พีพีทีวี สัมภาษณ์พิเศษ นายแพทย์ ชวลิต ภาณุมาตรัศมี อายุรแพทย์โรคระบบทางเดินหายใจและเวชศาสตร์บำบัดวิกฤต โรงพยาบาลราชพิพัฒน์ คุณหมอเป็นหนึ่งในแพทย์ที่ดูแลผู้ป่วยโควิด เปิดใจว่า ทุกวันนี้ ดูแลผู้ป่วยวันละ 60 คน ยอมรับว่า สถานการณ์ตอนนี้ อยู่ในขั้นวิกฤต เนื่องจากบุคลากรไม่เพียงพอ
คุณหมอยกตัวอย่างว่า ที่โรงพยาบาลราชพิพัฒน์ ปัจจุบัน แพทย์ 1 คน ต้องดูแลผู้ป่วยโควิดเฉลี่ย 60 คนซึ่งเป็นอัตราที่เกินจะรับไหว
อย.อนุมัติ "วัคซีนไฟเซอร์" เปิดแผนการฉีดไฟเซอร์ สู้โควิด-19
แพทย์รามาฯ เผย เตียงโควิดวิกฤตหนัก สับรัฐแหลก ด่านหน้า “ขอปืนใหญ่ แต่ได้ปืนแก๊ป”
เมื่อเทียบกับสถานการณ์ปกติ บุคลากรทางการแพทย์ 1 คนจะดูแลผู้ป่วยแค่ 10 คน หรือถ้าเทียบกับ ช่วงโควิดระลอกแรก บุคลากร 1 คนดูแลผู้ป่วย 30 คน มองว่า รัฐบาลควรออกมาตรการที่เป็นประโยชน์และรวดเร็ว สอดรับกับการทำงานของทีมแพทย์
คุณหมอชวลิต ยังพูดถึงปริมาณเตียงคนไข้ว่า ก่อนหน้านี้เพิ่มเตียงเพื่อรองรับผู้ป่วยแล้ง 3 ครั้งปัจจุบันมีเตียงสนาม 400 เตียง เตียงผู้ป่วยสีเหลือง 48 เตียง และเตียงผู้ป่วยวิกฤต ICU 6 เตียง มองว่า แนวโน้มการเพิ่มเติมทำได้ยาก เพราะ จำนวนบุคลากรรองรับไม่ไหวแล้ว
คุณหมอยังบอกอีกว่ารู้สึกกังวลว่าหากยอดติดเชื้อมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นวันละ 3,000-4,000 คนเช่นนี้ไปอีก 1 สัปดาห์ จะสะท้อนระบบสาธารณสุขที่ล่มสลาย
แพทย์หญิง ชนากานต์ สุวัฒนศิลป์ แพทย์เวชศาสตร์ฉุกเฉิน โรงพยาบาลราชพิพัฒน์ เล่าเพิ่มเติมว่า ในช่วงสถานการณ์ปกติ บุคลากรทางการแพทย์ จะทำงานวันละ 8-16 ชั่วโมง หมายความว่า บางครั้งต้องควง 2 กะ ใน 1 วัน แต่ในสถานการณ์โควิดระบาด ทุกวันนี้ บุคลากรเข้าเวรวันละ 16 ชั่วโมงทุกวัน นอกจากนี้ยังมีความเสี่ยงติดเชื้อโควิดจากคนไข้ ซึ่งเมื่อเจอสถานการณ์บุคลากรติดโควิด บุคลากรที่เหลือก็จะยิ่งต้องทำงานหนักมากขึ้น เพราะ ทีมงานหายไป
สำหรับภาพรวม ในกรุงเทพฯ ตอนนี้ กำลังเผชิญวิกฤติเตียงผู้ป่วยโควิดขาดแคลนจากจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ที่เพิ่มขึ้นทุกวัน ทำบรรดาแพทย์ต่างโพสต์แสดงความเห็น เช่น รองศาสตราจารย์แพทย์หญิง ยุวเรศมคฐ์ สิทธิชาญบัญชา หัวหน้าภาคเวชศาสตร์ฉุกเฉิน คณะแพทย์ศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โพสต์เฟซบุ๊กสถานการณ์เตียงไอซียู เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน ระบุว่า เตียงไอซียูล้นแล้ว เริ่มต้องเลือกว่าใครจะได้ไปต่อ ใครควรจะยุติ พร้อมเตือนให้ประชาชนการ์ดอย่าตก การป้องกันสำคัญเสมอ และงดปาร์ตี้สังสรรค์ในช่วงนี้
ขณะที่ ศบค. แถลงว่า ได้เน้นย้ำทุกหน่วยงานให้ช่วยเหลือ กทม.และปริมณฑล เพิ่มการขยายเตียง เนื่องจากมีผู้ป่วยสีเหลืองและสีแดงมากขึ้น โดยที่ประชุมฉุกเฉินทางสาธารณสุข หรือ EOC หารือเรื่องการเพิ่มศักยภาพของโรงพยาบาลสนามรองรับผู้ป่วยสีแดง โดยมีข้อเสนอแนะยกระดับประสิทธิภาพ ให้รองรับผู้ป่วยระดับสีแดงมากขึ้น