เปิดเบื้องหลังการทำคดีทุจริตที่สำคัญของ ป.ป.ช.ที่คดีถึงที่สุดแล้ว ใน Fight against corruption พร้อมชนคนโกง ตอน ย้อนคดี นายพนม ศรศิลป์ อดีตผู้อำนวยการสำนักพระพุทธศาสนา ปกปิดรัพย์สินเกี่ยวโยงคดีทุจริตเงินทอนวัด
โดยผู้ต้องหาคนสำคัญในคดีทุจริตเงินทอนวัด อย่างนายพนม ศรศิลป์ อดีตผู้อำนวยการสำนักพระพุทธศาสนา หรือ พศ. ที่นอกจากจะได้รับโทษทางอาญาอย่างหนัก ยังถูกคณะกรรมการการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดกรณีร่ำรวยผิดปกติ
ย้อนกลับไปเมื่อปี 2561 มีการตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวน กรณีนายพนม มีพฤติการณ์อันควรสงสัยว่าร่ำรวยผิดปกติ ต่อมาได้มีการย้อนกลับไปตรวจสอบบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน ที่นายพนม เคยยื่นไว้ต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการ พศ. เพื่อหาหลักฐานว่า นายพนม จงใจไม่ยื่น หรือปกปิด บัญชีแสดงรายการทรัพย์สิน และหนี้สิน ต่อคณะกรรมการป.ป.ช.หรือไม่
จากการตรวจสอบพบว่า นายพนม มีพฤติการณ์จงใจยื่นบัญชี แสดงรายการทรัพย์สิน และหนี้สิน และเอกสาร อันเป็นเท็จ โดยให้คนครอบครัว และบุคคลใกล้ชิด เป็นผู้ถือครองทรัพย์สินแทน จำนวน 7 รายการ เช่น บัญชีเงินฝาก หุ้นในสหกรณ์ และเงินกู้ยืม รวมมูลค่าประมาณ 19 ล้านบาท
ต่อมาคณะกรรมการป.ป.ช. ยื่นคำร้องต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง เพื่อให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 โดยศาลพิพากษาจำคุก 6 เดือน แต่นายพนมให้การรับสารภาพ จึงลดโทษให้กึ่งหนึ่งคงจำคุก 3 เดือน และห้ามไม่ให้ดำรงตำแหน่งเจ้าหน้าที่ของรัฐ เป็นเวลา 5 ปี นับตั้งแต่วันที่ 4 ธันวาคม 2562 ซึ่งเป็นวันที่นายพนม พ้นจากตำแหน่ง
สำหรับพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 39 (15) ประกอบมาตรา 32 กำหนดให้ ผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูง มีหน้าที่ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สิน และหนี้สินของตน คู่สมรส และบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ รวมถึงทรัพย์สินที่มอบหมายให้อยู่ในความครอบครองหรือดูแลของบุคคลอื่น ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม โดยกฎหมายฉบับนี้ ถือเป็นกลไกสำคัญที่จะช่วยป้องปรามการทุจริต ของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และเจ้าหน้าที่รัฐให้มีความโปร่งใส ผ่านการใช้กฎหมายที่เข้มงวด และบทลงโทษรุนแรง ไม่ให้เกิดการกระทำผิดซ้ำได้อีก