เศร้า! โควิดคร่า 7 ศพ สูงสุด พบติดเชื้อ อีก 1,470 ราย


โดย PPTV Online

เผยแพร่




"นพ.ทวีศิลป์" เผยยอดเสียชีวิตรายวัน สูง 7 ศพ ติดเชื้อเพิ่ม 1,470 ราย เปิดไทม์ไลน์โรคประจำตัวผู้ป่วย

เมื่อเวลา 11.35 น. วันที่ 22 เมษายน 2564 ที่ทำเนียบรัฐบาล นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) หรือ ศบค. รายงานตัวเลขของผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โรคโควิด-19 ของประเทศไทย ประจำวันนี้ (22 เม.ย. 64) ว่า มีผู้ป่วยรายใหม่ 1,470 ราย เป็นผู้ป่วยติดเชื้อภายในประเทศทั้งหมด 1,470 ราย (จากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการฯ 1,370ราย จากมาตรการตรวจค้นเชิงรุกในชุมชม 100 ราย)

“ส.ส.สุโขทัย” ติดโควิด หลังร่วมงานรดน้ำ รมว.ยุติธรรม

ทำเนียบ ยัน ไม่มีตำรวจทำเนียบ เป็นผู้เสี่ยงสูงติดโควิด

ทำให้ปัจจุบันมีผู้ป่วยยืนยันสะสมที่ 48,113 ราย หายป่วยเพิ่มขึ้น 477 ราย ยังรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลและโรงพยาบาลสนาม รวม 18,148 ราย วันนี้มีผู้เสียชีวิตมากถึง 7 ราย สะสมอยู่ที่ 117 ราย

จำนวนผู้ติดเชื้อรายวัน 1,470 ราย จำแนกเป็นผู้ติดเชื้อในกรุงเทพฯ 446 ราย จังหวัดปริมณฑล 239 ราย และต่างจังหวัด 785 ราย

ทั้งนี้ นพ.ทวีศิลป์ ระบุต่อไปถึงการเปิดเผยไทม์ไลน์และประวัติการรักษาผู้เสียชีวิตทั้ง 7 ราย ดังนี้

- รายที่ 111 เป็นหญิงไทย อายุ 24 ปี อาชีพค้าขาย จ.พัทลุง เป็นโรคอ้วน วันที่ 7 เมษายน ไปสถานบันเทิงที่มีผู้ติดเชื้อ วันที่ 16 เมษายน ตรวจหาเชื้อ มีอาการไอ ไข้ เจ็บคอ วันที่ 17 เมษายน ผลพบเชื้อ พบปอดอักเสบ หายใจเหนื่อย ต่อมาวันที่ 19 เมษายน ออกซิเจนในปอดต่ำ และปอดอักเสบรุนแรง และเสียชีวิตในวันที่ 20 เมษายน

- รายที่ 112 เป็นหญิงไทย อายุ 68 ปี อาชีพดูแลเด็ก จ.สระบุรี โรคประจำตัวภูมิแพ้ วันที่ 5 เมษายน มีการสัมผัสผู้ป่วยยืนยัน ต่อมาวันที่ 12 เมษายน มีไข้ ไอ  วันที่ 19 เมษายน เข้ารับการรักษา มีอาการหายใจลำบาก มีเสมหะ ใส่ท่อช่วยหายใจ ระบบหายใจล้มเหลว ผลพบเชื้อ และเสียชีวิตรุ่งขึ้นในวันที่ 20 เมษายน

- รายที่ 113 เป็นชายไทย อายุ 83 ปี กทม. โรคประจำตัว ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง วันที่ 17 มีนาคม มีไข้ ไอแห้ง มีน้ำมูก อ่อนเพลีย วันที่ 22 มีนาคม รักษาที่คลินิกเอกชน วันที่ 23 มีนาคม รับการตรวจเชิงรุกรถพระราชทาน วันที่ 24 มีนาคม ผลพบเชื้อ ต่อมา วันที่ 25 มีนาคม เข้ารักษาที่โรงพยาบาล วันที่ 31 มีนาคม อาการเหนื่อยมากขึ้น ใส่ท่อช่วยหายใจ กระทั่งวันที่ 20 เมษายน เสียชีวิต

