เปิดผลการทดลอง "NDV-HXP-S" วัคซีนโควิด-19 ชนิดเชื้อตายฝีมือคนไทย
"ศิริราช" เปิดผลการศึกษาตัวเลขภูมิคุ้มกัน จากการฉีดวัคซีนโควิด-19 สูตรไขว้
เมื่อวันที่ 21 ก.ย. 2564 นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงแนวทางการฉีดวัคซีนโควิด 19 เข็มกระตุ้นสำหรับผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนซิโนแวค ครบ 2 เข็ม ว่า วัคซีนโควิด 19 ทุกตัวเมื่อฉีดไปแล้วประมาณ 4-6 เดือน ภูมิคุ้มกันจะลดลง แต่ยังสามารถป้องกันการป่วยรุนแรงและเสียชีวิตได้ ทั้งนี้ ประเทศไทยมีการฉีดวัคซีนซิโนแวคมาตั้งแต่วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2564 จนถึงปัจจุบันมีผู้ฉีดวัคซีนซิโนแวคครบ 2 โดส จำนวน 3,499,802 คน เป็นบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้า 827,960 คน
เนื่องจากมีความเสี่ยงติดเชื้อสูงจากการปฏิบัติหน้าที่ จึงให้วัคซีนเข็มกระตุ้นตั้งแต่วันที่ 17 กรกฎาคม 2564 ด้วยวัคซีนแอสตร้าเซเนก้า และไฟเซอร์ พบว่ากระตุ้นภูมิคุ้มกันสูงขึ้นมาก และมีความปลอดภัย อาการไม่พึงประสงค์ไม่แตกต่างจากการฉีดวัคซีนโควิด-19 ตามปกติ
นายแพทย์เกียรติภูมิ กล่าวต่อว่า สำหรับบุคลากรอื่นและประชาชนทั่วไปที่รับวัคซีนซิโนแวคครบ 2 เข็ม ช่วงมีนาคม-พฤษภาคม 2564 ประมาณ 5.5 แสนคน กระทรวงสาธารณสุขจึงเตรียมฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นเพื่อเพิ่มภูมิคุ้มกัน โดยจะเสนอหลักการต่อ ศบค. หากเห็นชอบจะเริ่มแจ้งข้อมูลประชาสัมพันธ์ผ่านระบบหมอพร้อมทั้งแอปพลิเคชันและไลน์ OA ผ่านสื่อสาธารณะ โรงพยาบาล และหน่วยบริการฉีดวัคซีน เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายรับทราบและเตรียมการลงทะเบียนตามความสมัครใจ ตั้งแต่วันที่ 24 กันยายน 2564 เป็นต้นไป ใช้เอกสารรับรองการรับวัคซีนซิโนแวคครบ 2 เข็ม ทั้งแบบกระดาษหรือดิจิทัล ลงทะเบียนได้ทั้งหน่วยบริการเดิมที่รับวัคซีนหน่วยบริการอื่นในจังหวัดเดิม หรือหากจำเป็นต้องฉีดกระตุ้นในจังหวัดอื่น กรณีพื้นที่ กทม.ให้ติดต่อศูนย์ฉีดวัคซีนกลางบางซื่อ ประสานผ่านคอลเซ็นเตอร์ค่ายมือถือ ทั้ง AIS DTAC และ TRUE เพื่อลงทะเบียน กรณีต่างจังหวัดให้ศึกษาระบบการลงทะเบียนและระบบนัดหมายของจังหวัดนั้นเข้าใจ หรือประสานสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด
สำหรับหน่วยบริการฉีดวัคซีนให้ตรวจสอบหลักฐาน จัดสรรคิวการฉีดเรียงตามเดือน คือ มีนาคม เมษายน และพฤษภาคมตามลำดับ และตามปริมาณวัคซีนที่ได้รับ โดยวันที่ 21-23 กันยายน 2564 จะจัดส่งวัคซีน 50% ก่อน และทยอยจัดส่งตามจำนวนลงทะเบียนที่เหลือหรือจัดส่งเพิ่มตามความจำเป็น นอกจากนี้ ให้บันทึกการฉีดวัคซีนเข้าสู่ระบบและติดตามอาการไม่พึงประสงค์และรายงานผลต่อกรมควบคุมโรค คาดว่าใช้เวลาฉีดประมาณ 1 เดือน
ขณะการตั้งเป้าหมายฉีดวัคซีนโควิด 1 ล้านโดส วันที่ 24 กันยายนนี้ ได้เตรียมความพร้อมโดยให้แต่ละเขตสุขภาพดำเนินการฉีดเฉลี่ยเขตละ 1 แสนโดส รวม 12 เขตสุขภาพ โดยมีการกระจายระดับจังหวัดและอำเภอต่อไป คาดว่าดำเนินการได้และวัคซีนมีเพียงพอ ส่วนระยะถัดไปจะฉีดวัคซีนให้ครบตามจำนวนที่มีอยู่ โดยตุลาคมมี 24 ล้านโดส พฤศจิกายนและธันวาคมเดือนละ 23 ล้านโดส คาดว่าจะฉีดได้เฉลี่ยวันละเกือบล้านโดส วันหยุดประมาณ 3-4 แสนโดส สำหรับข้อมูลการฉีดวัคซีนวันที่ 20 กันยายน 2564 ฉีดวัคซีนโควิด 19 ได้เพิ่มขึ้น 469,052 โดส สะสม 45,211,101 โดส เป็นเข็มแรก 29,201,077 ราย เข็ม 2 จำนวน 15,388,071 ราย และเข็ม 3 จำนวน 621,953 ราย
เปิดผลการทดลอง "NDV-HXP-S" วัคซีนโควิด-19 ชนิดเชื้อตายฝีมือคนไทย
ศบค.ย้ำ ร่างพ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติมพ.ร.บ.โรคติดต่อ ยังไม่มีผลบังคับใช้