กลุ่มธุรกิจเหล้า-เบียร์ ขอผ่อนปรนขายออนไลน์
ถึงแม้ศบค.จะผ่อนปรนมาตรการหลายอย่างแล้ว แต่ก็มีบางกิจกรรมหรือกิจการที่ยังอนุญาตให้เปิด วันนี้ที่กระทรวงสาธารณสุข ตัวแทนธุรกิจคราฟต์เบียร์ เดินทางไปยื่นหนังสือ เพื่อเรียกร้องขอผ่อนปรนให้เปิดกิจการได้ และขอการเยียวยา ที่ได้รับผลกระทบจากคำสั่งห้ามซื้อขายแอลกฮอล์เพื่อบริโภคภายในร้าน
ตัวแทนผู้ประกอบการได้นำคราฟต์เบียร์และเบียร์สดมาเททิ้ง เพื่อเป็นการแสดงเชิงสัญลักษณ์ ระหว่างยื่นหนังสือต่อสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ขอผ่อนปรนให้เปิดกิจการได้ และขอมาตรการเยียวยาผู้ประกอบการ จากคำสั่งห้ามซื้อขายแอลกฮอล์เพื่อบริโภคภายในร้าน
นายอาชิระวัสส์ วรรณศรีสวัสดิ์ นายกสมาคมคราฟท์เบียร์ ระบุว่า ปัจจุบันมีผู้ประกอบการรายย่อยที่ประกอบธุรกิจที่เกี่ยวข้องร์ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลไม่น้อยกว่า 300 ร้าน และมีผู้ได้รับผลกระทบไม่ต่ำกว่า 5,000 คน ประมาณมูลค่าความเสียหายที่เกิดขึ้นราว 150 ล้านบาท/เดือน
นายอาชิระวัสส์ ระบุว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบทั้งระบบธุรกิจ ตั้งแต่ตัวแทนผู้นำเข้า ตัวแทนจำหน่าย บริษัทขนส่ง บริษัทให้เช่าคลังสินค้า ร้านค้า พนักงานประจำและพนักงานจ้างรายวัน สมาคมฯ จึงมายื่นหนังสือเพื่อขอเสนอมาตรการบรรเทาและเยียวยาผลกระทบ โดยมีทั้งหมด 6 ข้อ คือ
1.ผ่อนปรนให้สามารถขายแอลกอฮอล์เพื่อบริโภคในร้านค้าได้ โดยมีมาตรการคัดกรองอย่างเข้มข้นตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข
2.ผ่อนปรนการบังคับใช้กฎหมาย ห้ามเปลี่ยนแปลงบรรจุภัณฑ์ โดยอนุญาตให้ร้านค้าสามารถจำหน่ายเบียร์สดในบรรจุภัณฑ์ขนาดเล็ก เพื่อให้ลูกค้าสามารถนำกลับไปบริโภคที่บ้านได้
3.ชะลอการบังคับใช้กฎหมายห้ามซื้อขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ เพื่อให้ร้านค้าสามารถจำหน่ายสินค้าทางช่องทางออนไลน์ โดยยังบังคับให้ผู้ขายต้องตรวจสอบอายุของผู้ซื้อสินค้าให้เป็นไปตามกฎหมาย
4.ผ่อนปรนให้ร้านค้าสามารถโพสต์รูปสินค้า และอธิบายสินค้าทางสื่อโซเซียลได้
5.อนุญาตให้ผู้ประกอบการชะลอการจ่ายภาษีมูลค่าเพิ่มและนำส่งประกันสังคม
6.อนุญาตให้ผู้นำเข้า สามารถแบ่งชำระภาษีสรรพสามิตและภาษีนำเข้าเป็นงวดๆ เพื่อบรรเทาปัญหาสภาพคล่องทางการเงิน
ขณะที่นายแพทย์ รุ่งเรือง กิจผาติ ที่ปรึกษากระทรวงสาธารณสุข เป็นตัวแทนรับหนังสือและรับข้อเสนอของผู้ประกอบการ พร้อมบอกว่า จะรับฟังความคิดเห็นของผู้ประกอบการไปเสนอ ศบค.เพื่อนำไปปรับแก้ไข โดยไม่ขัดต่อกฎหมายและเพื่อให้ภาครัฐดำเนิน การได้และภาคเอกชนปฏิบัติโดยไม่รับผลกระทบ
ส่วนที่ทำเนียบรัฐบาล มีกลุ่มผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เข้ายื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีขอให้ทบทวนมาตรการเยียวยา "เราชนะ" 2 กลุ่ม กลุ่มแรก เป็นกลุ่มบูรณาการแรงงานสตรี ที่มาทำกิจกรรมปราศรัยความเดือดร้อน ขอให้ช่วยเหลือกรณีถูกนายจ้างใช้สถานการณ์แพร่ระบาดบอกเลิกจ้างอย่างไม่เป็นธรรม รวมถึงขอให้ทบทวนการจ่ายเงินเยียวยาทั้งเราชนะ และเงินชดเชยผู้ประกันตน ม.33 ในรูปแบบของเงินสดแทน โดยมองว่าหากให้เงินผ่านแอปพลิเคชัน สมาร์ตโฟน จะไม่สามารถนำไปจ่ายค่าบ้าน ค่าน้ำ และค่าไฟฟ้าได้
ส่วนอีกกลุ่มเป็นอาชีพนักร้อง นักดนตรี ศิลปินอิสระ จาก 5 จังหวัดพื้นที่เลี่ยงสีแดง ที่เคยมายื่นเรื่องขอชดเชยเยียวยาผลกระทบจากโควิด-19 ไว้ตั้งแต่วันที่ 8 มกราคม ที่ผ่านมา วันี้กลับมาทวงถามความคืบหน้า เพราะยังกลับไปเล่นดนตรีที่ร้านไม่ได้ และไม่มีรายได้อื่น ๆ เงินช่วยเหลือจากโครงการ "เราชนะ" เป็นเงินสด ด้วยเหตุผลเดียวกัน และขอให้รัฐบาลพิจารณาให้นักร้อง นักดนตรีอิสระ กลับมาเล่นดนตรี หรือรับงานได้ หากสถานการณ์โควิด-19 กลับมาดีขึ้นในช่วงกลางเดือนนี้
พร้อมขอให้รัฐบาลพิจารณาข้อเรียกร้องทั้ง 3 ข้อ ที่เคยยื่นไว้อย่างเร่งด่วน และมองว่า 1 ในข้อเรียกร้องที่ขอให้รัฐบาล ให้หน่วยงานราชการและรัฐวิสาหกิจ จ้างนักดนตรีอิสระ ใช้ความรู้ความสามารถไปร่วมกิจกรรมรณรงค์ประชาสัมพันธ์ หรือกิจกรรมอื่น ๆ ของแต่ละหน่วยงาน จะทำให้การเยียวยาตรงจุดเป้าหมาย และมีประโยชน์มากขึ้น
เช็กก่อนเปิด - ใช้บริการ โฆษกกรุงเทพฯเปิดเงื่อนไขคลายล็อก 13 สถานที่ ข้อห้าม - ต้องทำ