- รายที่ 114 เป็นหญิงไทย อายุ 80 ปี เป็นผู้ป่วยติดเตียง จ.นครปฐม โรคประจำตัว คือ เบาหวาน วันที่ 13-15 เมษายน ญาติจาก กทม. เดินทางมาเยี่ยม วันที่ 16 เมษายน มีการอาเจียนเป็นเลือด นำส่งโรงพยาบาล ผลตรวจพบเชื้อ อาการไม่ดี และเสียชีวิต วันที่ 17 เมษายน

- รายที่ 115 เป็นชายไทย อายุ 45 ปี อาชีพขับรถ กทม. โรคประจำตัว เป็นความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง วันที่ 9 เมษายน มีไข้ ไอ เหนื่อย มีประวัติสัมผัสผู้ป่วยยืนยัน วันที่ 17 เมษายน ไข้สูง ไอ มีเสมหะ หนาวสั่น มาตรวจโรงพยาบาล รับยากลับบ้าน ต่อมาวันที่ 19 เมษายน เข้ารักษาที่โรงพยาบาลอีกครั้ง มีอาการหายใจเหนื่อย ค่าออกซิเจนในเลือดต่ำ ผลพบเชื้อ และใส่ท่อช่วยหายใจ กระทั่งรุ่งขึ้น เสียชีวิต

- รายที่ 116 เป็นชายไทย อายุ 59 ปี อาชีพพนักงานรัฐวิสาหกิจ กทม. โรคประจำตัว เบาหวาน พบประวัติสัมผัสผู้ป่วยยืนยัน วันที่ 14 เมษายน มีอาการไอ วันที่ 20 เมษายน เข้าโรงพยาบาล ด้วยอาการไอ หายใจลำบาก ใส่ท่อช่วยหายใจ ตรวจพบเชื้อ และเสียชีวิตในวันเดียวกัน

- รายที่ 117 เป็นชายไทย อายุ 86 ปี อาชีพรับจ้าง กทม. โรคประจำตัว โรคหัวใจ วันที่ 5 เมษษยน สัมผัสผู้ป่วยยืนยัน วันที่ 16 เมษายน ผลตรวจพบเชื้อ มีอาการไอแห้ง อ่อนเพลีย วันที่ 18 เมษายน เข้ารักษาโรงพยาบาล ต่อมาวันที่ 20 เมษายน มีอาการหอบเหนื่อย ไข้สูง ออกซิเจนในเลือดต่ำ อาการแย่ลง วันที่ 21 เมษายน เสียชีวิต

อย่างไรก็ดี นพ.ทวีศิลป์ รายงานว่า 3 ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้มีผู้เสียชีวิต ประกอบด้วย สถานบันเทิง ทำงานในแหล่งชุมชน ตลาด และการติดในครอบครัว ส่วนการเสียชีวิตระลอกเมษายน พบว่า ช่วงอายุ 20-39 ปี 25% 40-59 ปี 25% และ 60 ปี ขึ้นไป 50%

ลาวติดเพิ่มอีก 6 คน จากคลัสเตอร์ 2 ชายไทยลักลอบข้ามฝั่งเที่ยวผับ

ทั้งนี้ รายงานจากกรมควบคุมโรค ระบุว่า จังหวัดนครราชสีมา จากการสอบสวนการแพร่ระบาดพบ 7 คลัสเตอร์ด้วยกัน เช่น งานเลี้ยงวันเกิด (เพื่อนมาจากเยาวราช) โรงเหล้า ร้านหมูกระทะ ร้านคาราโอเกะ ผับบาร์ (ชัยภูมิ) งานเลี้ยงทหารอากาศ ครอบครัวบุคลากรทางการแพทย์ (ชัยภูมิ) เป็นต้น

 

TOP สุขภาพ
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