พบเด็กติดโควิดกว่า 6 หมื่นคนทั่วประเทศ

โดย PPTV Online

เผยแพร่

การระบาดของโควิด-19 ในระลอกนี้ ส่วนใหญ่เป็นการระบาด และติดเชื้อกันยกครอบครัว มีบางครอบครัวที่ต้องสูญเสียพ่อ และแม่ ซึ่งถือเป็นหลักของครอบครัว กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จึงต้องเร่งสำรวจจำนวนเด็กที่ได้รับผลกระทบจากเชื้อโควิด

นางสุภัชชา สุทธิพล อธิบดีกรมกิจการเด็กและเยาวชน เปิดเผยว่า ขณะนี้ยอดเด็กติดเชื้อโควิด สะสมตั้งแต่ 1 มกราคม – 4 สิงหาคม มีจำนวน 65,086 คน ในจำนวนนี้อยู่ในพื้นที่กทม. 15,465 คน และส่วนภูมิภาค 49,621 คน  ส่วนจำนวนเด็กติดเชื้อโควิด วันนี้ 2,460 คน ในกทม. 538 คน ภูมิภาค 1,922 คน โดยจากการรวบรวมข้อมูลเบื้องต้นพบเด็กได้รับผลกระทบเป็นเด็กกำพร้า จากการสูญเสียพ่อแม่ เพราะโควิดประมาณ 13 คน ซึ่งยังไม่ครอบคลุมในทุกพื้นที่ เพราะขณะนี้แต่ละจังหวัดอยู่ระหว่างสำรวจข้อมูล 

ตาติดโควิดดับในห้อง เร่งช่วยหลาน 3 คน กักตัวอยู่ในห้อง

โควิด-19 คร่าชีวิตพ่อแม่ เด็กกำพร้าในอินเดียเพิ่มขึ้นหลายพันคน

โดยเมื่อสำรวจแล้วก็จะมีขั้นตอนการช่วยเหลือตามระบบ  หากเด็กมีญาติที่ดูแลได้ ก็จะพิจารณาให้ไปอยู่กับญาติก่อน และรัฐจะสนับสนุนเงินช่วยเหลือเดือนละ 2,000 บาทต่อคน จนถึงอายุ 18 ปี แต่หากไม่มีญาติ ก็จะส่งเด็กไปอยู่ในสถานสงเคราะห์ ของพม. จำนวน 22 แห่ง ที่ยังสามารถรองรับได้อีก 1,935 คน โดยเด็กก็จะได้รับการดูแล และส่งเรียนหนังสือจนถึงอายุ 18 ปี เช่นกัน

กรมกิจการเด็กและเยาวชนเตรียมปรับปรุงระบบของแอปพลิเคชั่นคุ้มครองเด็ก จากเดิมที่เคยใช้เป็นช่องทางแจ้งเหตุเกี่ยวกับเด็ก ก็จะเพิ่มเมนูให้แจ้งข้อมูลเด็กที่กำพร้าจากการระบาดของเชื้อโควิดได้ โดยระบบนี้จะเริ่มเปิดได้วันที่ 10 สิงหาคมนี้ รวมถึงเตรียมนำเงินในกองทุนคุ้มครองเด็ก ซึ่งกำลังพิจารณานำเงินงบประมาณปี 65 ประมาณ 4 ล้านบาท มาช่วยเหลือเบื้องต้นก่อน

นอกจากจะต้องได้รับการดูแลเรื่องสภาพความเป็นอยู่แล้ว อีกสิ่งหนึ่งคือ การดูแลสภาพจิตใจ แพทย์หญิงพรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมสุขภาพจิต อธิบายว่า แม้จะเป็นเด็ก แต่ความรู้สึกสูญเสียของเด็กไม่แตกต่างจากผู้ใหญ่ โดยเด็กที่อายุน้อยกว่า 6 ขวบ ยังเด็กเกินกว่าจะเข้าการเสียชีวิต แต่จะเข้าใจแค่ว่า หลับไป และรอคอยการกลับมา ส่วนเด็กโตจะเข้าใจความสูญเสีย

อาการของความสูญเสียแบ่งเป็น 3 ระดับ ระดับ 1 รู้สึกเสียใจปกติ ระดับ 2 มีอาการอื่นเพิ่มเข้ามา เช่น ซึมมาก ร้องไห้มาก ฝันร้าย นอนไม่หลับจากความเครียด โดยอาการเหล่านี้จะใช้เวลาประมาณ 3 – 6 เดือน และจะค่อยๆ ทุเลาลง แต่หากเห็นการเปลี่ยนแปลงเกินกว่า 6 เดือน จะเข้าสู่อาการระดับ 3 ซึ่งรุนแรงมาก มีพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป เหม่อลอย ก้าวร้าว หงุดหงิด มีโอกาสพัฒนาเป็นโรคซึมเศร้า ซึ่งจะพบประมาณ 10% ของจำนวนเด็กที่สูญเสีย

เปิดขั้นตอนและสถานที่ขอเล่มเหลืองโควิด เพื่อเดินทางไปต่างประเทศ

ข้อแนะนำสำหรับญาติ หรือครอบครัวเด็กที่สูญเสียพ่อ แม่ถึงวิธีการดูแลสภาพจิตใจ ในเด็กหากมีอารมณ์เศร้า เสียใจ ผู้ใหญ่ต้องไม่ฟูมฟายไปด้วย ให้นิ่ง และคอยปลอบโยน จะช่วยทำให้อารณ์ของเด็กผ่อนคลาย รู้สึกมั่นใจว่า ชีวิตจะไม่มีการเปลี่ยนแปลง และถ้าหากเด็กต้องไปอยู่สถานสงเคราะห์พี่เลี้ยงที่มาดูแลควรจะเป็นคนเดียว คนเดิม เพื่อให้เด็กรู้สึกคุ้นเคย และมั่นคงซึ่งจะทำให้ค่อยๆปรับตัวได้

ขณะเดียวกันราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ซึ่งเป็นหน่วยงานที่นำเข้าวัคซีนซิโนฟาร์ม อยู่ระหว่างรวบรวมเอกสาร และเตรียมจะยื่นขอทะเบียนการให้บริการฉีดวัคซีนในกลุ่มเด็ก กับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ด้านนายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย ให้ข้อมูลถึงความคืบหน้าการฉีดวัคซีนในเด็กขณะนี้ขึ้นอยู่กับปริมาณวัคซีนที่ต้องมีเพียงพอ  ปลอดภัย มีผลการทดสอบ 3 ระยะ โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กและขึ้นทะเบียนการใช้ผ่านอย.   ถึงจะนำมาใช้ในเด็กได้  แต่ขณะนี้มีวัคซีนชนิด mRNA ของไฟเซอร์แห่งเดียวที่มีข้อมูลชัดเจน  และจากการหารือกับราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทยจะพุ่งเป้าไปที่เด็กที่มีโรคประจำตัวก่อน เพราะมีข้อมูลว่า เด็กที่มีโรคประจำตัว เมื่อติดเชื้อโควิดจะทำให้เกิดอาการรุนแรงได้

ชัดก่อนแชร์ | สูดดมหอมแดง รักษาโควิด-19 ได้ จริงหรือ? | PPTV HD 36

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

PPTVHD36

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