ความคืบหน้าคดีทุจริตเงินทอนวัด 10 ปียังไม่จบ รอนำตัว “นพรัตน์” กลับมารับโทษ

โดย PPTV Online

เผยแพร่

ป.ป.ช.เผยความคืบหน้ามหากาพย์คดีทุจริตเงินทอนวัด ผ่านมา 10 ปี ยังรอนำตัว “นพรัตย์” อดีตผอ.สำนักพุทธฯ กลับมารับโทษ

ย้อนไปเมื่อเกือบ 10 ปีก่อน ประเทศไทยเกิดคดีชวนฮือฮาที่สุด สะเทือนใจพุทธศาสนิกชนที่สุด นั่นคือ “คดีเงินทอนวัด” เมื่อมีขบวนการจัดสรรเงินอุดหนุนวัดแห่งต่าง ๆ แล้วนำเงินบางส่วนตีกลับเข้ากระเป๋าตัวเอง โดยผู้มีส่วนร่วมในขบวนการนี้มีทั้ง ผอ.สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เจ้าหน้าที่รัฐ ไปจนถึงพระสงฆ์ระดับเจ้าอาวาส

หนึ่งในจำเลยคนสำคัญคือ “นพรัตน์ เบญจวัฒนานนท์” อดีต ผอ. สำนักพุทธฯ ซึ่งหลบหนีไปยังสหรัฐฯ และเพิ่งถูกจับกุมตัวได้เมื่อเดือน เม.ย. ที่ผ่านมาในรัฐเท็กซัส

คอนเทนต์แนะนำ
หนุ่มฮ่องกงหนีตาย! ถูกซ้อมหลังล่วงรู้ความลับบริษัททุนจีน
เจ้าของร้านหมูกระทะเศร้า! เจอลูกค้าทิพย์เหมาร้าน สุดท้ายต้องนั่งกอดลูกให้กำลังใจ

ความคืบหน้าคดีทุจริตเงินทอนวัด 10 ปียังไม่จบ รอนำตัว “นพรัตน์” กลับมารับโทษ รายการเปิดโต๊ะข่าว
ความคืบหน้าคดีทุจริตเงินทอนวัด 10 ปียังไม่จบ รอนำตัว “นพรัตน์” กลับมารับโทษ

ที่หลายคนกำลังจับตาคือ การนำตัวนพรัตน์กลับมาดำเนินคดีในไทย แต่เรื่องนี้มีอุปสรรคอะไรหรือไม่ เนื่องจากคาดว่าตัวนายนพรัตน์จะสู้คดีในชั้นศาลที่สหรัฐฯ เต็มที่ เพื่อไม่ต้องกลับมารับโทษที่ประเทศไทย

ปฐมบทการทุจริตเงินทอนวัด

คุณศรชัย ชูวิเชียร รองเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. กล่าวถึงคดีเงินทอนวัดว่า ในภาพรวม มีคดีที่เกี่ยวข้องอยู่ถึง 120 คดี ซึ่งปลายทางสำคัญคือต้องเอาตัวผู้ถูกกล่าวหามาลงโทษให้ได้ ตัวของนายนพรัตย์เองมีความเกี่ยวข้องใน 64 คดี ซึ่งศาลพิพากษาไปแล้ว 31 คดี

จุดเริ่มต้นเรื่องนี้ คุณศรชัยเล่าว่า เมื่อวันที่ 21 ส.ค. 2558 ที่สงขลามีการจับกุมอดีต ผอ.สำนักพุทธฯ ประจำจังหวัดสงขลา โดยได้เบาะแสว่า สำนักพุทธฯ ได้โอนเงินที่รับจัดสรรมาไปให้วัดใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ เป็นเงิน 4 ล้านบาท แล้ว อดีต ผอ.สำนักพุทธสงขลาเรียกเงินทอนกลับมา จึงวางแผนจับกุมได้สำเร็จ พร้อมเงินสดของกลาง 3.2 ล้านบาท

