“เพื่อเป็นการสังเกตการณ์ความพร้อมและความเข้าใจในการให้บริการของเจ้าหน้าที่รัฐ ในการรับจดทะเบียนสมรสเท่าเทียม ในวันแรกแห่งประวัติศาสตร์ไทย คือวันที่ 23 มกราคม 2568 โดยหน่วยงานภาครัฐหลายแห่ง ทั้งระดับท้องถิ่นและระดับประเทศ ได้มีการจัดกิจกรรมเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ออกไปว่า มีความพร้อม ความเข้าใจ ในการให้บริการอย่างมืออาชีพ และเป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศ ในฐานะที่เราเป็นองค์กรปกป้องสิทธิความหลากหลายทางเพศที่มีส่วนขับเคลื่อนสมรสเท่าเทียมมายาวนานกว่า 20 ปี
ข่าวดังข้ามปี 2567 : "สมรสเท่าเทียม" ไทยทำสำเร็จ ชาติแรกในอาเซียน
โปรดเกล้าฯ พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม มีผลใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด 120 วัน
จึงอยากเห็นความสุขของคู่รักเพศเดียวกัน ที่จูงมากันมาจดทะเบียนอย่างไม่มีปัญหาและอุปสรรคใดๆ และหากคู่รักใดที่ไม่ได้นำพยานมาในวันนั้นด้วย ทีมกามเทพของบางกอกเรนโบว์ที่คอยสังเกตการณ์อยู่ตามหน่วยรับจดทะเบียนต่างๆ ก็พร้อมที่จะเป็นพยานรักให้กับคู่รักนั้น หรือหากคู่รักใดที่มีปัญหาอุปสรรคใดในการจดทะเบียนสมรสเท่าเทียม สามารถโทรแจ้งร้องเรียนได้ที่ 02-2361555 ตลอด 24 ชม.”
นายนิกร ฉิมคง ผู้อำนวยการองค์กรบางกอกเรนโบว์ กล่าว สำหรับการจดทะเบียนสมรสเท่าเทียมในวันแรก นายนิกรคาดว่า อาจมีคู่รักเพศเดียวกันจูงมือกันมาจดทะเบียนไม่มากนัก อาจไม่คึกคักพอสมควร เพราะแต่ละฝ่าย อาจจะต้องใช้เวลาในการศึกษาสิทธิด้านกฎหมายสมรสเท่าเทียมให้ลึกซึ้ง และต้องมีความมั่นใจอย่างแน่วแน่ ที่จะตกลงจูงมือกันเข้าสู่ระบบกฏหมายสมรสเท่าเทียมเพื่อสร้างครอบครัวอย่างมั่นคงในอนาคต
“ปัญหาสำคัญอีกอย่างคือ การที่คู่รักเพศเดียวกัน จะต้องฝันฝ่าอุปสรรคการยอมรับจากครอบครัวมากกว่าคู่รักชายหญิงทั่วไป เพราะมีหลายคู่บอกว่า ไม่กล้าจด เพราะกลัวที่บ้านตกใจ ที่บ้านยังรับไม่ได้ คู่รักยังไม่เปิดเผย หรือคู่รักที่มีอีกฝ่ายเป็นคนรักสองเพศ (ไบเซ็กส์ช่วล) เคยมีการสมรสกับฝ่ายหญิงอยู่เดิม และจากกันไปนานแล้ว แต่ตามตัวมาหย่าไม่ได้ ก็ยังไม่สามารถจดทะเบียนกับคู่รักชายชายได้ หรือหลายคู่มองว่า ไม่จำเป็นต้องรีบมาจดทะเบียนในวันแรก เพราะอาจจะดูวุ่นวาย และโมเม้นท์ของความสุขในวันแรกของการจดทะเบียนสำหรับพวกเขาคือ ความโรแมนติกและความเงียบสงบในวันที่พวกเขาและพยานรักพร้อม” นายนิกร กล่าวเสริม
อย่างไรก็ตามนายนิกร คาดว่า คู่ส่วนใหญ่ ที่จะจูงมือกันมาจดทะเบียนสมรสเท่าเทียมในวันแรก ไม่น่าจะเป็น “คู่รัก” แต่น่าจะเป็น “คู่ชีวิต” ที่อยู่กันมาอย่างยาวนานเกิน 10 ปีขึ้นไป ต่อสู้ฝันฝ่าปัญหาและอุปสรรคหลายอย่างมาด้วยกัน ได้รับการยอมจากครอบครัวของทั้งสองฝ่าย หรือเป็นครอบครัวเดี่ยวที่ไม่มีญาติฝ่ายไหนมาเกี่ยวข้อง และมองหาความมั่นคงให้กับคู่ชีวิตของตน คู่ชีวิตนี้จะเฝ้ารอคอยสมรสเท่าเทียมมาอย่างยาวนาน เมื่อวันนี้มาถึง คู่ชีวิตนี้จึงไม่ต้องใช้เวลาในการไตร่ตรองมากนัก เพราะวันที่ 23 นี้ เป็นวันที่พวกเขารอคอยมาทั้งชีวิต
“หลังจากมีการจดทะเบียนสมรสเท่าเทียมนี้แล้ว สิ่งที่จะเป็นปัญหาต่อไปก็คือ กฎ ระเบียบ และสวัสดิการต่างๆ ของภาครัฐ ภาคเอกชน ที่จะต้องมีการปรับให้พนักงานที่จดทะเบียนสมรสเท่าเทียม ได้รับสิทธิประโยชน์อย่างเท่าเทียมกับคู่รักชายหญิงทั่วไป ซึ่งตรงนี้ ทางองค์กรบางกอกเรนโบว์ จะต้องมีการติดตามปัญหาต่างๆ ต่อไป” นายนิกร กล่าวปิดท้ายถึงข้อกังวลดังกล่าวในอนาคต หลังจากที่ประเทศไทย จะมีการประกาศใช้สิทธิสมรสเท่าเทียมในวันที่ 23 มกราคม 2568 นี้เป็นต้นไป