30 เม.ย. 68 นายศรชัย ชูวิเชียร รองเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการเปิดโต๊ะข่าว PPTV HD36 ถึงประเด็นการตรวจสอบพบ E-Ticket อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน มียอดขายไม่ตรงนักท่องเที่ยวว่า หากย้อนไปตั้งแต่ปี 2558 คณะกรรมการปฏิรูปแห่งชาติ ลงพื้นที่หมู่เกาะพีพี ประกอบกับ ป.ป.ช. ได้รับเรื่องร้องเรียนว่า การจัดเก็บรายได้ของอุทยานฯ น่าจะไม่สอดคล้องกับจำนวนนักท่องเที่ยว และได้รับเบาะแสต่อเนื่อง จึงรวบรวมทุกช่องโหว่ด้านการจัดเก็บรายได้ เพื่อเสนอออกมาเป็นมาตรการจัดเก็บรายได้อุทยานฯ
โดย ป.ป.ช. เสนอไปยัง ครม. ให้มีการจัดเก็บเป็น E-Ticket แทนการฉีกตั๋วรับเงินสด ตั้งแต่ปี 2562 และด้านการบริหารจัดการ ให้ภาคประชาชนและหน่วยงานต่าง ๆ มีส่วนร่วมด้วย ซึ่ง ป.ป.ช. ก็มีการติดตามมาตรการต่อเนื่อง แต่ก็ยังมีประเด็นเรื่องการจัดเก็บรายได้ที่สุ่มเสี่ยง หรือไม่เป็นตัวเลขที่แท้จริง
นายศรชัย กล่าวว่า ประมาณปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา พบว่า หมู่เกาะสิมิลันมีระบบจัดเก็บรายได้แบบ E-Ticket 100% จึงอยากให้เป็นโมเดลดำเนินการในเรื่องนี้ และพบว่าตัวเลขที่มีการส่งมาให้อุทยานฯ และ ป.ป.ช. ดูเอาสาร พบว่า เรือแต่ละลำส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวชาวไทย เกิน 50% แต่เมื่อลงไปสุ่มตรวจ พบว่ากว่า 90% เป็นคนต่างชาติ
ที่เป็นเช่นนั้นเพราะว่า นักท่องเที่ยวชาวไทยเสียค่าเข้าอุทยานฯ แค่ 100 บาท ขณะที่ชาวต่างชาติเสีย 500 บาท ตรงนี้พบว่ามีการตกแต่งตัวเลข ตกแต่งรายชื่อผู้ประกอบการ ทำให้เสียรายได้จากการจัดเก็บรายได้แบบเต็มเม็ดเต็มหน่วย ซึ่งเวลาที่ซื้อตั๋วส่วนใหญ่เป็นการซื้อตั๋วผ่านบริษัททัวร์ ทัวร์ก็จะทำหน้าที่ดำเนินการเอกสารต่าง ๆ จากนั้นก็จะส่งตัวเลขและรายชื่อให้เจ้าหน้าที่อุทยานฯ
ดังนั้น เจ้าหน้าที่อุทยานฯ ก็ต้องคาดการณ์ได้ว่า เรือบางลำที่แจ้งยอดมาว่ามีนักท่องเที่ยวประมาณ 10 คน ซึ่งเป็นไปไม่ได้ ไม่คุ้มทุน แค่จากฝั่งไปยังเกาะ ค่าน้ำมันร่วมหมื่นบาทแล้ว การกระทำลักษณะนี้ต้องไปดูต้นทางว่ามีการกรอกรายชื่อมาถูกต้องหรือไม่ ซึ่งน่าจะมีปัญหาว่าใส่ชื่อคนไทยมา แต่ที่จริงเป็นคนต่างชาติ ยกตัวอย่าง เรือบริษัทแห่งหนึ่งแจ้งซื้อตั๋วนักท่องเที่ยวต่างชาติ 8 คน คนไทย 26 คน แต่ตรวจนับได้จริง ๆ คือ คนต่างชาติ 28 คน คนไทยแค่ 3 คน
ส่วนนี้ ป.ป.ช. กำลังดำเนินการตรวจสอบเอกสารที่เกี่ยวข้องอยู่ว่ามีการเข้าข่ายกระทำความผิดของเจ้าหน้าที่รัฐและเอกชนหรือไม่ เรื่องนี้ต้องดูตั้งแต่ต้นทางที่ผู้ประกอบการทัวร์ แบบนี้ไม่ใช่ผู้ประกอบการบริษัทน้ำดี ต้องมาพิสูจน์ว่าเจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องอย่างไร ขณะนี้มีการรวบรวมเอกสารหลักฐานได้เยอะพอสมควร
นายศรชัย กล่าวว่า ปลายทางเองก็ต้องตรวจสอบเช่นกัน พบมีการใช้ระบบแมนนวลในการตรวจสอบ ซึ่งตรวจสอบได้ไม่ตรง บางส่วนก็ไม่ได้ตรวจสอบอย่างจริงจัง ดังนั้นต้นทางกับปลายทางไม่สามารถนำชื่อมาเทียบกันได้เลย กรมอุทยานฯ ต้องดูตั้งแต่ต้นทางว่ามีการกรอกตัวเลขให้บริษัททัวร์ไปดำเนินการเหมาะสมแล้วหรือไม่อย่างไร ต้องมีวิธีการขั้นตอนที่ดี หลายประเทศดำเนินการแบบไม่มีปัญหาแล้ว
ส่วนปลายทาง การเข้าอุทยานฯ ทางทะเลไม่เหมือนกับบนบก จะมีความซับซ้อนขึ้นมา ต้องไปดูว่าวิธีการรีเช็กข้อมูล เทคโนโลยีช่วยได้หมด ต้องเอาจริงเอาจัง ขัดน็อตให้เข้มข้นกว่านี้
นายศรชัย กล่าวว่า กรณีที่มีเรือลงทะเบียนไม่ตรงเล็ดลอดมา อาจเกิดจากความผิดพลาด เช่น บางครั้งบริษัททัวร์รับนักท่องเที่ยวจากที่ต่าง ๆ บางครั้งนักท่องเที่ยวลงเรือไม่พร้อมกัน ไปลงลำถัดไป ก็ต้องดูรายละเอียดไป อุทยานฯ ต้องไปหามาตรการดำเนินการกับเรือผู้ประกอบการที่กระทำความผิดอย่างจริงจัง ต้องไม่ปล่อยปละละเลย
จากการสอบถามการลงโทษกรณีดังกล่าวในเรื่องค่าปรับ พบว่ายังมีการปรับน้อยอยู่มาก ผู้ประกอบการที่ไม่ดีก็มีหลายช่องทางที่พยายามกระทำผิด เพราะเป็นส่วนต่างที่เขาได้เยอะ นอกจากนี้ยังพบข้อมูลบางส่วนจากนอกพื้นที่ เช่น ไปหาจุดที่นักท่องเที่ยวลักลอบเข้ามายังอุทยานฯ เช่น ท่าฉัตรชัย จ.ภูเก็ต ตรงนี้อาจเป็นปัญหาจากทางผู้ประกอบการ ถ้ากระทำผิดซ้ำ ๆ ผู้ประกอบการเหล่านี้ต้องออกจากระบบไป เพิ่มรายชื่อในแบล็กลิสต์เพื่อไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่าง