วันที่ 23 พ.ค. 68 ความคืบหน้ากรณีค้นหาร่างแรงงานวัย 33 ปี ที่ประสบเหตุพลัดตกลงไปภายในหลุมเจาะเสาเข็ม โครงการก่อสร้างสถานีหลานหลวง (OR06) รถไฟฟ้าสายสีส้มช่วงบางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย เยื้องซอยหลานหลวง 8 เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กทม. เมื่อช่วงบ่ายวันที่ 19 พ.ค. ที่ผ่านมา
โดยคืนวันที่ 22 พ.ค. เจ้าหน้าที่พยายามเร่งต้นหาร่างผู้สูญหายที่ความลึก 13 เมตร แต่ยังไม่พบ จนกระทั่งเวลา 04.30 น. ต้องหยุดการค้นหา และในเวลา 09.00 น. ทางเจ้าหน้าที่ได้เริ่มลงไปปฏิบัติการค้นหาอีกครั้ง จนพบร่างของผู้สูญหาย
ณ เวลาประมาณ 10.20 น. ทางเจ้าหน้าที่สามารถพบร่างผู้สูญหายแล้ว อยู่ระหว่างรอประชุมหารือการนำร่างขึ้นมา
ด้านนาย เพ็ชร ภุมมา ผู้อำนวยการเขตป้อมปราบศัตรูพ่าย เปิดเผยถึงความคืบหน้าการค้นหาผู้สูญหายที่ตกลงไปในหลุมเสาเข็มลึก 19 เมตร บริเวณโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ถนนหลานหลวง ใกล้ปากซอยหลานหลวง 8 ว่า ขณะนี้ดำเนินการเข้าสู่วันที่ 4 แล้ว โดยมีความคืบหน้าตามแผนที่วางไว้ แม้จะเผชิญกับอุปสรรคต่าง ๆ ระหว่างปฏิบัติงาน
โดย นายเพ็ชร ระบุว่า เมื่อช่วงเย็นของวันที่ผ่านมา ระหว่างเวลา 17.00-19.00 น. ทีมงานพบปัญหาดินไหลในบริเวณล่างของหลุมเสาเข็ม ทำให้ต้องหยุดปฏิบัติงานชั่วคราว เนื่องจากวิศวกรประเมินว่าเป็นจุดที่อันตราย และมีการประชุมร่วมเพื่อวางแผนเปลี่ยนวิธีการ โดยเริ่มจากการเคลียร์พื้นที่และทำผนังกันดิน ให้แข็งแรงและเล็กลง จากนั้นได้ส่งเจ้าหน้าที่ลงสำรวจในบริเวณหลุมลึกต่อจนถึงเวลา 02.00 น. ซึ่งพบสัญญาณที่น่าจะเป็นของผู้สูญหาย
อย่างไรก็ตาม ระหว่างการดำเนินงาน เกิดท่อประปาแตก ส่งผลให้ต้องหยุดปฏิบัติงานเพื่อซ่อมแซมท่อประปา ซึ่งในวันนี้ได้รับการซ่อมแซมเรียบร้อยแล้ว ขณะนี้ทีมงานอยู่ในขั้นตอนสูบน้ำออกจากหลุมและขุดดินเพิ่มเพื่อให้เจ้าหน้าที่ลงไปสำรวจต่อไป ส่วนสัญญาณที่ตรวจพบอาจเป็นร่างของผู้สูญหาย แต่ยังไม่สามารถระบุได้ว่าอยู่ในลักษณะนั่ง ยืน หรือ นอน และต้องเร่งดำเนินการค้นหาเนื่องจากช่วงบ่ายวันนี้คาดว่าจะมีฝนตกซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการทำงาน
นายเพ็ชรยังกล่าวเพิ่มเติมว่า เจ้าหน้าที่ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องยังคงปฏิบัติงานอย่างเต็มที่ มีการประชุมวางแผนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ รวมถึงเตรียมวัสดุอุปกรณ์ที่ทันสมัยเพื่อให้การทำงานดำเนินไปอย่างรวดเร็วและปลอดภัย นอกจากนี้ระหว่างการปฏิบัติงานยังไม่มีเจ้าหน้าที่รายใดได้รับบาดเจ็บ และมีการตรวจสอบสภาพร่างกายของเจ้าหน้าที่อย่างสม่ำเสมอ
สำหรับระดับความลึกปัจจุบัน มีการทำผนังกันดินตัวค้ำยันไว้ที่ระดับความลึก 7.5 เมตร เจ้าหน้าที่ลงไปลึกกว่าระดับผนังนี้ประมาณ 2 เมตร รวมเป็น 9.5 เมตร และใช้อุปกรณ์ตรวจสอบเพิ่มเติมลึกลงไปอีก 2 เมตร พบสัญญาณที่มีลักษณะผิดปกติไม่ใช่ดินธรรมดา ซึ่งคาดว่าเป็นผู้สูญหายอยู่ที่ระดับความลึกประมาณ 11.5 เมตร โดยอุปสรรคสำคัญคือสภาพอากาศที่อาจมีฝนตกและความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่ นอกจากนี้ยังมีเจ้าหน้าที่การประปาคอยเฝ้าระวังหากเกิดท่อประปาชำรุด และน้ำรั่วไหลเข้าสู่บริเวณหลุมที่ทำการค้นหาอย่างต่อเนื่อง
ด้านนายวิทยา พันธุ์มงคล รองผู้ว่าการ ปฏิบัติการ รักษาการผู้ว่าการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ระบุว่า การดำเนินงานครั้งนี้เน้นเรื่องความปลอดภัยเป็นหลัก เนื่องจากบริเวณหลุมมีความเสี่ยงดินถล่มเพิ่มขึ้น ทีมงานจึงต้องมั่นใจในสภาพดินและข้อมูลพื้นที่อย่างรอบคอบก่อนจะลงมือทำงานในระดับความลึกที่มากขึ้น โดยมีการเตรียมเครื่องมือและอุปกรณ์ทันสมัยพร้อมเต็มที่ เพื่อทำงานแข่งกับเวลาและคำนึงถึงความปลอดภัยของประชาชนที่พักอาศัยรอบข้าง รวมถึงเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน โดยประชาชนในพื้นที่ยังไม่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินงานในขณะนี้
ขณะที่ นายภุชพงศ์ สัญญโชติ ผู้อำนวยการกองปฏิบัติการดับเพลิงและกู้ภัย 3 สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ระบุว่า ทีมกู้ภัยจำนวนประมาณ 50 นาย ทั้งจากภาครัฐและอาสาสมัคร กำลังปฏิบัติการค้นหาผู้สูญหายอย่างเต็มที่ โดยทุกคนมุ่งมั่นและทุ่มเทเพื่อให้ผู้สูญหายกลับบ้านอย่างปลอดภัย และยังคงปฏิบัติงานค้นหาอย่างต่อเนื่องไม่หยุดพัก