นายสนธิ คชวัฒน์ นักวิชาการสิ่งแวดล้อม กล่าวถึงสถานการณ์ฝุ่นในกรุงเทพมหานคร ว่ามีสาเหตุมาจากหลายปัจจัยทั้งจากการเผาในพื้นที่รอบนอก แต่ในกรุงเทพมาจากสภาพอากาศปิดและการจราจรเป็นหลัก รวมทั้งการก่อสร้าง ขนดิน และโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งในการแก้ไขปัญหา กรุงเทพมหานครจะต้องประกาศเป็นพื้นที่ควบคุมเหตุรำคาญตามพรบ.การสาธารณสุข เพราะหากประกาศใช้ก็จะสามารถเข้าไปดูแลแหล่งกำเนิดได้ทั้งหมด
ซึ่งที่ผ่านมาอำนาจของกรุงเทพมหานคร มีเพียงพรบ.สาธารณสุข พรบ.ควบคุมอาคาร แต่ไม่สามารถไปจับรถควันดำที่มีเกินหกล้อ หรือจับโรงงานอุตสาหกรรมได้ ดังนั้นถ้าประกาศส่วนนี้ก็สามารถเข้าไปจัดการได้
ส่วนแนวทางที่ออกมาในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาทั้งในส่วนของรัฐบาลที่จูงใจให้นั่งรถสาธารณะฟรี รวมถึงการปิดโรงเรียนของกรุงเทพมหานคร นักวิชาการสิ่งแวดล้อมมองว่าเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ ซึ่งในภาวะวิกฤตจะต้องมีมาตรการอื่นๆจูงใจมากกว่านี้ เพราะยังมีการตั้งคำถามว่ามาตรการที่ออกมาจะช่วยได้จริงหรือไม่ จริงๆแล้วต้องแก้ที่ต้นเหตุด้วย นั่นคือการจัดการต้นกำเนิดฝุ่นด้วยการบังคับใช้กฎหมายเพราะตอนนี้อยู่ในภาวะวิกฤต
ซึ่งตามแผน ปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ การแก้ไขปัญหามลภาวะด้านฝุ่นละออง ปี 2562 ระบุไว้ชัดเจนว่าในภาวะวิกฤตที่มีฝุ่นเกินมาตรฐานผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นซิงเกิลคอมมานด์ มีอำนาจจัดการได้ทุกแหล่งกำเนิด โดยใช้ พรบ.สาธารณสุข ปี 2535 และพรบ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณะภัยปี 2550 จัดการได้เลย
สำหรับปัญหาในพื้นที่กรุงเทพมหานครขณะนี้นักวิชาการมองว่าหากเป็นไปตามแผนขับเคบื่อนวาระแห่งชาติ ก็ถือเป็นความรับผิดชอบของผู้ว่าราชการจังหวัด แต่ขณะเดียวกันรัฐบาลก็ต้องสนับสนุนให้ กทม. สามารถไปจัดการในส่วนนั้นได้ ด้วยการออกมาตรการเสริม หรือดูแลเรื่องฝุ่นข้ามแดนเพื่อให้เป็นองคาพยพเดียวกัน
ทั้งนี้หากประเมินสถานการณ์ฝุ่นในกรุงเทพมหานครในช่วงนี้ นักวิชาการระบุว่าสถานการณ์อาจจะดีขึ้นเนืาองจากมีลมแรงขึ้น แต่ไม่ได้หมายความว่าต้นกำเนิดฝุ่นลดลง ซึ่งคาดว่าในช่วงปลายเดือนมกราคม สถานการณ์ฝุ่นอาจรุนแรงขึ้นอีกรอบ เนื่องจากมวลอากาศเย็นจะเข้ามาอีกระลอก ขณะเดียวกันก็มีลมเบาลงดังนั้นสิ่งที่ต้องทำในตอนนี้คือการบังคับใช้กฎหมายเพื่อควบคุมแหล่งกำเนิด เพราะเกินขั้นที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพไปแล้ว