ซึ่ง ป.ป.ช. ได้ชี้มูลความผิดเจ้าหน้าที่รายดังกล่าว ถือเป็นปฐมบท จุดเริ่มต้นของการขยายผลกวาดล้างการทุจริตเงินทอนวัด โดยพบว่าไม่ใช่เฉพาะวัดใน 3 จังหวัดชายแดนใต้เท่านั้นที่ถูกขอเรียกเงินทอนคืน แต่กระจายไปยังวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศ

ณ ปัจจุบัน ป.ป.ช.ได้พิจารณาแล้วเสร็จ 104 เรื่อง ชี้มูลความผิดเรียบร้อย รอดำเนินการอยู่อีก 14 เรื่อง

คุณศรชัยบอกว่า การทุจริตเงินทอนวัดนี้ทำให้เกิดความเสียหายไม่ต่ำกว่า 1 พันล้านบาท โดยเจ้าหน้าที่บางรายถูกชี้มูลความผิดร่ำรวยผิดปกติ เช่น นายนพรัตน์ มีทรัพย์สินมากกว่า 500 ล้านบาท และอีกหลายราย

รองเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. เล่าว่า กลของการทุจริตนี้คือ ให้เจ้าหน้าที่สำนักพุทธฯ ติดต่อวัด ว่าต้องการเงินอุดหนุนหรือไม่ โดยจะมีเงินอุดหนุนให้ 3 ส่วน คือ เงินอุดหนุนการเผยแผ่พระพุทธศาสนา เงินอุดหนุนการบูรณะปฏิสังขรณ์วัดและโครงการอื่น ๆ ในวัด และเงินอุดหนุนการศึกษาปริยัติธรรม

“เจ้าหน้าที่จะบอกว่า ถ้าวัดต้องการเงินอุดหนุน ต้องมีเงินทอนนะ เพื่อที่สำนักพุทธฯ จะนำไปทำกิจกรรมอื่นในการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา วัดก็เชื่อ แต่พระหลายรูปเริ่มเอ๊ะ ว่าเงินทอนที่เอาไปไม่ได้นำไปใช้ในวัดอื่นหรือโครงการใด ๆ” คุณศรชัยกล่าว

เขาเสริมว่า นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่สำนักพุทธฯ เหล่านี้ยังไม่ได้มีการประชุมพิจารณาเงินอุดหนุนวัดจริง ๆ แต่มีการทำพยานหลักฐานเท็จในการประชุม แล้วจัดสรรเงินอุดหนุนเลย โดยจะโอนเงินให้ทางวัดในทันที แล้วติดต่อวัดดังกล่าวเหล่านั้นเพื่อเอาเงินทอนกลับมา

“ส่วนใหญ่พระท่านไม่รู้ไม่ทราบ การจัดซื้อจัดจ้างพระสงฆ์ส่วนใหญ่ท่านไม่รู้รายละเอียดอยู่แล้ว นี่คือขบวนการที่เจ้าหน้าที่รัฐใช้พระเป็นเครื่องมือในการกระทำทุจริต” รองเลขาธิการคณะรรมการ ป.ป.ช. ระบุ

ต้องนำตัว “นพรัตน์” กลับมารับโทษให้ได้

คุณศรชัยเปิดเผยว่า ที่ผ่านมา มีเจ้าหน้าที่รัฐถูกจำคุกไปแล้วหลายรายจากการทุจริตเงินทอนวัด ส่วนคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องซึ่งไม่ใช่เจ้าหน้าที่รัฐ ทาง ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดไปแล้ว 6-7 ราย และมีพระอีกอย่างน้อย 12 รูป ตอนนี้ตัวหลักที่เหลืออยู่ซึ่งยังไม่ได้รับโทษ คือนายนพรัตน์ กับอดีตรองผู้อำนวยการสำนักพุทธฯ อีกคน

ในการจะนำตัวนพรัตน์กลับมารับโทษนั้น คุณศรชัยบอกว่า ป.ป.ช. ได้ร่วมกับสำนักงานอัยการสูงสุด ให้เป็นผู้ประสานงานการส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดน หารือแนวทางดำเนินการตั้งแต่ พ.ค. ปีที่แล้ว มีการพูดคุยหารือกับผู้แทนกระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ จนมีการส่งหนังสือผ่านสำนักงานอัยการกลางให้กระทรวงการต่างประเทศของไทย เพื่อส่งไปกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ จนนำไปสู่การจับกุมนพรัตน์ได้ที่เท็กซัสในที่สุด

