วันที่ 14 มี.ค. 2568 นพ.สมศักดิ์ เทียมเก่า อายุรแพทย์ระบบประสาท โพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า ข่าว NHS ของประเทศอังกฤษถูกล้มเลิก กระเทือนถึงประเทศไทย
จากข่าวใหญ่ของวงการสาธารณสุขโลก คือ ข่าวการยกเลิก NHS ของประเทศอังกฤษ หรือ เทียบกับประเทศไทย คือ
สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ซึ่งประเทศอังกฤษเป็นต้นแบบที่ประเทศไทยนำมาปรับปรุงและพัฒนาเป็น สปสช. ของประเทศไทย
อย่างที่ผมเคยกล่าวไว้ก่อนหน้านี้ด้วยความเป็นห่วงระบบสุขภาพของไทย ที่ขับเคลื่อนด้วยระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งมี สปสช. บริหารจัดการระบบ ดูแลประชากรประมาณ 75% ของประเทศไทย ซึ่ง สปสช. ไทยได้รับการยอมรับจากนานาประเทศว่ามีการบริหารงานที่ยอดเยี่ยม ส่งผลให้ระบบสุขภาพของคนไทยมีความครอบคลุมประชากรไทยอย่างดี มีต้นทุนต่ำ มีประสิทธิภาพสูง
แต่ในช่วง 3 ปีหลังมานี้ ปัญหาต่างๆ ที่รพ.พบที่เกี่ยวข้องกับระบบบริหารของ สปสช. คือ ภาวะขาดสภาพคล่องด้านการเงิน และนโยบายจากรัฐบาลที่มองว่าเป็นนโยบายประชานิยมมากเกินไป เช่น มะเร็งรักษาได้ทุกที่ ตามที่ผู้ป่วยต้องการ (ซึ่งที่ถูกต้องควรเป็น มะเร็งรักษาได้ทุกที่ที่ใกล้บ้าน และมีความพร้อม : cancer anywhere) และนโยบายบัตรประชาชนใบเดียวรักษาได้ทุกที่ รวมถึงนโยบายอื่นๆ ที่สร้างภาระให้โรงพยาบาลอย่างมาก
ร่วมกับปัญหาการขาดแคลนบุคลากรด้านสาธารณสุข โดยเฉพาะแพทย์ พยาบาล และทีม ซึ่งเกิดจากภาระงานที่หนักและได้รับค่าตอบแทนที่ไม่คุ้ม ส่งผลให้เกิดการลาออกของบุคลากรมากที่สุดเมื่อเทียบกับวิชาชีพอื่นๆ เมื่อปัญหาด้านนโยบาย รวมกับปัญหาการขาดสภาพคล่องการเงิน และการขาดแคลนบุคลากร ทั้งหมดนี้ก็จะยิ่งสร้างปัญหาให้ระบบสาธารณสุขของประเทศไทยนั้นมีโอกาสที่จะล้มเหมือนของประเทศอังกฤษ ถ้า สปสช. และรัฐบาลไม่รีบปรับตัวและปรับนโยบายของรัฐ วิธีการทำงานของ สปสช.
เพราะประเทศไทยไม่ได้มีงบประมาณเทียบเท่าประเทศอังกฤษ ประเทศเรามีอัตราส่วนของแพทย์ พยาบาลต่อประชากรไม่ดีเท่ากับอังกฤษ แต่เรากลับมีการเพิ่มสิทธิประโยชน์ต่างๆ ให้ประชาชนมาก การเข้าถึงการรักษาที่สะดวก ง่าย รวดเร็ว ไม่มีข้อจำกัด จนอาจเกินความจำเป็นก็ได้ในบางประเด็น ซึ่งรัฐบาลต้องรีบกลับมามองและประเมินสถานการณ์ให้ดี มิฉะนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นกับประเทศอังกฤษ ก็อาจเกิดขึ้นกับประเทศไทยในเวลาอันใกล้นี้
ทำไมระบบของ สปสช. ประเทศไทยถึงยังอยู่ได้ ผมมองว่าเป็นเพราะความเป็นคนไทย ที่ยอมรับสภาพความลำบากในการทำงาน ภาระงานที่มาก ค่าตอบแทนที่ไม่เหมาะสม และปัญหาการขาดสภาพคล่องด้านการเงินของโรงพยาบาล บุคลากรทางการแพทย์ไทยทำงานเกินเงินเดือนมาตลอด โดยได้แต่บ่น แต่ไม่เคยมีการนัดชุมนุมหยุดงานประท้วงเรียกร้อง เหมือนหลายๆ ประเทศที่พัฒนาแล้วทำกัน บุคลากรเรามีความเสียสละ ทุ่มเททั้งกายและใจในการทำงานเพื่อคนไข้ เพราะเราถูกสอน ถูกฝึกมาแบบนี้ แต่เชื่อผมเถอะครับ พอถึงจุดหนึ่งคนเราก็ทนไม่ได้ ซึ่งตอนนี้ใกล้ถึงจุดนั้นแล้ว
อย่าให้ถึงวันนั้นเลยครับ เราคงไม่ต้องการเห็นระบบสุขภาพที่ดี ที่ช่วยดูแลสุขภาพคนไทยมานานมากกว่า 20 ปี ต้องสะดุดขาตนเองล้ม และประชาชน 75% ของประเทศใครจะดูแล เราทุกคนต้องร่วมมือกันป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นเดียวกับประเทศอังกฤษในวันนี้ แต่ความหวังดีของทุกคนจะไม่มีผลใดๆ เลย ถ้ารัฐบาล และ สปสช. ยังไม่ปรับตัว และเปลี่ยนวิธีคิด วิธีการทำงาน