปเก็บอ้อยที่เหลืออีกในไร่ ต่อไปก็เป็นอ้อยสด นี่คือสิ่งที่ชาวไร่คุยกันไว้ขอให้เห็นใจพวกเราด้วย.....นายนิพัฒน์ กล่าว
นายวรพจน์ บุรุษภักดี อายุ 68 ปี เลขาธิการสมาคมชาวไร่อ้อยอีสานเหนือ ไทยอุดรบ้านผือ เปิดเผยว่า หลังมีคำสั่งปิดโรงงาน พวกเราชาวไร่อ้อยเดือดร้อนอย่างมาก จากปริมาณรถอ้อยที่ตกค้างจากเมื่อวาน 1,300 คัน ตอนนี้เพิ่มเป็น 2,000 คันแล้ว หากไม่ได้ลงอ้อยภายใน 1 - 2 วันนี้ อ้อยก็จะบูดและเน่า น้ำหนักจะลด ค่าความหวานจะน้อยลง ค่าอ้อยก็จะลดลงตามลำดับ หรืออาจจะถึงขึ้นเสียหายมาก ทำน้ำตาลไม่ได้ จะได้แต่ซากอ้อยและกากน้ำตาล แต่ที่หนักใจที่สุดคือหาก เน่าเสียแล้วโรงงานไม่รับซื้อ เราจะเอาไปทำอะไร เอาไปทิ้งที่ไหน จะไปขายให้ใคร
ตอนนี้ถือว่าเข้าขั้นวิกฤตแล้ว ซึ่งบอกได้คำเดียวว่าเหนือกว่าวิกฤติก็คือมันสุดยอดแล้ว แนวทางการต่อสู้ เราคุยกันแล้วว่า อาจจะถึงขั้นปิดถนน เพื่อเรียกร้องให้แก้ไขปัญหา ตอนแรกที่ จ.อุดรธานี ได้ประชุมแก้ไขปัญหา ที่จะรับอ้อยไฟไหม้ 40 % เราก็ยังชื่นชมท่านผู้ว่าฯ อยู่เลย นโยบาย 25% ก็ยังมีอยู่ แต่มาสั่งปิดไปแบบนี้ มันหักดิบกัน มันเป็นไปได้ยังไง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ต้องทางผู้ใหญ่ของเราจะว่ายังไง แต่ในใจชาวไร่นั้นมันสุดๆแล้ว ส่วนที่บอกว่ามีชาวไร่บางส่วนนำอ้อยไปโรงงานอื่น มองว่าเป็นข่าวยังไม่กรอง ตอนนี้เรายังไม่มีรายงานเข้ามา.....นายวรพจน์ กล่าว
นายวรพจน์ฯ เปิดเผยอีกว่า ส่วนรถขนอ้อยที่เพิ่มจำนวนขึ้นนั้น เป็นไปตามข้อตกลงของจังหวัด ที่ระบุว่ารถที่ลงอ้อยไฟไหม้ไปแล้ว ให้นำอ้อยสดกลับเข้ามา ส่วนนี้ก็เป็นอ้อยค้างไร่ เอามาด้วยความหวังน้อยๆ เพื่อมาเติมในส่วน 25% แต่ก็มาถูกหักดิบแบบนี้ ทั้งอ้อยสดอ้อยไฟไหม้ ก็มากองอยู่อย่างที่เห็น เรายอมรับนโยบาย แต่เมื่อถึงที่สุดแล้ว ก็คงต้องลงถนน เราไม่ได้อยากสร้างความเดือดร้อน แต่ถึงที่สุดแล้ว ก็คงต้องทำ อยากให้มองเห็นหัวอกชาวไร่บ้าง อ้อยไม่ได้ทำง่ายๆ มีคนทำร้อยพ่อพันแม่ มีทั้งคนเข้าใจและไม่เข้าใจนโยบาย อ้อนวอนขอให้ผ่านปีนี้ไปก่อน ปีหน้าก็ว่ากันใหม่ เราพร้อมทำตาม ตัวเลขที่มันมีปัญหาก็จะลดลง เราไม่ใช่คนดื้อ เราไม่ใช่คนรั้น
ด้านนายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ได้สั่งการให้ “ทีมตรวจการสุดซอย” นำโดยพนักงานเจ้าหน้าที่กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) และสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดอุดรธานี บูรณาการร่วมกันลงพื้นที่ตรวจสอบโรงงานน้ำตาลของบริษัท น้ำตาลไทยอุดรธานี จำกัด และโรงไฟฟ้าของบริษัท ไทยอุดรธานี เพาเวอร์ จำกัด ตั้งอยู่ในพื้นที่ ต.คำบง อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี
จากการตรวจสอบพบว่า บริษัท น้ำตาลไทยอุดรธานี จำกัด มีการรับอ้อยเผาเข้าหีบสะสมสูงสุดจากโรงงานน้ำตาลทั้งหมด 58 โรงงาน คิดเป็น 43.11% ของปริมาณอ้อยทั้งหมด หรือกว่า 4.1 แสนตัน เทียบเท่าการเผาป่ากว่า 4.1 หมื่นไร่.....นายเอกนัฏ กล่าว
โดยจังหวัดอุดรธานีเป็นจังหวัดที่มีสัดส่วนการรับอ้อยเผาเข้าหีบสูงสุดของประเทศ อีกทั้งยังพบว่า บริษัท ไทยอุดรธานี เพาเวอร์ จำกัด ประกอบกิจการผลิตไฟฟ้าและไอน้ำส่งให้กับโรงงานน้ำตาลไทยอุดรธานี โดยบริษัทฯ ฝ่าฝืนกฎหมายความปลอดภัย มีการประกอบกิจการในสภาพที่อาจก่อให้เกิดอันตรายอย่างร้ายแรงถึงชีวิตและทรัพย์สินของพนักงานและประชาชนที่อยู่อาศัยใกล้เคียงกับโรงงาน
นอกจากนี้ บริษัท น้ำตาลไทยอุดรธานี จำกัด ยังมีการประกอบกิจการที่อาจก่อให้เกิดอันตราย ความเสียหายหรือความเดือดร้อนแก่พนักงานหรือทรัพย์สินที่อยู่ในโรงงานหรือที่อยู่อาศัยใกล้เคียงกับโรงงานในหลายประเด็น เช่น มีการจัดเก็บหรือการดำเนินการเกี่ยวกับสารเคมี วัตถุอันตราย และกากอุตสาหกรรมที่ใช้และเกิดจากกระบวนการผลิตของโรงงานที่ไม่ถูกต้องเหมาะสม ตู้ควบคุมไฟฟ้าอยู่ในสภาพชำรุดอาจก่อให้เกิดอันตรายได้ อีกทั้ง มีการติดตั้งระบบดับเพลิงที่ไม่พร้อมใช้งานในหลายจุด อุตสาหกรรมจังหวัดอุดรธานีจึงมีคำสั่งด่วนที่สุดให้บริษัทฯ ระงับการกระทำที่ฝ่าฝืนกฎหมายทั้งหมด จนกว่าจะปรับปรุงแก้ไขโรงงานให้ถูกต้องตามกฎหมายอย่างเข้มงวด
ผมขอย้ำว่า การประกอบการโรงงานต้องมีกระบวนการผลิตที่ปลอดภัยและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เหนือสิ่งอื่นใด การสร้างกำไรจากการทำธุรกิจอุตสาหกรรมต้องไม่เบียดเบียนสร้างผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนและการทำธุรกิจของภาคส่วนอื่นด้วย.....นายเอกนัฏฯ กล่าวทิ้งท้าย