“หลังจากนี้ ขั้นตอนอยู่ในชั้นศาลสหรัฐฯ พิจารณารายละอียดต่าง ๆ เป็นขั้นตอน ซึ่งอาจใช้เวลาพอสมควร โดยนายนพรัตน์มีสิทธิต่อสู้ทั้ง 3 ศาล คือศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ และศาลฎีกา ซึ่งถ้าสู้จนถึงที่สุดขนาดนั้นจะใช้เวลามาก” รองเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. กล่าว

คุณศรชัยบอกว่า “ขึ้นอยู่กับศาลสหรัฐฯ ด้วยว่า จะพิจารณาอย่างไร เพราะหลักฐานที่ส่งไปเชื่อว่าเพียงพอต่อเงื่อนไขในบริบทที่สามารถส่งตัวนายนพรัตน์ข้ามแดนมาได้”

เขาเสริมว่า นายนพรัตน์ถือเป็นตัวหลักสำคัญของคดีนี้ทั้งหมด ดังนั้นยืนยันว่า ต้องการตัวจำเลยรายนี้มาลงโทษ

อุดช่องโหว่แล้ว แทบไม่พบทุจริตเงินทอนวัด

ในส่วนของการป้องกันไม่ให้เกิดการทุจริต คุณศรชัยบอกว่า ตั้งแต่การทุจริตเงินทอนวัดแดงออกมาในปี 2558 ได้เสนอแนะมาตรการจนสำนักพุทธฯ สามารถปิดรอยรั่วได้เกือบทั้งหมดแล้ว

โดย ป.ป.ช. ได้เสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในเวลานั้น มีมติให้สำนักพุทธฯ ดำเนินการป้องกันและปราบปราม จนการทุจริตเงินอุดหนุนแทบไม่มีแล้ว “ป.ป.ช.มีมติส่งเรื่องแนวทางข้อเสนอไปให้ ครม. พิจารณา ให้สำนักพุทธฯ เอาแนวทางไปปรับใช้ดำเนินการ เช่น กระบวนการทำคำของบ การเบิกจ่ายงบ การติดตามงบ การแจ้งเบาะแส ทั้งดำเนินการให้รัดกุมแล้ว”

แต่สิ่งที่ยังขาดและ ป.ป.ช. ต้องการให้เกิดขึ้นคือ “การจัดทำฐานข้อมูลวัดทั่วประเทศ” เพื่อจะได้มีข้อมูลว่า วัดแต่ละแห่งเคยขอเงินอุดหนุนหรือไม่ ขอไปเท่าไร เพื่อให้สามารถง่ายต่อการติดตามผลการใช้เงินอุดหนุนนั้น

คุณศรชัยบอกว่า “สิ่งที่ ป.ป.ช. อยากให้ทำมากคือ ฐานข้อมูลวัดทั่วประเทศ ซึ่งสำนักพุทธฯ อยู่ระหว่างขอรับงบประมาณอยู่ ยังมีข้อติดขัด ... ถ้ามีระบบนี้ จะสามารถดูได้ว่า วัดที่เคยขอเงินอุดหนุนไปมีที่ใดบ้าง ขอไปเท่าไร ขอจัดซื้อจัดจ้างในโครงการเดิมจนผิดสังเกตหรือไม่ ตรงนี้เป็นสิ่งที่จะทำให้การบริหารจัดการใช้จ่ายงบมีประสิทธิภาพ วัดได้เงินเต็ม ไม่มีเงินทอน”

คุณศรชัยทิ้งท้ายว่า “การป้องกันที่รัดกุมขึ้น จะสามารถยกระดับการใช้เงินซึ่งเป็นภาษีของพี่น้องประชาชนได้ ที่เราพยายามทำคืออุดรอยรั่วเงินจัดสรรวัดต่าง ๆ และยกระดับพุทธศาสนาทั่วประเทศ”

Bottom-VNL2025 Bottom-VNL2025

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

PPTVHD36

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